สสส. สานพลัง MOU สร้างชุมชนน่าอยู่ ปลอดเหล้า-บุหรี่-ขยะ ชู “บางยี่รงค์-สุพรรณบุรี-ไทรโยค” ต้นแบบตำบลสุขภาวะ จัดการปัจจัยเสี่ยงยั่งยืน

สสส. ขับเคลื่อนเครือข่ายตำบลสุขภาวะ ผนึกกำลังชุมชน MOU เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ชู “บางยี่รงค์-สุพรรณบุรี-ไทรโยค” ชุมชนสุขภาวะต้นแบบ จัดการปัจจัยเสี่ยงเหล้า-บุหรี่-ขยะ-ดูแลผู้สูงอายุ พัฒนาพื้นที่สู่ท้องถิ่นจัดการตนเองอย่างยั่งยืน

 

 

 

 นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นนี้ ช่วยสร้างการเตรียมความพร้อม รับมือ และจัดการปัญหา รวมถึงชี้ให้เห็นการร่วมแรงหนุนเสริม ที่จะเกิดเป็นเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง สามารถจัดการตนเองได้เพิ่มขึ้น พร้อมน้อมรับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” “ระเบิดจากข้างใน” เพราะชุมชนท้องถิ่นคือหนึ่งกลไกสำคัญ ในการปรับตัว และตั้งรับกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นอกจากการทำงานขับเคลื่อนลด-ละ-เลิก ปัญหาเรื่องแอลกอฮอล์ บุหรี่ และรณรงค์ขับขี่ปลอดภัยแล้ว แต่ละพื้นที่ก็ยังมีประเด็นเฉพาะในการขับเคลื่อนการทำงานที่เหมาะสม สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ของตนเองตอบโจทย์ปัญหา และความต้องการของคนในชุมชน

 

นายชินดนัย รุจิรัตน์ นายกเทศมนตรีตำบลบางยี่รงค์ จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า เทศบาลตำบลบางยี่รงค์ เน้นการทำงาน 5 เรื่อง ประกอบด้วย 1. ควบคุมการบริโภคยาสูบ โดยการผลิตยาอมสมุนไพรเลิกบุหรี่ และส่งเสริมให้เกิดบุคคลต้นแบบเลิกบุหรี่ 2. ควบคุมการบริโภคแอลกอฮอล์ สร้างบุคคลต้นแบบเลิกดื่ม จัดกิจกรรมรณรงค์ขับขี่ปลอดภัย กิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา รณรงค์ช่วงเทศกาลเฝ้าระวัง 7 วันอันตรายกับเครือข่ายในพื้นที่ 3. ดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากในพื้นที่มีผู้สูงอายุมากถึง 40% จึงวางแผนส่งเสริมจัดกิจกรรมการออกกำลังกายให้แก่ผู้สูงอายุ จัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ และจัดตั้งศูนย์ Day Care 4. จัดการสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้มีการคัดแยกขยะ จัดตั้งธนาคารขยะ และแปรรูปขยะเป็นผลิตภัณฑ์โดยคนในชุมชน 5. จัดการอาหาร ส่งเสริมให้มีการปลูกผักปลอดสารพิษ ลดการใช้สารเคมี ให้ความรู้ผู้ประกอบการร้านอาหาร และแผงลอย

 

 

นายเอกพันธุ์ อินทร์ใจเอื้อ นายกเทศมนตรีเมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า โครงการร่วมสร้างสุขภาวะชุมชนเมืองสุพรรณบุรี อยู่ในบริบทชุมชนเมือง 8 เรื่อง 1. ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย แก้ไขปัญหาเด็กอ้วนในโรงเรียน 2. จัดการสิ่งแวดล้อม ชุมชนต้นแบบคัดแยกขยะ 3. ส่งเสริมเศรษฐกิจครอบครัว และชุมชน แปรรูป และเพิ่มมูลค่าปลาสลิดต้นทุนของชุมชนวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร 4. จัดการจราจร และขับขี่ปลอดภัย มุ่งเน้นให้เยาวชนในพื้นที่ใส่ใจ และมีวินัยในการขับขี่ 5. ส่งเสริมพัฒนาชีวิตเด็ก และเยาวชน จัดเวทีสำรวจ และแก้ปัญหาเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา 6. สร้างการมีส่วนร่วมพัฒนาระบบดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ จัดตั้งศูนย์ Day Care 7. เฝ้าระวัง และควบคุมโรคติดต่อ ส่งเสริมให้ชุมชนร่วมแก้ไขปัญหาโรคติดต่อ 8. ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ เกิดโครงการใจถึงใจ ลด ละ เลิก แอลกอฮอล์ และบุหรี่ เพื่อคนที่รัก ความท้าทายของสุพรรณบุรีคือความเป็นเขตเมือง ซึ่งมีประชาชนหนาแน่น จึงต้องส่งเสริมให้เกิดกลุ่ม และสมาคมเชิงประเด็นที่หลากหลาย เพื่อให้เข้าถึงปัญหาของประชาชนได้อย่างทั่วถึง

 

 

นายประกอบ เซี่ยงหลิว นายกเทศมนตรีตำบลไทรโยค จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า ต.ไทรโยค มีแผนการทำงาน 7 เรื่อง 1. ดูแลผู้สูงอายุ ให้เกิดการรวมกลุ่ม และบูรณาการทำงานร่วมกันในพื้นที่ให้ผู้สูงอายุมีอาชีพในวัยเกษียณ เกิดโรงเรียนผู้สูงอายุ และหลักสูตรการเรียนรู้เท่าทันสื่อโซเชียลมีเดีย กิจกรรมเพื่อนเยี่ยมเพื่อน สร้างสังคม และกิจกรรมแข่งขันกีฬาวัยเกษียณที่ช่วยสร้างสุขภาพที่ดี 2. จัดการภัยพิบัติ เนื่องจากในพื้นที่ ต.ไทรโยค มีอาชีพเกษตรปลูกพืชส่วนใหญ่ และปัญหาไฟป่า ส่งเสริมการจัดอบรมเครือข่ายอาสาป้องกัน พัฒนาศักยภาพ อปพร. จัดทำแนวกันไฟในชุมชน 3. เศรษฐกิจชุมชน แปรรูปผลผลิตจากส้มโอ หน่อไม้ และกล้วย ส่งเสริมการตลาดกระจายผลผลิต” 4. เพิ่มกิจกรรมทางกาย จัดกิจกรรมชมรมแอโรบิก กิจกรรมออกกำลังกาย สัปดาห์ละ 3 วัน ตรวจสุขภาพ แข่งขันกีฬาต้านยาเสพติด 5. จัดการสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการคัดแยก ตั้งธนาคารขยะ ปลูกต้นไม้ทดแทน 6. การควบคุมการบริโภคยาสูบ 7. ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลด ละ เลิกในแต่ละพื้นที่

 

 

ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า การทำงานขับเคลื่อนในแต่ละพื้นที่ทั้ง คน กลไก และข้อมูล ที่เป็นทุนทางสังคมที่สำคัญ ซึ่งแต่ละพื้นที่นั้นมีอยู่ นำมาต่อยอดการทำงานของ สสส. ได้นำนวัตกรรม การพัฒนาระบบข้อมูลตำบลโดยการสำรวจ (TCNAP) และ การประยุกต์ใช้ วิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณาแบบเร่งด่วน RECAP(Rapid Ethnographic Community Assessment: RECAP) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยหนุนเสริมให้แต่ละท้องถิ่นได้เห็นทุนทางสังคม มาใช้ประโยชน์และเห็นภาพต้นทุนและข้อมูลชุมชนร่วมกัน ภายใต้หลัก S2I คือ การจัดการพื้นที่ (Systematization) การสร้างและพัฒนานวัตกรรม (Innovation Creation) และเกิดการบูรณาการภายในชุมชนท้องถิ่นและหน่วยงานสนับสนุนภายนอก (Integration and Collaboration) ในการจับมือขับเคลื่อนเครือข่ายตำบลสุขภาวะสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง