สมศ.ปลื้ม สถานศึกษาขอรับการประเมินภายนอกเกินเป้า ลั่น!!พร้อมจัดการพวกมีผลประโยชน์ทับซ้อน

 

สมศ.ปลื้ม สถานศึกษาขอรับการประเมินภายนอกเกินเป้า ลั่น!!พร้อมจัดการพวกมีผลประโยชน์ทับซ้อน

 

สมศ. เผยประเมินคุณภาพภายนอก ปี 2567 สถานศึกษาตอบรับดีเกินคาด สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ กว่าร้อยละ 20 ครอบคลุมทุกสังกัด โดยมีปัจจัยสำคัญรูปแบบใหม่ที่เน้นเพื่อพัฒนา และ ลดภาระสถานศึกษาได้จริง

 

ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวว่าการประเมินคุณภาพภายนอกของปีงบประมาณ 2567 ได้เริ่มขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ โดยปีนี้มีความล่าช้ากว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากต้องรอให้การประกาศเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอก ครบ 1 ปี เมื่อช่วงมิถุนายน ที่ผ่านมา   และได้เริ่มลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษา ตั้งแต่กรกฎาคมนี้ เป็นต้นไป

 

ทั้งนี้ สมศ. ได้ปรับกรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอก โดยยึด 3 ประเด็นหลัก คือ ให้ความสำคัญกับการประกันคุณภาพภายนอกเพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพ (Quality Improvement) เน้นลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้สนับสนุนการประเมินตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ซึ่งปรากฏว่า ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี มีสถานศึกษาแจ้งความประสงค์ขอเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกเข้ามาถึง 5,134 แห่ง สูงกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ประมาณ 4,220 แห่ง

 

 

ดร.นันทา กล่าวเพิ่มเติมว่า การประเมินคุณภาพภายนอกในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นี้ เดิม สมศ. กำหนดเป้าหมายอยู่ที่ประมาณ 4,220 แห่ง สำหรับโรงเรียนที่ครบรอบการประเมิน 5 ปี และโรงเรียนขนาดเล็กหรือโรงเรียนขยายโอกาสที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน

 

แต่ปรากฏว่า มีสถานศึกษาที่แจ้งความประสงค์ผ่านหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อขอรับการประเมินคุณภาพภายนอกเข้ามาถึง 5,134 แห่ง หรือเพิ่มขึ้นราว 20% ครอบคลุมทั้งการศึกษาปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็ก) การศึกษาขั้นพื้นฐาน และด้านการอาชีวศึกษา โดยกำหนดการประเมินแล้วเสร็จภายในกลางเดือนกันยายน 2567

 

เพื่อให้การประเมินคุณภาพภายนอกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา สมศ. ได้มีการประชุมเตรียมความพร้อมอีกครั้งก่อนลงพื้นที่จริง และได้มีการประชุมชี้แจงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Facebook Live) ให้กับสถานศึกษาและผู้ประเมินภายนอกเพื่อให้รับทราบร่วมกันเกี่ยวกับการลงพื้นที่ว่า สถานศึกษาต้องดำเนินการอย่างไร ผู้ประเมินต้องปฏิบัติอย่างไร และที่สำคัญเพื่อให้สถานศึกษาได้ทราบข้อมูลและมีความเข้าใจที่ตรงกัน  

  

“นอกจากนี้ สมศ.จะมีการสุ่มเข้าไปสังเกตการณ์การประเมินภายนอกโดยไม่แจ้งล่วงหน้าให้ทราบด้วย และในกรณีที่สถานศึกษาเห็นว่า ผู้ประเมินภายนอกมีประเด็นมีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest) กับสถานศึกษา ก็สามารถแจ้งมายัง สมศ. เพื่อขอเปลี่ยนแปลงผู้ประเมินภายนอกได้ทันที

 

 เพื่อให้สถานศึกษาสามารถนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกไปปรับใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุง แก้ไข หรือวางแผนการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพสถานศึกษาและคุณภาพของผู้เรียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยในภาพรวม” ดร.นันทา กล่าว