สสส. เปิดเวทีวันผู้สูงอายุสากล “เมืองดีต่อใจ วัยเกษียณ” สร้างสุขภาวะ 4 มิติ รับมือปัญหาสุขภาพสูงวัย-รายได้น้อย-สิ่งแวดล้อมไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิต

 

 

สูงวัยครองเมือง” ไทยพบผู้สูงอายุกว่า 13 ล้านคน สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม “วันผู้สูงอายุสากล ปี66” เปิดเวทีสาธารณะ “เมืองดีต่อใจ วัยเกษียณ” เร่งหาทางออกสร้างเมืองสุขภาวะ ครบ 4 มิติ รับมือผู้สูงอายุแนวโน้มอยู่คนเดียวเพิ่มขึ้น มีปัญหาสุขภาพโรค NCDs รายได้น้อย พึ่งเบี้ยยังชีพ ขาดกิจกรรม สิ่งแวดล้อมไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิต โจทย์ใหญ่ที่ไทยต้องแก้

 

 

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม เนื่องในวันผู้สูงอายุสากล พ.ศ. 2566 เปิดเวทีสาธารณะ “เมืองดีต่อใจ วัยเกษียณ” 

 

โดยมี นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. นายสมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ส.ส.ท. นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย เข้าร่วมสานพลัง สร้างเมืองดีมีสุขภาวะยั่งยืน

 

ภายในงานยังมีกิจกรรม Mini Workshop ออกแบบเมือง I Have a Dream TALK 4 เมือง ดีต่อใจ วัยเกษียณ และเสวนา “การไปสู่เมืองดีต่อใจ วัยเกษียณ” เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานชุมชนเมือง-ท้องถิ่น ให้ผู้สูงอายุ และวัยก่อนสูงอายุมีคุณภาพชีวิตดี 4 มิติ คือ สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม

 

นางภรณี ภู่ประเสริฐ กล่าวว่า สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ปี 2565 มีผู้สูงอายุจำนวน 12.69 ล้านคน ช่วงอายุ 60 – 69 ปี อยู่คนเดียว 12.0% และ 21.1% อยู่ลำพังกับคู่สมรส ทั้ง 2 กลุ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงมีความเปราะบางต่อปัญหาต่าง ๆ ทั้งพบปัญหาสุขภาพโรคไม่ติดต่อ (NCDs) อย่างต่อเนื่อง มีรายได้น้อย ต้องอาศัยเบี้ยยังชีพ ขาดพื้นที่หรือโอกาสทำกิจกรรม มีอุปสรรคการเดินทาง รวมถึงที่อยู่อาศัยไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างสะดวก ปลอดภัย

 

ปัญหานี้เกิดจากขาดการเตรียมพร้อมตั้งแต่ช่วงก่อนวัยสูงอายุ และระบบรองรับสังคมสูงอายุที่ไม่เพียงพอ หากมองแนวทางที่ทำให้เกิดขึ้นได้จริง คือ การมีเมือง ชุมชน เอื้อต่อการใช้ชีวิต สสส. จึงเปิดเวทีสาธารณะ “เมืองดีต่อใจ วัยเกษียณ” เพื่อรวมกันสื่อสารแนวคิด สูงวัยในถิ่นเดิม ( Aging in Place) ให้ทุกคนสามารถอาศัยอยู่ในบ้าน หรือที่อยู่อาศัยเดิมได้นานที่สุด มีชีวิตอย่างเหมาะสม รองรับความต้องการทุกช่วงวัย

 

 

 กุญแจสำคัญของสูงวัยในถิ่นเดิม คือ การเตรียมพร้อม โดย สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย พัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัย มีคุณภาพชีวิต 4 มิติ เช่น มิติสุขภาพ สนับสนุนการขับเคลื่อนระบบสุขภาพไร้รอยต่อ คัดกรอง และดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม ทันตกรรมผู้สูงอายุ มิติเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงทางรายได้ สร้างโอกาส เพิ่มทักษะ เปิดพื้นที่ให้ผู้สูงอายุมีงาน หาอาชีพใหม่สร้างรายได้ และมีนโยบายบำนาญถ้วนหน้า มิติสังคม เสริมทักษะเทคโนโลยี เรียนรู้ออนไลน์ ใช้ในโรงเรียนผู้สูงอายุ สร้างทัศนคติเชิงบวกระหว่างคนต่างวัย มิติสภาพแวดล้อม ให้ความรู้การออกแบบ

 

เพื่อทุกคน (Universal Design : UD) กับประชาชน ยังมีผู้สูงอายุอีกจำนวนมากที่มีศักยภาพ พร้อมที่จะออกมาทำงาน และใช้ชีวิต สสส. ภาคีเครือข่าย คาดหวังให้ระบบรองรับสังคมสูงวัยภายใต้นโยบายภาครัฐ เกิดเป็นรูปธรรมได้จริง ให้งาน “เมืองดีต่อใจ วัยเกษียณ” เป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ สู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่ ” นางภรณี กล่าว

 

 

นายสมเกียรติ จันทรสีมา กล่าวว่า การพัฒนาเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุให้เกิดขึ้นได้จริง คือ การมีเมือง ที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิต และรองรับสังคมสูงวัย ทั้งนโยบาย ระบบรองรับ การส่งเสริมให้ทุกคนมีการตระหนัก เตรียมความพร้อมก่อนวัยสูงอายุ ไทยพีบีเอสในฐานะสื่อสาธารณะมีบทบาทอย่างยิ่งในการผลักดัน สร้างเมืองที่เป็นมิตรให้คนทุกวัยอย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับการส่งเสริมพลังของผู้สูงอายุ พยายามสื่อสารและสร้างการตระหนักรู้ให้สังคมเข้าใจว่า คนวัยเกษียณเป็นอีกหนึ่งพลังในการเปลี่ยนแปลงให้ชุมชน และสังคมได้

 

สิ่งเหล่านี้ทำให้สังคมมีความหลากหลาย และสวยงาม จากเนื้อหารายการที่ไทยพีบีเอสได้ผลิตออกมาสื่อสารกับผู้สูงอายุ สังคม เสริมพลังในช่วงบั้นปลาย มองเห็นคุณค่าการมีชีวิต ในฐานะพลเมืองอาวุโสของสังคม สร้างการมีส่วนร่วมให้กับคนทุกวัย เพื่อให้สังคมตระหนักถึงคุณค่าของผู้สูงวัย และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข นอกจากนี้ยังพยายามสื่อสารในประเด็นสิ่งแวดล้อม และเมืองที่เป็นมิตรกับคนวัยเกษียณโดยใช้พลังของพลเมืองขับเคลื่อน

 

 

นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ กล่าวว่า กรมกิจการผู้สูงอายุ ภายใต้การนำของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกช่วงวัย โดยมีนโยบายเร่งด่วน 4 ประเด็น ได้แก่... 

 

1. พัฒนาจัดสวัสดิการผู้สูงอายุ สร้างกลไกครอบครัวอุปถัมภ์ ด้วยการช่วยเหลือในชุมชน 2.ศูนย์พักฟื้นและเสริมพลังชีวิต พัฒนาศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) เป็นทางเลือกให้ผู้สูงอายุที่ต้องการฟื้นฟู และดูแลสุขภาพได้เข้ามาใช้บริการ 3. ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุชุมชน / ตำบล ให้ผู้สูงอายุในชุมชนที่อยู่ลำพังมีผู้ดูแล 4. สนับสนุนเงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพแก่ผู้สูงอายุ รายละ 30,000 บาท ผ่อนชำระ 3 ปี โดยไม่เสียดอกเบี้ย

 

รัฐบาลให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม โดยมุ่งมั่นให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมด้วย “สวัสดิการโดยรัฐ” เพื่อให้สังคมไทยเป็นเมืองที่ดีต่อใจวัยเกษียณ