สพฐ.แจงมอบอำนาจ สพท.จัดซื้อจัดจ้างแทนร.ร.เล็ก ตรวจสอบได้ เป็นไปตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง ใต้ขอบเขต TOR

 

สพฐ.แจงมอบอำนาจ สพท.จัดซื้อจัดจ้างแทนร.ร.เล็ก ตรวจสอบได้ เป็นไปตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง ใต้ขอบเขต TOR

 

วันที่ 4 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าว Edunewssiam รายงานว่า ตามที่ นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ได้ทำหนังสือถึง ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ให้ยกเลิกการมอบอำนาจการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐและมอบอำนาจเกี่ยวกับเงินรายได้สถานศึกษา

 

อีกทั้ง ทาง กพฐ.ได้ปรับปรุงคำสั่งมอบอำนาจการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) เป็นผู้ดำเนินการแทนโรงเรียนขนาดเล็ก (จำนวนนักเรียนไม่เกิน 60 คน ซึ่งมีจำนวนประมาณ 7,000 โรงเรียนทั่วประเทศ) ทั้งเงินในงบประมาณ เงินนอกงบประมาณ และเงินรายได้สถานศึกษา นั้น

 

ซึ่งทางสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ยกอ้างถึงการได้รับร้องเรียนจากผู้บริหารและคณะครูในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนไม่เกิน 60 คน โดยเกี่ยวเนื่องกับตัวบทกฎหมาย 6 ประเด็น ดังนี้

 

1. ขัดต่อกฎหมายหลายฉบับ คือ รัฐธรรมนูญ , พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ , กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา พ.ศ.2550 และประกาศ สพฐ.เรื่องการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาของเลขาธิการ กพฐ.ไปยังคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. พ.ศ.2550

 

2. การสั่งให้เจ้าหน้าที่ธุรการประจำโรงเรียน มาปฏิบัติหน้าที่ที่สพท. เพื่อช่วยทำเรื่องจัดซื้อจัดจ้าง ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อนุมัติให้จ้างลูกจ้างชั่วคราวตำแหน่งพนักงานธุรการไว้ช่วยงานธุรการที่โรงเรียน แม้ว่า สพฐ.จะให้เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียน 1 คน รับผิดชอบ 3-4 โรงเรียน

 

3. การดึงอำนาจจัดซื้อจัดจ้างของโรงเรียนต่างๆ มารวมที่ สพท. อาจสุ่มเสี่ยงจะเกิดการทุจริตขึ้นได้

 

4. ผู้จัดซื้อ คือ สพท. ส่วนการตรวจรับและการเบิกจ่ายเป็นของโรงเรียน ดังนั้น หากเกิดความผิดพลาดเสียหาย กรรมการตรวจรับซึ่งเป็นครูในโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้อาจต้องรับผิดชอบตามระเบียบ กฎหมาย และโรงเรียนไม่ได้สิ่งของตามที่ต้องการ แต่ครูไม่กล้าโต้แย้ง เช่นเดียวกับคดีตรวจรับสนามฟุตซอล และคดีตรวจรับอาหารกลางวัน จึงไม่ถือว่าเป็นการแบ่งเบาหรือลดภาระให้กับครูผู้สอนในโรงเรียนขนาดเล็กแต่อย่างใด แต่กลับเป็นการเพิ่มภาระให้กับครู

 

5. เป็นการเพิ่มภาระงานให้กับเจ้าหน้าที่การเงินและพัสดุ ของ สพท.โดยไม่จำเป็น ในขณะที่ สพท.เองก็ขาดแคลนอัตรากำลังอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะส่งผลให้ภาระงานอื่น ๆ ใน สพท.เกิดความล่าช้าได้ เช่น การเบิกจ่ายงบประมาณด้านอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อราชการโดยรวม และ

 

6. เงินรายได้สถานศึกษา ที่ได้ร่วมกับชุมชนจัดหา หรือได้รับการสนับสนุนจากชุมชน คหบดี บริษัท ห้างร้าน บริจาคให้เป็นรายได้ของโรงเรียน ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเข้าไปล้วงลูกบริหารจัดการแทนโรงเรียนที่มีเงินนอกงบประมาณประเภทนี้ ควรให้เป็นอิสระในการบริหาร เพราะชุมชนร่วมกับโรงเรียนทำการบริหารแบบมีส่วนร่วมอยู่แล้ว

 

" สมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ จึงขอความกรุณาให้เลขาธิการ กพฐ.ได้โปรดพิจารณาทบทวนและยกเลิกการมอบอำนาจจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐให้ ผอ.สพท.ดำเนินการแทนโรงเรียนขนาดเล็กโดยด่วน" นายสานิตย์ นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ กล่าว

 

เรื่องนี้ ทางสำนักข่าวการศึกษา EDUNEWSSIAM ได้รับเรื่องราวจาก" สมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ” เช่นกัน จึงมอบหมายให้ผู้สื่อข่าวติดตาม ขอทราบข้อเท็จจริง ตลอดรายละเอียดจากผู้เกี่ยวข้องเพื่อเข้าใจตรงกัน เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับตัวบทกฎหมาย ซึ่ง ดร.พัชรกันย์ เมธาอัครเกียรติ ผู้อำนวยการสำการคลังและสินทรัพย์ สพฐ. ชี้แจงในรายละเอียด ครบใน 6 ประเด็น ดังนี้

 

1.ขัดต่อกฎหมายหลายฉบับ คือ รัฐธรรมนูญ ,พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ , กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา พ.ศ.2550 และประกาศสพฐ. เรื่องการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาของเลขาธิการ กพฐ. ไปยังคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในสังกัด สพฐ.พ.ศ. 2550

 

ชี้แจงว่า...ตามมาตรา ๓๙ แห่ง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา พ.ศ.2550 จะกำหนดสพฐ. ให้กระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาในด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ ด้านการบริหารงานบุคคล และด้านการบริหารทั่วไป ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในสังกัด สพฐ.

 

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อ 4 ของกฎกระทรวงดังกล่าว ได้กำหนดให้ สพฐ.กำกับดูแลการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาพร้อมศึกษา วิเคราะห์ เพื่อการปรับปรุงพัฒนาระบบการกระจายอำนาจการบริหารอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการรวบรวมปัญหาการดำเนินการของสถานศึกษา พบว่า...

 

การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุของโรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่ ก่อให้เกิดภาระให้กับครูผู้สอน ส่งผลกระทบต่อการเรียนของนักเรียน และพบว่าการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างของสถานศึกษายังไม่ครบถ้วนถูกต้อง ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐ และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐

 

เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงนำมาสู่การปรับปรุงแก้ไขคำสั่งมอบอำนาจเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารการพัสดุของ ร.ร.ขนาดเล็ก (จำนวนนักเรียนไม่เกิน 60 คน) ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้ดำเนินการแทน

 

โดยการบริหารจัดการอัตราจ้างธุรการโรงเรียนเพื่อมาดำเนินการในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุของโรงเรียนขนาดเล็กนั้น ได้เน้นย้ำให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาบริหารจัดการอัตราจ้างธุรการโรงเรียนให้สอดคล้องกับบริบทของเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา

 

2. การสั่งให้เจ้าหน้าที่ธุรการประจำโรงเรียนมาปฏิบัติหน้าที่ ที่ สพท. เพื่อช่วยทำเรื่องจัดซื้อจัดจ้างขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อนุมัติให้จ้างลูกจ้างชั่วคราวตำแหน่งพนักงานธุรการไว้ช่วยงานธุรการที่โรงเรียน แม้ว่า สพฐ. จะให้เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียน 1 คน รับผิดชอบ 3-4 โรงเรียน

 

ชี้แจงว่า...เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนยังคงปฏิบัติหน้าที่ตาม มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพียงแต่มาอาศัยสถานที่ปฏิบัติงานในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อความสะดวกในการติดต่อประสานงานกับโรงเรียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนเอง

 

อีกทั้ง เจ้าหน้าที่ธุรการประจำโรงเรียน ที่มีคำสั่งแต่งตั้งให้มาปฏิบัติหน้าที่ด้านการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เป็นกรณีการจ้างเหมาบริการรายบุคคล เพื่อดำเนินงานให้กับโรงเรียนในลักษณะการจ้างทำของตามประมวลกฎหมายเพ่งและพาณิชย์โดยดำเนินการจัดหาบุคลากร (จัดจ้าง) ตาม พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 ประกอบกับระเบียบจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 ภายใต้ขอบเขตของงาน(TOR) ที่โรงเรียนเป็นผู้กำหนด

 

ดังนั้นกรณีโรงเรียนมีการปฏิบัติงานด้านการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ จึงอยู่ในขอบข่ายของวัตถุประสงค์การจ้างเหมาบริการ

 

3. การดึงอำนาจจัดซื้อจัดจ้างของโรงเรียนต่างๆมารวมที่ สพท. อาจสุ่มเสี่ยงจะเกิดการทุจริตขึ้นได้

 

ชี้แจงว่า...ปัญหาการทุจริตมิได้เกิดจากฐานอำนาจในด้านการจัดซื้อจัดจ้างเพียงอย่างเดียว โดยสาเหตุของการทุจริตสามารถจำแนกได้ ดังนี้

 

1) เกิดจากพฤติกรรมความโลภ เป็นสาเหตุที่มาจากพฤติกรรมส่วนบุคคล

 

2) เกิดจากการมีโอกาส หรือการที่ระบบการทำงานมีช่องว่างเป็นสาเหตุที่มาจากระบบการทำงานมีช่องว่างให้ทุจริต หรือการที่ขาดระบบการควบคุม ตรวจสอบที่ไม่รัดกุม

 

3) เกิดจากการขาดจริยธรรม เป็นสาเหตุที่มาจากการขาดจริยธรรมส่วนบุคคลรวมถึงประมวลจริยธรรมขององค์กรไม่ได้มีการบังคับใช้ให้เกิดผล

 

4) เกิดจากแรงจูงใจ และ ความคุ้มค่าในการเสี่ยงเพราะทุจริตแล้ว ได้รับผลประโยชน์มากเมื่อเทียบกับความเสี่ยง

 

ส่วนกรณีข้อห่วงใยที่ในประเด็นการมอบอำนาจให้กับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา อาจสุ่มเสี่ยงต่อการทุจริต เป็นเรื่องที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นจริง โดยสพฐ. ได้เน้นย้ำการปฏิบัติหน้าที่ของ สพท. ว่าจะดำเนินการให้คุ้มค่า โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการ

 

4. ผู้จัดซื้อคือ สพท. ส่วนการตรวจรับและการเบิกจ่ายเป็นของโรงเรียน ดังนั้น หากเกิดความผิดพลาดเสียหาย กรรมการตรวจรับซึ่งเป็นครูในโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้อาจต้องรับผิดชอบตามระเบียบ กฎหมาย และโรงเรียนไม่ได้สิ่งของตามที่ต้องการ แต่ครูไม่กล้าโต้แย้ง เช่นเดียวกับคดีตรวจรับสนามฟุตซอล และคดีตรวจรับอาหารกลางวัน จึงไม่ถือว่าเป็นการแบ่งเบาหรือลดภาระให้กับครูผู้สอนในโรงเรียนขนาดเล็กแต่อย่างใด แต่กลับเป็นการเพิ่มภาระให้กับครู

 

ชี้แจงว่า...ตามแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐกรณี สพท. เป็นผู้ดำเนินการแทนโรงเรียนขนาดเล็ก กำหนดให้โรงเรียนเป็นผู้เสนอความต้องการ และ จัดทำร่างขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่จะซื้อหรือจ้าง เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของโรงเรียน ซึ่งการกำหนดให้โรงเรียนเสนอรายชื่อบุคลากร เพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ก็เพื่อให้การตรวจรับพัสดุมีคุณภาพหรือคุณลักษณะที่ตอบสนองวัตถุประสงค์การใช้งานของโรงเรียนตามความจำเป็น และ เหมาะสมกับการจัดการเรียนการสอน ตรงตามความต้องการ คุ้มค่าในการใช้งานให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

 

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้การแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจรับพัสดุมีหน้าที่ในการบริหารสัญญาและตรวจรับพัสดุ จะต้องถือปฏิบัติตามระเบียบฯ โดยเคร่งครัดและยึดถือประโยชน์ทางราชการเป็นสำคัญ

 

5. เป็นการเพิ่มภาระงานให้กับเจ้าหน้าที่การเงินและพัสดุของ สพท. โดยไม่จำเป็น ในขณะที่ สพท. เองก็ขาดแคลนอัตรากำลังอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะส่งผลให้ภาระงานอื่นๆ ใน สพท. เกิดความล่าช้าได้ เช่น การเบิกจ่ายงบประมาณด้านอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อราชการโดยรวม

 

ชี้แจงว่า...การจัดซื้อจัดจ้างของโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ธุรการประจำโรงเรียน ที่มีคำสั่งแต่งตั้งให้มาปฏิบัติหน้าที่ด้านการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เป็นกรณีการจ้างเหมาบริการรายบุคคล เพื่อดำเนินงานให้กับโรงเรียนในลักษณะการจ้างทำของตามประมวลกฎหมายเพ่งและพาณิชย์โดยดำเนินการจัดหาบุคลากร (จัดจ้าง) ตาม พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 ประกอบกับระเบียบจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 ภายใต้ขอบเขตของงาน (TOR) ที่โรงเรียนเป็นผู้กำหนด

 

ดังนั้น กรณีโรงเรียนมีการปฏิบัติงานด้านการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ จึงอยู่ในขอบข่ายของวัตถุประสงค์การจ้างเหมาบริการ และไม่ทับซ้อนกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่พัสดุของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งรับผิดชอบงานเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเท่านั้น

 

6. เงินรายได้สถานศึกษา ที่ได้ร่วมกับชุมชนจัดหาหรือได้รับการสนับสนุนจากชุมชน คหบดี บริษัท ห้างร้าน บริจาคให้เป็นรายได้ของโรงเรียน ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเข้าไปล้วงลูกบริหารจัดการแทนโรงเรียนที่มีเงินนอกงบประมาณประเภทนี้ ควรให้เป็นอิสระในการบริหาร เพราะชุมชนร่วมกับโรงเรียนทำการบริหารแบบมีส่วนร่วมอยู่แล้ว

 

ชี้แจงว่า...การบริหารจัดการเงินนอกงบประมาณ และเงินรายได้สถานศึกษาที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของโรงเรียน โรงเรียนยังสามารถบริหารจัดการงบประมาณและใช้จ่ายงบประมาณได้ตามปกติ เพียงแต่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเข้ามามีบทบาท แบ่งเบาภาระในการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เพราะโรงเรียนขนาดเล็กมีข้อจำกัดด้านบุคลากรอยู่แล้ว

 

อีกทั้ง การใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณและเงินรายได้สถานศึกษาต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเปิดเผยต่อสาธารณชนได้ตามหลักการของกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐและหลักการของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

 

ทั้งนี้ การมอบอำนาจเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง และ การบริหารพัสดุภาครัฐโรงเรียนขนาดเล็ก(นักเรียนไม่เกิน 60 คน) ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้ดำเนินการแทน มีเป้าหมาย : ลดภาระการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างของโรงเรียนขนาดเล็ก (นักเรียนไม่เกิน 60 คน)

 

ผลที่ได้รับ

- ลดภาระเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างในโรงเรียนขนาดเล็ก (นักเรียนไม่เกิน 60 คน) จำนวน 6,982 โรงเรียน

 

- คืนครูสู่ห้องเรียน ให้ครูได้มีเวลาในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่จำนวน 19,935 คน และผู้อำนวยการโรงเรียนมีเวลาไปพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาในด้านอื่น ๆ จำนวน 3,010 คน

 

- คืนความสุขให้นักเรียน จำนวน 262,205 คน ได้รับการเรียนรู้จากครูผู้สอนได้เต็มเวลา

 

- การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างของโรงเรียนขนาดเล็ก (นักเรียนไม่เกิน 60 คน) ถูกต้องและตรวจสอบได้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 รวมทั้งกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับการพัสดุ

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage