“เพิ่มพูน” ลงนามประกาศ “รัฐผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัยหน่วยงานสังกัดศธ” ลบคำว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” หมดไป

 

“เพิ่มพูน” ลงนามประกาศ “ รัฐผู้มีอำนาจ " ปรับเป็น

พินัย" หน่วยงานสังกัดศธ” ลบคำว่า “คุกมีไว้ขังคนจน”

หมดไป

 

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เรื่อง กำหนดเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัยของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 3 ฉบับ รองรับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ที่มีผลให้ความผิดทางอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียว เป็น “ความผิดพินัย” หรือมาตรการปรับที่สร้างขึ้นใหม่ ที่มีหลักการสำคัญ คือ

 

การปรับเปลี่ยนโทษอาญาบางประการ เป็นความผิดทางพินัย ตามอัตราค่าปรับพินัยที่สร้างขึ้นใหม่ ไม่ให้มีสภาพเป็นโทษอาญา โดยผู้กระทำความผิดทางพินัยต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยตามจำนวนเงินที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือศาลกำหนด

 

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้จากการประชุมหารือกับฝ่ายกฎหมายพบว่าในส่วนของ ศธ. มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545 พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 และ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 แต่ยังไม่ได้มีการกำหนดเจ้าหน้าของรัฐที่มีอำนาจปรับพินัยไว้ จึงได้มอบสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จัดทำประกาศกำหนดเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย พร้อมกำหนดอัตราค่าปรับ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัยโดยเร็ว

 

กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้ลงนามในประกาศเรื่องกำหนดเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้ง 3 ฉบับแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา ถือเป็นกระทรวงแรก ๆ ที่ทำสำเร็จ  จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง และทำให้คำว่าคุกมีไว้ขังคนจนหมดไป ทั้งนี้ ขอฝากให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ไปยังผู้บริหารการศึกษาและโรงเรียนทุกสังกัดทั่วประเทศ

 

หมายเหตู :  นายโชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ ประธานศาลฎีกา ได้ออกประกาศข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีความผิดทางพินัย พ.ศ.2566 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 ซึ่งเริ่มใช้บังคับวันที่ 22 มิ.ย. 2566 มีผลทำให้ความผิดที่มีแต่เพียงโทษปรับสถานเดียวตามกฎหมายต่างๆ ตามบัญชีท้าย พ.ร.บ. ถูกเปลี่ยนเป็นโทษทางพินัย โดยไม่ถือเป็นความผิดอาญาอีกต่อไป

 

จากกฎหมายน่ารู้ “คดีพินัย” ผู้กระทำผิดคดีพินัย ต้องชำระเงินค่าปรับตามที่กำหนด การปรับนั้นไม่ใช่โทษปรับทางอาญา ไม่มีการจำคุก หรือกักขังแทนการปรับ ไม่มีการบันทึกลงในประวัติอาชญากรรม ไม่ติดประวัติอาชญากร เพื่อลดผลกระทบทางสังคม สามารถขอผ่อนชำระค่าปรับ หรือทำงานแทนค่าปรับได้ตามฐานะเศรษฐกิจ

 

พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา หลักในการพิจารณาและกำหนดค่าปรับเป็นพินัย เป็นการเปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียว และความผิดที่มีโทษทางปกครองเป็นความผิดทางพินัย โดยใช้หลักการพิจารณาให้เหมาะสมกับสภาพความผิด และกำหนดค่าปรับให้เหมาะสมกับฐานะของผู้กระทำความผิด โดยให้พิจารณาจากระดับความรุนแรงของผลกระทบต่อชุมชนหรือสังคม ผลประโยชน์ที่ผู้กระทำความผิดหรือบุคคลอื่นได้รับจากการกระทำความผิดทางพินัย และสถานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำความผิดด้วย โดยจะให้ผ่อนชำระเป็นรายงวดก็ได้(มาตรา 9)

 

กระบวนการปรับเป็นพินัย กำหนดเป็น 3 ชั้น คือ

 

1. ในชั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐ คือ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมายนั้นเอง มีหน้าที่และอำนาจดำเนินการ 1.1 แสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด (มาตรา 18) 1.2 ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหาตามสมควร (มาตรา 18) 1.3 เมื่อมีพยานหลักฐานเพียงพอว่ามีการกระทำความผิดทางพินัย ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีคำสั่งปรับเป็นพินัย โดยทำเป็นหนังสือและส่งคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ โดยระบุข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวนเงินค่าปรับ ระยะเวลาที่ต้องชำระ และแจ้งให้ทราบถึงกระบวนการในขั้นตอนต่อไป (มาตรา 19 และ มาตรา 20) 1.4

 

เมื่อผู้กระทำความผิดชำระค่าปรับเป็นพินัยภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ให้ความผิดทางพินัยเป็นอันยุติ(มาตรา 31 (1) 1.5 ในกรณีที่ไม่มีการชำระค่าปรับเป็นพินัยภายในระยะเวลาที่กำหนด ไม่ว่าจะมีการแก้ข้อกล่าวหาหรือไม่ก็ตาม ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย พยานหลักฐาน และส่งสำนวนให้พนักงานอัยการเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลต่อไป (มาตรา 22)

 

2. ในชั้นพนักงานอัยการ เมื่อพนักงานอัยการได้รับสำนวนคดีความผิดทางพินัยจากเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้ว หากพนักงานอัยการเห็นควรสั่งฟ้อง ให้ฟ้องคดีต่อศาลโดยไม่ต้องนำตัวผู้กระทำความผิดไปเพื่อยื่นฟ้องด้วย (มาตรา 24 วรรคหนึ่ง) ในกรณีที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง ให้แจ้งไปยังหัวหน้าหน่วยงานของรัฐทราบ พร้อมทั้งเหตุผล หากหัวหน้าหน่วยงานของรัฐไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของพนักงานอัยการ ให้ทำความเห็นแย้งเสนอ ไปยังผู้ดำรงตำแหน่งเหนือพนักงานอัยการที่มีคำสั่งเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด (มาตรา 24 วรรคสอง)

 

3. ในชั้นศาล กำหนดให้ศาลจังหวัด ซึ่งมีอยู่ครอบคลุมทุกท้องที่เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา คดีความผิดทางพินัย และกำหนดให้วิธีพิจารณาคดีเป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบ ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ชำระค่าปรับเป็นพินัย หากผู้กระทำความผิดไม่ชำระ ค่าปรับภายในเวลาที่ศาลกำหนด ศาลมีอำนาจออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้ต้องคำพิพากษา เพื่อใช้ค่าปรับ (มาตรา 28)

 

หากผู้กระทำความผิดชำระค่าปรับเป็นพินัยครบ ตามจำนวนที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกำหนด คดีความผิดทางพินัยเป็นอันยุติ (มาตรา 25)

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage