รายงานพิเศษ...'สถานสงเคราะห์' ไม่ใช่เซฟโซนสำหรับเด็ก การเติบโตดีที่สุดต้องอยู่ในบ้าน-ครอบครัว

รายงานพิเศษ...

'สถานสงเคราะห์' ไม่ใช่เซฟโซนสำหรับเด็ก

การเติบโตดีที่สุดต้องอยู่ในบ้าน-ครอบครัว

 

จาก : The Coverage • Insight • 20 พฤษภาคม 2567

เรื่อง/ภาพ : ณัฐชลภัณ หอมแก้ว รายงานพิเศษ

 

 

ประเทศไทยมีเด็กถึงกว่า 1.2 แสนคน ที่ต้องเติบโตขึ้นมาในสถานรองรับ เช่น สถานสงเคราะห์ บ้านเด็กกำพร้า ฯลฯ นั่นยังไม่นับรวมถึงเด็กที่ต้องเติบโตมาในสถานรองรับรูปแบบอื่นๆ ซึ่งไม่ได้มีข้อมูลจำนวนที่ชัดเจนอีกด้วย

 

ข้อมูลข้างต้นคือส่วนหนึ่งที่ปรากฎอยู่ในงานวิจัยของ ดร.กัณฐมณี ลดาพงษ์พัฒนา เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย (Alternative Care Thailand) ซึ่งเธอยังได้มาเปิดเผยถึงแง่มุมอื่นๆ ของเรื่องนี้ ผ่านงานเสวนาพิเศษ “การปกป้องเด็กจากการกระทำความรุนแรงทางเพศ: ความท้าทาย และกุญแจสำคัญของการก้าวต่อไปข้างหน้า” ภายในการประชุมสุดยอดการคุ้มครองเด็ก Child Protection Summit 2024” เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมา

 

สำหรับการประชุมฯ ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิเด็กโลก (World Childhood) ร่วมกับ มูลนิธิพิทักษ์และเดินหน้าคุ้มครองเด็ก (Safeguardkids) ในครั้งนี้ นับเป็นการเดินหน้าปกป้องและต่อต้านการล่วงละเมิดสิทธิเด็ก และเยาวชน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ผ่านการลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) อีกด้วย

 

70% ใน ‘บ้านเด็กกำพร้า’ ไม่ใช่ ‘เด็กกำพร้า’

 

“1 ใน 4 ของเด็กไทย หรือราว 12 ล้านคน ไม่ได้อยู่กับพ่อ แม่” ดร.กัณฐมณี เปิดประเด็น ก่อนที่เธอจะเล่าต่อไปถึงข้อค้นพบอื่นๆ จากงานวิจัย โดยระบุว่ากลุ่มประชากรผู้ที่ดูแลเด็กส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มสุภาพสตรีที่มีอายุประมาณ 55 ปี มีปัญหาสุขภาพ และในบางรายอาจต้องให้การเลี้ยงดูเด็กมากกว่า 1 คน

 

ซ้ำร้าย บางรายยังต้องดูแลเด็กที่มีภาวะพิการ หรือผู้ป่วยติดเตียงร่วมด้วย กลายเป็นภาระอันหนักอึ้งของผู้ที่ต้องดูแล ซึ่งเมื่อมองจากสภาวการณ์เช่นนี้ รวมไปถึงปัญหาความยากจน เศรษฐฐานะของผู้ดูแล ทำให้บ่อยครั้งจึงมี ‘ความเสี่ยง’ ที่เด็กเหล่านี้จะถูกส่งเข้าไปดูแลอยู่ใน ‘สถานรองรับ’ ประเภทต่างๆ ที่ดูแลเด็กแบบกิน-นอน เช่น สถานสงเคราะห์ หรือบ้านเด็กกำพร้า

เมื่อดูจากงานวิจัยของทั้งไทยและต่างประเทศ จะพบว่าเด็กมากกว่า 70% อยู่ในบ้านเด็กกำพร้า โดยที่ไม่ได้กำพร้า เขามีพ่อ มีแม่ แต่มีสาเหตุมาจากความยากจน และการเข้าไปถึงการศึกษา” เธอให้ภาพ

 

อย่างไรตาม แม้ว่า ‘บ้านเด็กกำพร้า’ อาจมีข้อดี แต่ต้องไม่ลืมว่าสถานที่นี้เป็นการดูแลเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งเธอระบุว่า การดูแลเด็กหนึ่งคน ต้องอาศัยทั้งพลังกายและใจในการดูแลค่อนข้างสูง แต่เมื่อมองมายังสถานสงเคราะห์ หรือบ้านเด็กกำพร้าเอกชนในประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนเด็กเฉลี่ยประมาณ 58 คน ในขณะที่มีผู้ดูแลประมาณ 2 คน ฉะนั้นแล้วการดูแลหรือเอาใจใส่เด็กจึง ‘แทบเป็นไปไม่ได้’

 

 

สมองฝ่อ-ขาดทักษะชีวิต-พร่องรัก’ ข้อจำกัดจากการดูแล

 

ดร.กัณฐมณี เล่าถึงข้อค้นพบจากการศึกษาต่ออีกว่า การใช้ชีวิตอยู่ในสถานสงเคราะห์ขนาดใหญ่ที่ผู้ดูแลไม่สามารถให้การดูแลได้อย่างทั่วถึง ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อ ‘เด็กเล็ก’ หากถูกละเลยมาเป็นระยะเวลานาน ขาดการกระตุ้นพัฒนาการ ก็สามารถส่งผลให้ ‘สมองฝ่อ’ ได้ ในขณะที่ ‘เด็กโต’ เมื่อมีคนที่คอยจัดการชีวิตให้ ก็เกิดความเสี่ยงที่จะ ‘ขาดทักษะชีวิต’ ไม่มีทักษะการเข้าสังคม เหมือนเด็กที่เติบโตมาในบ้าน มากไปกว่านั้นบางคนยังไม่รู้แม้กระทั่งการใช้เงิน

 

เธอสรุปว่า แม้ผู้ดูแลในสถานรองรับจะพยายามดูแลเด็กได้ดีเพียงใด แต่ด้วยข้อจำกัดของมนุษย์ ก็ไม่สามารถเอาใจใส่เด็กแต่ละคนได้อย่างเพียงพอ

 

ไม่เพียงความเสี่ยงของการ ‘ขาดทักษะชีวิต’ เท่านั้น แต่ ดร.กัณฐมณี ยังระบุถึง ‘การพร่องรัก’ ซึ่งเป็นปัญหาอีกหนึ่งประการที่เกิดขึ้นได้จากความเปราะบางในจิตใจที่ไม่ได้รับความรักอย่างเต็มที่ โหยหาความสนใจ เพราะคิดว่าตัวเองนั้นไม่ได้เป็นที่ต้องการของครอบครัว

 

พูดเพื่อให้เห็นภาพ ในหลายครั้งที่เราเข้าไปเลี้ยงอาหาร ลูบหัว ถ่ายรูป ก่อนจากไป สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กได้เรียนรู้ถึงการ ‘จากลา’ จากคนที่คิดว่าจะรักซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งส่วนนี้ ดร.กัณฐมณี ระบุว่า เป็นการทำให้เด็กเรียนรู้ว่าโลกนี้ ‘ไม่มีคนรักพวกเขาจริง’ และเรียกสถานการณ์นี้ว่าเป็นการพร่องรัก

 

ไม่แปลกที่เราเข้าสถานสงเคราะห์ เด็กจะวิ่งหาทุกคนเพราะเขาโหยหาความรัก แต่เมื่อท่านถ่ายรูป แสดงความสัมพันธ์กับเขานิดหน่อยแล้วไป เขาจะเรียนรู้ซ้ำๆ ว่าโลกนี้ไม่มีใครรักเขาจริง” เธออธิบาย

 

 

เด็กเรือนแสนเสี่ยงถูกล่วงละเมิด-จำนนต่ออำนาจ

 

ความเสี่ยงสำคัญประการต่อมาของเด็กในสถานรองรับ คือการ ‘ถูกกลั่นแกล้ง’ หรือ ‘ถูกล่วงละเมิดทางเพศ’ ทั้งจากเพื่อน รุ่นพี่ หรือในบางกรณีก็อาจถูกกระทำจากผู้ดูแล และด้วย ‘อำนาจที่มีเหนือกว่า’ ทำให้หลายครั้งเด็กไม่กล้ามีปากเสียง และคิดว่าสิ่งที่พูดไปไม่มีคนได้ยิน ไม่มีใครเชื่อ ทำให้ต้องอยู่ใน ‘สภาวะจำยอมด้วยความสัมพันธ์เชิงอำนาจ’ อันนำไปสู่พฤติกรรมที่รุนแรงของเด็ก

 

ดร.กัณฐมณี ขยายความถึงพฤติกรรมความรุนแรงของเด็กที่พบในสถานสงเคราะห์เด็กแห่งหนึ่ง เมื่อครั้งเข้าไปสัมภาษณ์เพื่อทำงานวิจัย ซึ่งพบว่าเด็กเผาที่นอน บางกรณีจุดไฟเผาเพื่อน เพียงเพราะอยากถูกไล่ออกจากสถานสงเคราะห์เพื่อกลับบ้าน ขณะเดียวกันยังพบปัญหาสุขภาพจิตของเด็กที่เพิ่มสูงขึ้นในสถานรองรับทุกประเภทอีกด้วย

 

เด็กเริ่มมีภาวะซึมเศร้าไปจนถึงทำร้ายตัวเอง และฆ่าตัวตาย เรายังพบว่าเด็กบางคนมีประสบการณ์ทางเพศครั้งแรกกับเพื่อน หรือรุ่นพี่ในสถานรองรับ เพราะในตอนกลางคืน ผู้ดูแลมักจะแยกออกมาต่างหาก และปล่อยให้เด็กอยู่กันเอง ทำให้เกิดเป็นความเสี่ยงที่ค่อนข้างมาก” ดร.กัณฐมณี กล่าว

 

ซ้ำร้ายจากการเก็บข้อมูลที่ได้ลงพื้นที่ไปในสถานรองรับแห่งหนึ่งเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าเด็กที่มีความสัมพันธ์ทางเพศครั้งแรกกับเพื่อนในสถานรองรับ ยังมีการระบาดของเชื้อเอชไอวี และเอดส์ด้วย

 

มากไปกว่านั้น ยังมีการไปพบว่าสถานรองรับกลายเป็นแหล่งที่ ‘คนใคร่เด็ก’ (Pedophile) อาสาเข้ามาทำกิจกรรม เพื่อที่จะเข้าถึงตัวเด็กได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ซึ่งหากกรณีที่เป็นเด็กชายนั้นแทบจะไม่ได้ยินเสียงสะท้อนในเรื่องนี้ เพราะเจ้าตัวหรือบุคคลที่อยู่ในแวดล้อมไม่ได้รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 

บางคนถูกลวนลาม และเราเห็นอยู่บ่อยๆ ถูกผู้ดูแลเรียกไปนวดบ้าง ถูกผู้ดูแลเรียกเข้าไปในห้องส่วนตัวบ้างแล้วล่วงละเมิด มันไม่มีเส้นแบ่งระหว่างภัยออนไลน์ กับออฟไลน์ เด็กในสถานรองรับเปราะบาง และถูกกรูม (พฤติกรรมการเข้าหาเด็กเพื่อล่วงละเมิดทางเพศ) ได้มากที่สุดกลุ่มหนึ่ง” ดร.กัณฐมณี ระบุ

 

สำหรับเหตุการณ์ที่ว่านี้ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสถานรองรับอย่างบ้านเด็กกำพร้า หรือสถานสงเคราะห์เด็กเท่านั้น แต่จากงานวิจัยพบว่ายังเกิดกับสถานที่ที่มีเด็กใช้ชีวิตรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ โดยไม่มีการดูแลอย่างจริงจัง ทำให้ประเทศไทยจึงมีเด็กที่เสี่ยงอยู่ในสถานการณ์นี้อย่างน้อยประมาณ 1.2 แสนคนทั่วประเทศ

 

สถานสงเคราะห์ของรัฐทั้งกว่า 30 แห่ง เอกชนกว่า 700 แห่งทั่วประเทศ ศาสนสถานของทุกศาสนา สถานพินิจ โรงเรียนประจำ ฯลฯ เหล่านี้มีอยู่ทุกจังหวัด และเป็นอำนาจของกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด ในการตรวจตราคุณภาพ และดูความเป็นอยู่ของเด็กในสถานรองรับทุกประเภทในจังหวัด” เธอกล่าวเสริม

 

 

สิ่งที่ต้องเพิ่มคือการเลี้ยงดูแบบ ‘ครอบครัว’

 

แน่นอนว่าตัวเลขที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงประมาณการเท่านั้น ซึ่ง ดร.กัณฐมณี ระบุว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เราไม่มีตัวเลขแท้จริง ไม่มีแม้กระทั่งฐานข้อมูลว่า เด็กในประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ที่ว่ามากน้อยเพียงใด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่ได้บังคับใช้กฎหมายที่อยู่อย่างจริงจัง เช่น กฎหมายในการจดทะเบียนขอรับอนุญาตดำเนินการสถานสงเคราะห์ เป็นต้น

 

 นำเรียนกับผู้รักษากฎหมายทุกท่านว่า สถานสงเคราะห์ยังผิดกฎหมายอยู่อย่างน้อยๆ 70%” เธอให้ข้อมูล

 

ดร.กัณฐมณี ให้ข้อมูลอีกว่า อย่างไรก็ดี ประเทศไทยมีทั้งการศึกษาและวิจัยที่พร้อมจะบอกว่า ‘สถานรองรับ หรือสถานสงเคราะห์ในประเทศ มีจำนวนมากเพียงพอและไม่ควรมีเพิ่ม’ เมื่อเทียบกับสัดส่วนของเด็กไทยที่ต้องการการเลี้ยงดู แต่ทว่าสิ่งที่ต้องเพิ่มคือการเลี้ยงดูในรูปแบบ ‘ครอบครัว’ เพื่อทดแทนสถานรองรับ ซึ่งขณะนี้การศึกษาเรามีพร้อม เช่นเดียวกับนโยบายจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หากสิ่งที่เหลืออยู่คือการทำให้เป็นจริง

 

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ยืนยันที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ภายในปี 2573 ในข้อ 16.2 ซึ่งระบุถึงการข่มเหง การแสวงหาผลประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ ความรุนแรง และการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก ขณะเดียวกันการแยกเด็กให้ออกจากครอบครัวโดยไม่จำเป็น หรือให้ออกมาเผชิญโลกตามลำพัง ก็ถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็กที่จะอาศัยอยู่ในครอบครัว

 

 

ดร.กัณฐมณี ยังฝากถึงผู้กำหนดนโยบาย โดยหวังว่าร่างยุทธศาสตร์การคุ้มครองเด็กฉบับใหม่มีอยู่แล้ว จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศ รวมถึงดำเนินการตามนโยบายลดการพึ่งพิงสถานรองรับ เพื่อให้เด็กสามารถอาศัยอยู่ในครอบครัวได้

 

รวมถึงในระดับบุคคล การสนับสนุนสถานรองรับเด็กที่ไม่ทำร้ายเด็ก คือการสนับสนุนโดยไม่รบกวนชีวิตประจำวันของเด็ก

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage