นายกสมาคมผู้บริหารร.ร.มัธยมฯ ชงแนวทางแก้หนี้ 'ครู' ไร้วินัยการเงิน ต้องมีบทลงโทษ

 

นายกสมาคมผู้บริหารร.ร.มัธยมฯ

ชงแนวทางแก้หนี้ 'ครู' ไร้วินัยการเงิน

ต้องมีบทลงโทษ

  

นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เผยสหกรณ์ออมทรัพย์ครูครองแชมป์เจ้าหนี้รายใหญ่กว่า 8.9 แสนล้าน คิดเป็นร้อยละ 64 ของยอดหนี้ทั้งหมดจากครูทั้งระบบกว่า 9 แสนคน ควรมีบทลงโทษครูประเภท เล่นหวย เล่นการพนัน  ก่อหนี้ฟุ่มเฟือย ไร้วินัยทางการเงิน และสร้างหนี้สินใหม่

 

เมื่อวันที่ 20 ก.ย. นายณรินทร์ ชำนาญดู ผู้อำนวยการโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) หนี้สินครูเป็นปัญหาเรื้อรังยาวนาน ทุกรัฐบาล พยายามแก้ไขแต่ไม่เคยประสบผลสำเร็จเนื่องจากไม่รู้สภาพที่แท้จริงของหนี้สินครู สภาพโดยรวมของหนี้สินครูมีหลายลักษณะ เพราะมีทั้งลูกหนี้ชั้นดีและมีเป็นส่วนน้อยที่เป็นหนี้เสียก่อให้เกิดปัญหา คนกลุ่มนี้พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ ตนขอเสนอแนวทางการแก้ไขหนี้สินที่ทำได้เป็นรูปธรรมและสำเร็จแน่นอน

 

นายณรินทร์ เปิดเผยถึงการแก้ปัญหาหนี้ครู มีหลายสิ่งที่ทำได้เป็นรูปธรรมและสำเร็จแน่นอน ด้วยการยกตัวเลขครูในระบบปัจจุบันมากกว่า 9 แสนคน มียอดหนี้รวมกว่า 1.4 ล้านล้านบาท เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ยอดหนี้รวม 8.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64 ของยอดหนี้ทั้งหมด อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 5.64

 

รองลงมาคือ ธนาคารออมสิน 3.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 28 ของยอดหนี้ทั้งหมด อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6.9

 

ตามด้วย ธนาคารกรุงไทย 6.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4 ของยอดหนี้ทั้งหมด อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 7.12

 

และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 6.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4 ของยอดหนี้ทั้งหมด อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6.4

 

แนวทางสำคัญอยากให้สำรวจสภาพหนี้ แบ่งเป็น

 

1.หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ รัฐบาลไม่ต้องดำเนินการอะไร เพราะไม่เป็นปัญหาในการชำระหนี้

 

2.หนี้เพื่อการสร้างอนาคต คือ หนี้ที่กู้ไปสร้างบ้าน ซื้อรถ เรียนต่อ เป็นหนี้สินที่ครูสามารถชำระได้ ไม่ก่อให้เกิดปัญหา รัฐบาลไม่ต้องดำเนินการแก้ไขอะไร

 

3.หนี้สินที่เกิดก่อนมาเป็นครู เช่น เงินกู้เรียน เมื่อมาเป็นครูแล้วสามารถชำระหนี้ได้ แต่ควรติดตามเพื่อไม่ให้เกิดหนี้ใหม่

 

4.หนี้ในการเลี้ยงดูบิดามารดา รัฐบาลไม่ต้องดำเนินการอะไร เพราะถือว่าบุคคลนั้นมีความรับผิดชอบสูงอยู่แล้ว แต่ควรติดตามกำกับไม่ให้ก่อหนี้ใหม่

 

5.หนี้สินที่เกิดจากความไม่มีวินัยทางการเงิน จากการฟุ่มเฟือยเล่นการพนัน เช่น หวย ลอตเตอรี่ หนี้สินประเภทนี้ทำให้ครูหมดอนาคตและไม่มีความสามารถชำระหนี้ได้ รัฐบาลควรเข้าไปแก้ไข และ

 

6.หนี้สินที่เกิดจากภาระการค้ำประกัน ทำให้ครูไม่สามารถชำระได้ เป็นหนี้ที่เกิดจากความประมาท ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น รัฐบาลควรช่วยเหลือแก้ไข

 

แนวทางแก้ไข มีดังนี้

 

หนี้สินที่เกิดจากความไม่มีวินัย ให้รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มอบหมายสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นเจ้าภาพดำเนินการรวบรวมหนี้สินทั้งหมดที่อยู่ในข้อนี้ แล้วจัดสรรลำดับความจำเป็นในระยะเร่งด่วนและระยะยาว ต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกสถาบันการเงิน ที่เป็นเจ้าหนี้และได้รับความร่วมมือจากครูที่เป็นหนี้ตามข้อนี้

 

จากนั้นให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู หาทางแก้ไข ซึ่งตนเชื่อว่ามีแนวทางที่ปฏิบัติได้อยู่แล้ว เน้นว่าต้องสร้างวินัยทางการเงินและไม่สร้างหนี้สินใหม่ บุคคลต่าง ๆ  

 

ส่วนหนี้สินที่เกิดจากการค้ำประกัน ถือว่าไม่ได้เกิดจากความฟุ่มเฟือยหรือยากจนมาแต่อดีต  หากเกิดจากความหวังดีต่อเพื่อนครูหรือญาติพี่น้องจึงค้ำประกันให้  ดังนั้นควรแก้ไขกฎหมายการค้ำประกันว่าสถาบันการเงิน ผู้เป็นเจ้าหนี้ต้องดำเนินการบังคับให้ผู้กู้ชำระหนี้จนถึงที่สุดก่อน

 

ถ้าผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้จริง ควรสืบทรัพย์ไปถึงผู้เกี่ยวข้องในครอบครัวก่อนบังคับคดีกับครูผู้ค้ำฯ เมื่อสืบทรัพย์จากครอบครัวแล้ว ผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ควรมอบหมายให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูหาแนวทางช่วยครูชำระหนี้

 

แนวทางแก้ไขหนี้สินครูอย่างเป็นระบบ มีดังนี้

ควรเรียกสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ครูทั้งหมด มาทำข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้  ระยะเวลาผ่อนชำระที่สามารถชำระได้ รวมทั้งการรวมหนี้สินให้อยู่ในสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นหลัก

 

ควรให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นหน่วยงานหลักรวบรวมหนี้ รวมถึงต้องสร้างวินัยทางการเงินให้ครู อบรมสร้างจิตสำนึกให้ครูตระหนักถึงการใช้เงินอย่างพอเพียงกับฐานะตนเอง

 

ตั้งคณะทำงานกำกับลูกหนี้ โดยต้องได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงินอื่น ๆ ไม่ปล่อยให้ครูไปก่อหนี้สินใหม่ขึ้นมาอีก

 

และให้นำเรื่องหนี้สินครู มาเป็นตัวชี้วัดการดำเนินการทางวินัย และ จรรยาบรรณวิชาชีพครูกับครูที่ไม่มีวินัยทางการเงิน

 

“กรณีนี้ ต้องพึ่งพาหน่วยงานระดับสูง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกกฎหมายระเบียบเพื่อควบคุมกำกับวินัยบุคลากรครู มีบทลงโทษครูที่ก่อหนี้ฟุ่มเฟือย

เชื่อว่า จะทำให้ครูไม่กล้าก่อหนี้ที่ไม่เหมาะสมกับวิชาชีพครู เช่น เล่นการพนันซึ่งผิดกฎหมายอยู่แล้ว หรือการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินตัว” นายณรินทร์ กล่าว

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage