ระเบิด’ ศึกจ้างพิมพ์แบบเรียน ปี 67 ‘องค์การค้า สกสค.’ แบ่งเค้ก” ราคากลาง 912 ล้าน

 

ระเบิด’ ศึกจ้างพิมพ์แบบเรียน ปี 67 ‘องค์การค้า

สกสค.’ แบ่งเค้ก” ราคากลาง 912 ล้าน  

 

วันที่ 28 ก.พ.67 ที่กระทรวงศึกษาธิการ นายนัทธพลพงค์ จิวัจฉรานุกูล กรรมการบริหาร บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997) จำกัด (บจก.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ) ผู้ประกอบกิจการโรงพิมพ์ และรับจ้างพิมพ์หนังสือ ได้เข้ายื่นทำหนังสือถึง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอให้ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง ที่กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และดำเนินการกับผู้กระทำผิด

 

กรณีการจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2567 จำนวน 151 รายการ งบประมาณ 912,599,700 บาท โดยวิธีคัดเลือก ของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เนื่องจากเข้าข่ายการจัดซื้อจัดจ้างที่กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จงใจช่วยเหลือเอื้อประโยชน์บริษัทคู่ค้ารายเก่า และกีดกันบริษัทคู่ค้ารายใหม่ โดยมี นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ร่วมยื่นหนังสือด้วย

  

นายนัทธพลพงค์ เปิดเผยว่า การจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2567 จำนวน 151 รายการ โดยวิธีคัดเลือก โดยองค์การค้าของ สกสค. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 ก.พ.67 นี้นั้น เข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย และส่อไปในทางทุจริตในหลายประเด็น ตั้งแต่ TOR (ขอบข่ายงาน รายละเอียดและคุณลักษณะ : Term of Reference) ที่ไม่ได้มีการจัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปี และประกาศเผยแพร่ในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง และของหน่วยงานของรัฐตามวิธีการที่กรมบัญชีกลางกำหนด

  

อีกทั้งก็ไม่ได้มีระบุถึงความจำเป็นเร่งด่วน ที่จะยกเว้นไม่ให้มีการจัดทำแผนการจัดซื้อ ประจำปี รวมถึงการใช้วิธีการคัดเลือก ซึ่งขัดต่อพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 (พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ)

 

จึงขอให้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างการจัดพิมพ์หนังสือเรียน ปี 67  ตามรายละเอียดที่ สกสค.ได้เผยแพร่ประกาศ TOR จ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2567 จำนวน 151 รายการ รวมทั้งสิ้น 25.23 ล้านเล่ม ราคากลาง 912.59 ล้านบาท 

 

สำหรับคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอฯ สกสค.กำหนดไว้ในประกาศ TOR  ระบุว่า ไม่เป็นบุคคลซึ่งอยู่ระหว่างการระงับกากรยื่นข้อเสนอหรือทำสัญญากับหน่วยงานรัฐไว้ชั่วคราว เนื่องจากเป็นผู้ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานฯ ,ไม่เป็นบุคคลที่ถูกระงับชื่อไว้ในบัญชีผู้ทิ้งงานฯ ,มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐกำหนด และไม่เป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันกับผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นที่เข้ายื่นข้อเสนอให้แก่องค์การค้าของ สกสค. 

 

รวมถึงการให้ผู้ยื่นข้อเสนอ ต้องมีผลงานรับจ้างพิมพ์หนังสือหรืองานรับจ้างพิมพ์ประเภทเดียวกันกับงานที่จ้างกับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ภายในระยะเวลา 5 ปี ก่อนวันที่ยื่นข้อเสนอ กรณีที่ผู้ยื่นข้อเสนอเป็นนิติบุคคล ที่จัดตั้งตามกฎหมายไทย ซึ่งยังไม่มีการรายงานงบแสดงฐานะการเงินกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีทุนจดทะเบียน ที่เรียกชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท เป็นต้น

 

ซึ่งภายใต้ TOR ดังกล่าว ได้มีการแบ่งกลุ่มประเภทของหนังสือแบบเรียนการจัดพิมพ์ เป็นจำนวน 30 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มมีรายการหนังสือ 5-6 รายการ และกำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอจะยื่นเสนอราคาได้เพียง 1 รายการของแต่ละกลุ่ม โดยราคาที่เสนอให้เสนอราคาเป็นเงินบาท ซึ่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าใช้จ่ายทั้งปวงแล้ว ส่วนหลักเกณฑ์ในการพิจารณานั้น ผู้ว่าจ้างจะพิจารณาตัดสินโดยใช้เกณฑ์ราคา โดยจะพิจารณาราคาต่อรายการ 

 

ทั้งนี้ ไม่ใช้วิธีประกวดราคาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-bidding อีกทั้งเปิดให้เอกชนที่สนใจยื่นข้อเสนอฯในวันที่ 29 ก.พ.นี้ โดยเปิดซองข้อเสนอฯในวันเดียวกัน ซึ่งผู้ร้องฟ้องระบุว่า ดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้

 

 

นเรื่องนี้ นายภกร รงค์นพรัตน์ รองผู้อำนวยการองค์การค้า (สกสค.) ยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่า การจัดซื้อจัดจ้างการจัดพิมพ์หนังสือเรียน ปี 67 ได้ดำเนินการตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และระเบียบของกรมบัญชีกลาง ทุกประการ

  

โดยปีนี้ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีการตรวจต้นฉบับเนื้อหาหนังสือแบบเรียน และส่งให้ทางองค์การค้า ค่อนข้างล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถใช้วิธีประกวดราคาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือ  e-biddingได้ทัน เนื่องจากเหลือเวลาในการดำเนินการเพียง 55 วัน

  

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงต้องใช้วิธีการประกวดราคาด้วยการคัดเลือก โดยได้เชิญ 19 โรงพิมพ์เข้าร่วมประกวดราคา ก็เป็นโรงพิมพ์ของรัฐ 4 โรง อีก 15 โรง เป็นโรงพิมพ์เอกชนที่เคยขึ้นทะเบียนกับองค์การค้าฯ โดยได้ถามคณะกรรมการจัดทำ TOR และสอบถามกรมบัญชีกลางแล้วว่า ตามระเบียบสามารถกำหนดได้ 

 

เหตุที่เชิญเฉพาะโรงพิมพ์ที่ขึ้นทะเบียนกับองค์การค้า เพราะเห็นแล้วว่า มีศักยภาพจัดพิมพ์หนังสือเรียนได้ทันตามกำหนด ป้องกันความเสียหาย และทุกรายจะต้องมาแข่งขันประกวดราคากันตามที่กำหนดไว้ 30 กลุ่ม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกลั่นแกล้ง และครั้งนี้ไม่ได้มีการวางเงินค้ำประกัน ที่อยู่ประมาณ 40 ล้านบาท ก็เพื่อไม่ให้เป็นการกีดกันโรงพิมพ์ขนาดเล็ก

  

แต่ครั้งนี้จะใช้ราคาเป็นหลัก ใครเสนอราคาต่ำสุดคนนั้นได้ เพราะระยะเวลาการจัดพิมพ์เหลือเพียง 55 วัน หากไม่สามารถจัดพิมพ์ได้ทันตามกำหนดจะต้องเสียค่าปรับ 0.2% ของจำนวนหนังสือที่ไม่ได้จัดส่งซึ่งถือว่าน้อยมาก ถ้าโรงพิมพ์ไหนพิมพ์ไม่ทันต้องเสียค่าปรับ มันก็ไม่คุ้มค่ากับความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก

  

ส่วนที่ว่า องค์การค้ามีการเปลี่ยนแปลงสเป็คกระดาษ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ใครนั้น จริง ๆ แล้วกระดาษสเป็คนี้ใช้มา 2-3 ปีแล้ว

 

“อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในTOR ฝ่ายธุรการพิมพ์เอกสารผิด ซึ่งผมก็ได้ให้แก้ไขสเปคกระดาษในTOR จากที่กำหนดให้ใช้กระดาษที่สกปรกมีค่า Dirt มากกว่า 100 ppm มาเป็น น้อยกว่า 100 ppm แล้ว และในTOR ก็ไม่ได้กำหนดให้ต้องใช้กระดาษจากบริษัทไหน โรงพิมพ์ที่ประมูลผ่านสามารถซื้อกระดาษกับเจ้าใดก็ได้” นายภกร กล่าว

  

อีกทั้งเนื่องจากเราต้องส่งหนังสือถึงโรงเรียนให้ทันก่อนเปิดภาคเรียน ในวันที่ 16 พฤษภาคมนี้ เพื่อให้เด็กได้ใช้หนังสือที่มีคุณภาพ ไม่เสียโอกาสในการเรียนรู้ มีความต่อเนื่อง เพราะตำราเรียนแต่ละสำนักพิมพ์จะมีการเรียบเรียงที่ไม่เหมือนกัน จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่องค์การค้าต้องการกระจายหนังสือให้ได้มากที่สุด

  

“เมื่อเปรียบเทียบราคาหนังสือเรียนขององค์การค้าหน้าต่อหน้ากับราคาหนังสือในท้องตลาดถือว่าขององค์การค้ามีราคาถูกกว่าที่อื่น และหากเด็กได้ใช้หนังสือจากองค์การค้า ที่มาจากสพฐ. และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โดยตรง เชื่อว่าจะทำให้ทุนมนุษย์มีความฉลาดตั้งแต่เด็ก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติได้” รองผู้อำนวยการองค์การค้า กล่าวปิดท้าย

 

หมายเหตุ edunewssiam

มองย้อนหลังในปี 2566 ที่ผ่านมา องค์การค้า สกสค. ได้เปิดประมูลงานจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2566 จำนวน 150 รายการ รวม 29.77 ล้านเล่ม ราคากลาง 974.79 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าในการประมูลดังกล่าว ปรากฏว่า มีบริษัทเอกชนบางรายยื่นฟ้อง องค์การค้า สกสค. กับพวก ต่อศาลปกครองกลาง เนื่องจากเห็นว่า TOR มีลักษณะกีดกันไม่ให้บริษัทฯเข้าร่วมการประมูล

 

อีกทั้งยังปรากฏข้อมูลว่า ในการเสนอราคาครั้งดังกล่าว มีรายการหนังสือแบบเรียนรวม 136 รายการ ซึ่งองค์การค้า สกสค. อนุมัติให้ชนะประมูลนั้น เป็นการเสนอราคาที่สูงกว่าราคากลาง รวมแล้วเป็นเงินประมาณ 61.8 ล้านบาท

 

โดย องค์การค้า สกสค. ชี้แจงในประเด็นนี้ว่า เป็นเพราะว่ากระดาษมีราคาแพง เนื่องจากตอนที่มีการจัดทำราคากลางในการจัดซื้อดังกล่าว ราคากระดาษอยู่ที่ 43 บาท/กิโลกรัม แต่ช่วงที่มีการยื่นประมูลซอง ช่วงเดือน ธ.ค.65 และ ม.ค.66 ราคากระดาษขึ้นไปอีกกิโลกรัมละ 1-2 บาท จึงทำให้ยอดของเราเกินราคากลาง 

 

ซึ่งองค์การค้า สกสค. พิจารณาแล้วก็เป็นเหตุผลที่องค์การค้าฯรับได้ 

 

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage