"บิ๊กอุ้ม ย้ำสมศ." ต้องยึดเกณฑ์ประเมินคุณภาพภายนอก ให้สอดคล้องกับบริบทสถานศึกษา ใต้ความขาดแคลนทรัพยากร

 

 

"บิ๊กอุ้ม ย้ำสมศ." ต้องยึดเกณฑ์ประเมินคุณภาพภายนอก ให้สอดคล้องกับบริบทสถานศึกษา ใต้ความขาดแคลนทรัพยากร

 

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม รายงานจากอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี น.ส.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวรายงานในการมอบนโยบายการประกันคุณภาพภายนอก กับ บทบาทหน้าที่ผู้ประเมินคุณภาพภายนอก เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย ภายใต้แนวคิด "ลดภาระ เรียนดี มีความสุข" พร้อมติดตามวาระสำคัญ ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กับนโยบายการขับเคลื่อนการศึกษาในช่วงเปิดภาคการศึกษาใหม่ว่า...

 

 

"...รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้ย้ำให้ สมศ.ประเมินคุณภาพภายนอกที่สะท้อนถึงผลรับด้านคุณภาพผู้เรียน เรื่องการใช้เกณฑ์การประเมินที่เหมาะสม และสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา ซึ่งการดำเนินงานก้าวหน้าพอสมควร ทั้งการปรับปรุงแนวทางการประเมินคุณภาพ การพัฒนาเครื่องมือและเกณฑ์ในการประเมิน และการพัฒนาหลักสูตรเทรนนิ่งของผู้ประเมิน

 

โดยการประเมินครั้งนี้ยึดการลดภาระ และสอดคล้องกับการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา รวมถึงปรับรูปแบบการลงพื้นที่ใหม่ เดิมประเมินแบบออนไซต์ และช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประเมินแบบออนไลน์ 

 

แต่วันนี้ สมศ.ใช้รูปแบบการประเมินแบบไฮบริดจ์ (hybrid) ซึ่งสถานศึกษาแต่ละแห่ง จะได้รับการประเมินที่แตกต่างกันตามบริบท สถานศึกษาใดมีมาตรฐานสูงกว่าเกณฑ์ จะได้รับการประเมินแบบ virtual visit แต่หากสถานศึกษาใดต้องการความช่วยเหลือ จะมีทั้ง virtual visit และ onsite visit ซึ่งสถานศึกษาจะตัดสินใจตามความพร้อมว่าจะให้ประเมินด้วยวิธีใด 

 

โดยรอบนี้ เพิ่มเติมส่วนที่เป็นปัญหาทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัย ความเสี่ยงต่างๆ จะดูตั้งแต่เด็ก สถานที่ และสภาพแวดล้อมต่างๆ โดยจะพัฒนาระบบเทคโนโลยีที่ช่วยการประเมินตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ โดยพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่นตัวใหม่ ที่จะใช้ประเมินรูปแบบออนไซต์ในเดือนกรกฎาคมนี้" น.ส.นันทา กล่าว

 

 

ด้าน พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า อยากย้ำเรื่องการศึกษา ใน 2 มิติ คือ 1. เพื่อความเป็นเลิศ และ 2. เพื่อการดำรงชีวิต โจทย์คือทำให้มีความสุข ฉะนั้น ในการประเมินจะพยายามลดภาระทั้งผู้รับการประเมิน และผู้ประเมินด้วย อยากให้ช่วยกันคิดว่าอะไรที่ลดภาระได้ หรืออะไรที่จะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ลดภาระการประเมินให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่ง สมศ.จะต้องเป็นผู้รับข้อมูล และปรับปรุงระบบต่างๆ

 

"แนวทางการทำงานให้ยึดหลักนโยบาย ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ และประหยัด รวมทั้งให้คำแนะนำ อยากให้หลังการตรวจประเมินแล้ว ผู้ตรวจให้คำแนะนำแก่สถานศึกษาว่า ควรปรับปรุงตรงไหน และติดตามต่อไป

  

แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ สร้างขวัญกำลังใจ ต้องยอมรับว่าสถานศึกษาหลายแห่งต้องดำเนินงานภายใต้ความขาดแคลนทรัพยากร ฉะนั้น หลังตรวจประเมินทุกครั้ง อยากให้สร้างขวัญกำลังใจ อยากให้ยึดหลักจับมือไว้ และไปด้วยกัน หลังจากตรวจประเมินแล้ว อยากจะให้ผู้ประเมินนำความคิดเห็น ประสบการณ์ต่างๆ มาแลกเปลี่ยนกัน อะไรที่ดีอยากให้ สมศ.ถ่ายทอด เพื่อแนะนำสถานศึกษาอื่นๆ" พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าว

  

กล่าวอีกว่า อยากให้คุณภาพทางการศึกษาเกิดขึ้น โดยการสร้างเครือข่าย อย่างนโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ คือ พยายามให้มี 1 โรงเรียนคุณภาพอยู่ในอำเภอ เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะกระจายคุณภาพไปสู่โรงเรียนอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง เช่น

 

โรงเรียนสวนกุหลาบ มีสถานศึกษา 11 แห่งในเครือข่าย ซึ่งประชุมเพื่อหาแนวทางสร้างคุณภาพทางการศึกษาให้เป็นแนวทางเดียวกัน เพื่อกระจายคุณภาพไปยังโรงเรียนพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้ มีกลุ่มโรงเรียนเครือข่ายอย่างโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนเตรียมพัฒน์ เป็นต้น  

 

“ผมจะเชิญมาหารือเพื่อสร้างคุณภาพในกลุ่มให้ได้ และเป็นแกนหลักกระจายคุณภาพในพื้นที่ โดยสร้างเครือข่ายแบบใยแมงมุม เพื่อสร้างคุณภาพทางการศึกษาได้อย่างรวดเร็ว” พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าว

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage