“สานิตย์” จี้!บิ๊ก สกสค.เร่งแก้ปัญหา 3 เรื่องใหญ่ ก่อนเข้าสู่ภาวะล่มสลายภายใน 3 ปี


จากกรณีนายธนพร สมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ซึ่งกำกับดูแลองค์การค้าของ สกสค. ระบุว่าผู้บริหาร สกสค.ชุดใหม่กำลังบูรณาการชำระหนี้สินขององค์การค้าฯให้เป็นศูนย์ และมุ่งสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นองค์กรที่ดีและมีมาตรฐาน ตามนโยบายนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นั้น

นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า ปัญหาหนี้สินขององค์การค้า สกสค.ที่ผ่านมา ได้กู้ยืมเงินจาก สกสค.ไปชำระหนี้แล้วรวมกว่า 3,000 ล้านบาท โดยล่าสุดกู้ยืมไปชำระหนี้ค่ากระดาษ 200 ล้านบาท ตามที่ตนเคยตั้งข้อสังเกตว่า มีเงื่อนงำไม่โปร่งใสอย่างไรหรือไม่ เพราะมีกระแสข่าวว่าไม่ได้ผ่านระบบบัญชีตามระเบียบขององค์การค้าฯ มีเพียงลงนามสัญญากู้ยืมเท่านั้น จึงเกรงจะมีปัญหาทวงคืนในภายหลัง

แม้ว่านายธนพรจะระบุว่า องค์การค้าฯยังมีภาระหนี้สินรวมกว่า 5,000 ล้านบาท โดยในยุคของนายณัฏฐพลได้กู้ยืมเงินจาก สกสค.ไปจ่ายหนี้แล้วรวม 800 ล้านบาท ซึ่งได้ทำสัญญากู้ยืมเรียบร้อย และมีกำหนดชำระหนี้คืนให้เสร็จสิ้นภายในปี พ.ศ.2564 นั้น ตนจะรอดูว่า นายธนพรจะมีความสามารถทำให้องค์การค้าฯชำระหนี้ สกสค.ได้จริงหรือไม่

เพราะที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีใครบรรเทาปัญหาหนี้สินขององค์การค้าฯได้สำเร็จ อีกทั้งไม่ทราบว่านายธนพรจะอยู่ สกสค.ได้นานแค่ไหน เนื่องจากมีกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยนายณัฏฐพลอาจโยกไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงอื่น ภายหลังสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลงในเร็วๆ นี้

นายสานิตย์กล่าวต่อว่า ดังนั้น จากแนวโน้มสภาพการณ์ดังกล่าว สิ่งที่คณะผู้บริหาร สกสค.ชุดใหม่ที่แต่งตั้งโดยนายณัฏฐพล ควรจะต้องเร่งดำเนินการ คือ 1.จัดหาบริษัทประกันเงินกู้ คิดเบี้ยประกันราคาถูกให้กับสมาชิก ช.พ.ค.ที่กู้ยืมเงินในโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค. เพราะทราบว่ามีเรื่องการเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง 2 ชุด มานานพอสมควรแล้ว

แต่ยังไม่เห็นมีการคัดเลือกบริษัทประกันใดให้กับสมาชิก ช.พ.ค. จนหลายเดือนมานี้มีสมาชิก ช.พ.ค.และผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก เดือนร้อนใจและเกิดปัญหาต่างๆ ในเวลานี้ โดยเฉพาะสมาชิกที่อายุใกล้ 65 ปีขึ้นไป บริษัทประกันจะไม่รับทำประกันให้

ซึ่งอาจทำให้ผู้คำประกัน ตลอดจนถึงทายาทผู้เอาประกัน เกิดปัญหาได้ เช่น ต้องชำระหนี้สินเงินกู้ที่เหลือแทน หากผู้กู้เสียชีวิตลงขณะที่ยังไม่ได้ทำประกันเงินกู้ และยังมียอดหนี้สินสูงกว่าจำนวนเงินฌาปนกิจ ช.พ.ค.ที่จะได้รับไม่ถึง 1 ล้านบาทแล้วในปัจจุบัน

2.คณะผู้บริหาร สกสค.ชุดใหม่จะต้องเร่งติดตามทวงหนี้จากสมาชิก ช.พ.ค.จำนวนหลักหมื่นคน ที่เบี้ยวผ่อนชำระหนี้เงินกู้ ช.พ.ค.ให้กับธนาคารออมสิน ซึ่งที่ผ่านมาผู้บริหาร สกสค.ได้นำเงินกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.ไปจ่ายแทน รวมแล้วหลักหมื่นล้านบาท โดยมีบางจังหวัดจ่ายแทนไปแล้ว 400-500 บาท

นี่ยังไม่นับรวมที่ผู้บริหาร สกสค.ในยุคต่างๆ ที่นำเงินกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ ช.พ.ค.ไปให้องค์การค้าฯกู้ยืมแล้วรวมกว่า 3,000 ล้านบาท จนทุกวันนี้เงินกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ ช.พ.ค.แทบจะไม่เหลือแล้ว

กระทั่งมีอดีตผู้บริหาร สกสค.บอกกับตนว่า ภายใน 3 ปีนี้ สกสค.จะขาดสภาพคล่องทางการเงิน จนสร้างปัญหาต่อการดำเนินงานในส่วนงานต่างๆ ของ สกสค.ทั่วประเทศอย่างแน่นอน เช่น อาจจะไม่มีเงินจ้างผู้อำนวยการ สกสค.จังหวัด และไม่มีเงินจ่ายค่าบริหาร สกสค.จังหวัดต่างๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ เพราะเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา สมัย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้ทำความตกลงกับธนาคารออมสินไม่รับคืนเงินลูกหนี้ชั้นดีหักเข้ากองทุนดังกล่าว แต่ให้จ่ายคืนแก่สมาชิก ช.พ.ค.ผู้กู้เป็นส่วนลดดอกเบี้ยเงินกู้โดยตรง ส่วนเงินงบประมาณแผ่นดินที่ได้รับสนับสนุนจากรัฐบาลในแต่ละปี ก็ได้เพียงไม่กี่ล้านบาทเท่านั้น

นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิกล่าวอีกว่า สิ่งที่คณะผู้บริหาร สกสค.ชุดใหม่ ต้องเร่งดำเนินการในเรื่องที่ 3. คือ การพิจารณาดำเนินโครงการต่างๆ ที่ใช้จ่ายเงินอย่างประหยัดและคุ้มค่า เพื่อความอยู่รอดของ สกสค.ดังกล่าวนั่นเอง

เช่น ที่นายธนพรระบุว่า กำลังจะเคลียร์หนี้ค่ากระดาษให้กับโรงงานอุตสาหกรรมกระดาษบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยาอีก 10 ล้านบาท ก็ควรใช้เงินรายได้จากการพิมพ์แบบเรียนขององค์การค้าฯมาแก้ปัญหาเอง ไม่ใช่ให้มากู้จาก สกสค.อีก

รวมถึงกรณีที่ผู้บริหาร สกสค.เพิ่งจัดสรรเงินให้กับ สกสค.จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศรวมจำนวนกว่า 14 ล้านบาท เพียงเพื่อทำโปสเตอร์ ป้ายไวนิล และแผ่นพับ เพื่อการประชาสัมพันธ์เปิดรับสมัครสมาชิก ช.พ.ค.-ช.พ.ส.กรณีพิเศษ ทั้งๆ ที่ครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีหน่วยงานต้นสังกัดอยู่แล้ว เพียงแค่ทำหนังสือแจ้งต้นสังกัด แจ้งสถานศึกษาแต่ละแห่งให้รับทราบก็จบแล้ว ทำไมจะต้องใช้เงินมากมายขนาดนี้ โดยไม่มีหลักประกันด้วยซ้ำว่า จะได้สมาชิกเพิ่มมาจำนวนเท่าใด

“ผมไม่อยากให้เกิดความเสียหายต่อ สกสค.อีกต่อไปแล้ว เพราะเป็นองค์กรที่จะต้องทำหน้าที่ดูแลเรื่องของสวัสดิการและสวัสดิภาพให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งยังประสบปัญหากันอีกมาก จึงอยากเรียกร้องผู้บริหาร สกสค.ทุกยุคว่า ต้องแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อองค์กรด้วย แม้ว่าจะมีวาระนั่งบริหารอยู่ได้ไม่นานก็ตาม” นายสานิตย์กล่าว