ศธ.สั่งทุกหน่วยทำแผนสุขภาพจิตเชิงรุก ทุกช่วงวัย ตอบโจทย์สุขภาวะ 4 ด้าน เพื่อป้องกันและส่งเสริมให้มีความสนใจและระวังมากขึ้น

 

ศธ.สั่ง" ทุกหน่วยทำแผนสุขภาพจิตเชิงรุก ทุกช่วงวัย ตอบโจทย์สุขภาวะ 4 ด้าน ป้องกันและส่งเสริมให้มีความสนใจและระวังมากขึ้น

 

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ รับฟังการนำเสนอแผนการดำเนินงานด้านสุขภาพจิต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของหน่วยงานในสังกัด เน้นย้ำทุกหน่วยงาน จัดทำแผนกิจกรรมประชาสัมพันธ์เชิงรุก สร้างการรับรู้การตื่นตัวเกี่ยวกับการบริหารสุขภาพจิตผู้เรียนผ่านสื่อที่หลากหลาย เข้าใจง่าย “มองเห็นทิศทางในการขับเคลื่อนเยาวชน ให้เป็นสังคมที่อุดมไปด้วยสุขภาวะที่ดี”

 

กระทรวงศึกษาธิการ 30 ตุลาคม 2566 – พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการศึกษา “เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา” (Anywhere Anytime) จัดทำแพลตฟอร์ม และพัฒนาระบบแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต ซึ่งมีการหารือการขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพจิตของกระทรวงศึกษาธิการ โดย นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

 

นายสิริพงศ์ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นการหารือต่อเนื่องเพื่อดูนโยบาย นำเสนอการขับเคลื่อนงาน เพราะแต่ละหน่วยงานมีภารกิจไม่เหมือนกัน ทบทวนปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินการเดิมและดูความพร้อมในปีงบประมาณ ปี 2568 เรื่องเกี่ยวกับสุขภาพทางจิต สุขภาวะโดยรวมทั้ง 4 ด้าน ทั้งร่างกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม สร้างการตระหนักรู้เพื่อป้องกันและส่งเสริมให้คนมีความสนใจและระวังมากขึ้น

 

สิ่งสำคัญในตอนนี้ คือ เรื่องเร่งด่วน เช่น โครงการครูแนะแนวที่จะขยายกลุ่มเพิ่ม เรื่องจิตวิทยาเกี่ยวกับครูแนะแนวในโรงเรียนมัธยม การสร้างผู้นำในแต่ละรุ่น ควรคิดถึงผลกระทบให้รอบด้าน ตรวจสอบสุขภาพจิตโดยรวมของนักเรียนและครู เก็บข้อมูลในสถานศึกษาให้ครบทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยแบ่งรูปแบบเป็นสองส่วนทั้งสายสามัญและสายอาชีพให้ครอบคลุมทุกช่วงวัย มองปัญหาให้เจอให้ได้จะได้แก้ไขได้ถูกที่และทันท่วงที

 

ปัจจุบันมีเครื่องมือคัดกรองสุขภาพจิตเด็กในวัยเรียน SDQ พฤติกรรม 5 ด้าน ที่กรมสุขภาพจิตออกแบบให้นักเรียน (เฉพาะเด็กโต) ครู และผู้ปกครองประเมิน แต่หากในอนาคตถ้าจะออกแบบพัฒนาใหม่ ควรทำแอพพลิเคชั่นให้ครอบคลุมมากขึ้นสามารถจัดการความเครียดได้ทั้งผู้เรียนและผู้สอน เพื่อความพร้อมในเทอมนี้หรือเปิดเทอมรอบหน้า แต่ควรเกิดขึ้นให้รวดเร็วที่สุด

 

“ เรื่องแบบนี้รอไม่ได้ เพราะปัจจุบันมีข่าวก่อเหตุให้เห็นทุกวัน เราอาจจะไปป้องกันคนก่อเหตุไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราทำสิ่งที่ทำได้ให้เร็วที่สุดก่อน มีการตื่นตัวให้สังคมได้เห็นว่าเราไม่นิ่งเฉย ประชาสัมพันธ์กิจกรรมเชิงรุก เครื่องมือใดที่พร้อมให้ดึงมาใช้ได้ทันที” นายสิริพงศ์ กล่าว

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการรับฟังการนำเสนอแผนการดำเนินงานด้านสุขภาพจิต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของหน่วยงานในสังกัด ซึ่งมีแผนงานที่เด่นชัด อาทิ ศูนย์ความปลอดภัย, โครงการ 1 วิทยาลัย 1 ครูอนามัย, HERO-V ระบบคัดกรองผู้เรียน, School Health HERO, จิตอาสาอนามัย, คุณธรรมนำชีวิต, ครูแนะแนวแกนนำให้ครบพื้นที่รับเปิดเทอม ปี 2567, และการวิจัยการแพร่ทักษะทางสังคมของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21, ระบบแนะแนวการเรียน Coaching เป้าหมายชีวิตและแพลตฟอร์มการเรียนรู้   

 

แผนงานทั้งหมดนี้ จะเป็นการเรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมถึการการรับนโยบายสู่การบูรณาการขับเคลื่อนระดับพื้นที่ โดยผ่านศึกษาธิการภาคและให้ทำงานเป็นเอกภาพ และประสานความร่วมมือกับกรมสุขภาพจิตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ปัญหาสุขภาพจิตของผู้เรียน เพื่อให้คำปรึกษากับผู้เรียนสามารถอยู่ในสถานศึกษาได้อย่างมีความสุข

 

โดยจะประชุมครั้งถัดไปในวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2566

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage