สมาคม ร.ร.เอกชน จ่อร้อง “เพิ่มพูน” แก้ปัญหาสอบครูผู้ช่วยปฏิทินไม่นิ่ง ครูต่างชาติยังติดระบบราชการล่าช้า

 

สมาคม ร.ร.เอกชน จ่อร้อง “เพิ่มพูน” แก้ปัญหาสอบครู

ผู้ช่วยปฏิทินไม่นิ่ง ครูต่างชาติยังติดระบบราชการล่าช้า  

 

 

นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสาน และ ส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เปิดเผยผู้สื่อข่าวว่า ในเร็วๆ นี้ ตนจะเข้าพบ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำเสนอปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนเอกชน เพื่อวางแนวทางแก้ไข เบื้องต้น

 

เรื่องที่เป็นปัญหาโดยตลอด คือ ปฏิทินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาซึ่งสถิติ พบว่า สพฐ.กำหนดปฏิทินจัดสอบไม่แน่นอน บางปีจัดสอบเร็ว บางปีจัดสอบในช่วงกลางเทอม ทำให้โรงเรียนเอกชนเกิดปัญหาขาดแคลนครู เพราะหากครูเอกชนสอบผ่านได้ก็จะลาเพื่อไปบรรจุแต่งตั้งเป็นครูผู้ช่วย

 

ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ทางโรงเรียนเอกชนจึงอยากให้ สพฐ.กำหนดปฏิทินการจัดสอบให้แน่นอน หรือหากเป็นไปได้ก็อยากให้จัดสอบในช่วงปิดภาคเรียน เพื่อให้โรงเรียนเอกชนมีเวลาในการเตรียมความพร้อมจัดหาครูมา ทดแทน

 

กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องการจ้างครูต่างชาติ ที่ผ่านมาครูต่างชาติ ที่เข้ามาสอนในโรงเรียนเอกชนต้องผ่านหลายหน่วยงาน ซึ่งการต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนจำนวนมาก ก็ทำให้ครูเหล่านั้นหนีไปสอนประเทศอื่น ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา หรือ Education Hub ในภูมิภาคอาเซียน

 

ดังนั้น จึงอยากเสนอให้มีการจัดทำระบบการจ้างครูต่างชาติ ให้ได้รับใบอนุญาตทำงานประเทศไทย หรือ Work permit ให้เป็นระบบ แบบวันสต๊อป เซอร์วิส รวมศูนย์ ขั้นตอนการจ้างครูต่างชาติไว้ด้วยกัน ทั้งการตรวจสอบวุฒิการศึกษา และตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ยื่นเรื่องกับทางสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน ขอเปลี่ยนประเภทวีซ่าเป็นประเภท Non-Immigrant (รหัส B) ครูชาวต่างชาติยื่นขอใบอนุญาตทำงานที่กรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน รวมถึงการประสานกับทางสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เพื่อขอใบอนุญาตชั่วคราวในการสอน

 

ส่วนเรื่องปัญหาโรงเรียนเอกชนทยอยปิดตัวนั้น ตนถือเป็นเรื่องปกติที่แต่ละปีจะมีโรงเรียนเอกชนปิดตัวลงปีละประมาณ 30-40 แห่งทั่วประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนเอกชนขนาดเล็ก แต่ก็มีโรงเรียนเอกชนใหม่ ๆ เปิดตัวมาในจำนวนใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะโรงเรียนนานาชาติที่มีเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ขณะเดียวกันโรงเรียนเอกชนพยายามพัฒนาตัวเอง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ปกครอง ที่พอจะมีทุนทรัพย์ในการเลือกการศึกษาให้กับบุตรหลาย

 

ดังนั้นในภาพรวมจำนวนโรงเรียนที่ปิดกิจการ ตนจึงไม่ถือว่ามีความวิกฤตมากนัก แต่ที่จะกระทบจริง ๆ คือเรื่องจำนวนผู้เรียนซึ่งในการรับเด็กเข้าเรียนปีการศึกษา 2566 ที่ผ่านมา จำนวนเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนลดลงกว่า 20,000 ราย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอัตราการเกิดลดลง ซึ่งโรงเรียนก็ต้องปรับตัวไม่ว่าจะเป็นสังกัด สพฐ.สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และโรงเรียนเอกชนเอง

 

โดยที่ผ่านมาได้มีการประสานข้อมูลในการรับเด็กเข้าเรียน โรงเรียนเอกชนเองพยายามที่จะเก็บตกเด็กที่ไม่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนสังกัด สพฐ.ให้ได้มากที่สุด 

 

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage