เพิ่มพูน” ตั้งอีก 5 อนุกรรมการ ดัน 8 สาขาสร้างคนมืออาชีพ "เรียนดี มีความสุข" พร้อม หนุนซอฟต์พาวเวอร์

 

เพิ่มพูน” ตั้งอีก 5 อนุกรรมการ ดัน 8 สาขาสร้างคนมืออาชีพ "เรียนดี มีความสุข" พร้อม หนุนซอฟต์พาวเวอร์

 

รมว. เป็นประธานประชุม คกก.ขับเคลื่อนนโยบายการศึกษานัดแรก เดินหน้าตามเป้าหมาย "เรียนดี มีความสุข" พร้อมดัน 8 สาขา สร้างคนมืออาชีพ หนุนซอฟต์พาวเวอร์ไทย

 

 

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา ครั้งที่ 1 เมื่อเร็ว ๆ นี้

 

 

โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทราศุ , รศ.สุขุม เฉลยทรัพย์ , นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ข้าราชการการเมือง ผู้บริหารองค์กรหลัก และข้าราชการ เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง พิจารณาวางกรอบการดำเนินงานตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข มีความก้าวหน้าในหลายประเด็น

 

 

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษก ศธ. เปิดเผยถึงที่ประชุมได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี รมว.ศธ. เป็นประธาน เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ไปสู่แผนการดำเนินงานตามเป้าหมาย โดยประสานการทำงานภายในและภายนอกกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน และงานประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่องทุกระยะ เน้นสื่อสารกับสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ครู นักเรียน

 

 

ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมหารือ แสดงความคิดเห็น และพิจารณาวางกรอบการดำเนินงานตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข มีความก้าวหน้าในหลายประเด็น เชื่อว่าการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ จะทำให้การขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาไปสู่เป้าหมายได้อย่างแน่นอน

 

 

ในส่วนของการรับฟังความคิดเห็น ต่อนโยบายการศึกษาและแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระหว่างวันที่ 14-20 กันยายน 2566 จำนวน 24,153 หน่วยตัวอย่าง ผลสรุปที่สำคัญ คือ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับนโยบายทุกข้อ เพราะมีความเหมาะสม ชัดเจน และตรงกับความต้องการ

 

 

ส่วนนโยบาย 5 อันดับแรกที่ควรดำเนินการเร่งด่วน ได้แก่

 

อันดับแรก นโยบายปรับวิธีการประเมินวิทยะฐานะครูฯ ค่าเฉลี่ย 4.29

 

อันดับสอง นโยบายครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น ค่าเฉลี่ย 4.28

 

อันดับสาม นโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ค่าเฉลี่ย 4.26

 

อันดับสี่ นโยบายมีรายได้ระหว่างเรียนฯ ค่าเฉลี่ย 4.15 และ

 

อันดับห้า นโยบายระบบแนะแนวการเรียนฯ ค่าเฉลี่ย 4.02 ตามลำดับ

 

 

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างได้สะท้อนถึงปัญหาและให้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ เช่น ปัญหาภาระงานอื่นที่กระทบต่อการสอนของครู การขาดแคลนบุคลากร งบประมาณ และอุปกรณ์การเรียนการสอน สื่อที่ทันสมัย และสาธารณูปโภคที่จำเป็น

 

 

ส่วนข้อเสนอแนะเรื่องนโยบายฯ เสนอว่าควรเป็นนโยบายที่ดำเนินการแล้วไม่เป็นภาระด้านเอกสารและไม่เป็นภาระของครู ควรยึดความถูกต้อง รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม ตามหลักธรรมาภิบาล เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และควรพัฒนาคุณภาพชีวิตและสวัสดิการของครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

 

 

นอกจากนี้ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษก ศธ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาและเห็นชอบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา จำนวน 5 ชุด เพื่อดำเนินการตามแผนงานนโยบายการศึกษาของ ศธ. ได้แก่

 

1. คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา

 

2. คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการศึกษา “เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา” (Anywhere Anytime) จัดทำแพลตฟอร์ม และพัฒนาระบบแนะแนวการเรียน (coaching) และเป้าหมายชีวิต

 

3. คณะอนุกรรมการจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill certificate) และส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียน (Learn to earn)

 

4. คณะอนุกรรมการจัดทำระบบการวัดผล เทียบระดับการศึกษา ประเมินผลการศึกษา และธนาคารเครดิตแห่งชาติ

 

5. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกฎหมายการศึกษา โดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน

 

รวมทั้งได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิเศษขึ้นมาอีก 1 ชุด เพื่อวางระบบการดูแลสุขภาพจิตในสถานศึกษา

 

 

โฆษก ศธ. เปิดเผยด้วยว่า ในเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ รมว.ศธ.ให้ความสำคัญ โดยจะนั่งเป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ซอฟพาวเวอร์ ของกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยตัวเอง เพื่อกำกับดูแลการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันแรงงานทักษะสูงใน 8 สาขา ตาม Quick Win ของรัฐบาล ได้แก่ สาขาอาหาร สาขาเกม สาขาแฟชั่น สาขาศิลปะ สาขาการออกแบบ สาขาดนตรี สาขากีฬา และสาขาหนังสือ

 

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage