ศธจับมือแรงงาน MOU 22 สถานประกอบการ นำ นักเรียน นักศึกษา มีงานทำช่วงปิดภาคเรียนสร้างรายได้

 

 

 

 

 

วันที่ 19 กันยายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการมีงานทำให้นักเรียน นักศึกษา ช่วงปิดภาคเรียน โดยมีนายวิทวัต ปัญจมะวัต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมลงนาม และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นเกียรติในงาน ทั้งนี้ ผู้แทนจากสถานประกอบการ 22 แห่ง ร่วมลงนาม ณ ห้องประชุม ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน

 

 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ กล่าวว่า ตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่ให้ความสำคัญในการวางรากฐานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยการสร้างโอกาสให้คนไทยทุกคนได้มีโอกาสในการทำงาน การได้รับสิทธิคุ้มครองและผลตอบแทนที่เหมาะสม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับคนไทยทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน นิสิต และนักศึกษา ที่เป็นหนึ่งในกำลังแรงงานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต กระทรวงแรงงาน จึงได้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการมีงานทำให้นักเรียน นักศึกษาในช่วงปิดภาคเรียนหรือช่วงว่างจากการเรียนขึ้น ระหว่าง"กระทรวงแรงงาน" โดย กรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม และ"กระทรวงศึกษาธิการ" โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมกับสถานประกอบการชั้นนำอีก 22 แห่ง พร้อมจัดเตรียมตำแหน่งงานทั่วประเทศ รองรับการทำงานของ นักเรียน นิสิต และ นักศึกษา เป็นจำนวนกว่า 10,000 อัตรา เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของกำลังแรงงานในอนาคตให้มีความรู้ ความเข้าใจถึงลักษณะงาน ความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในด้านทักษะและกายภาย รวมถึงสามารถนำประสบการณ์จากการทำงานจริงมาใช้เพื่อการวางแผนการยกระดับความสามารถและพัฒนาทักษะของตนเองให้มีความเหมาะสมและตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานภายหลังจากจบการศึกษา และยังเป็นการสร้างรายได้ตั้งแต่วัยเรียนลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้อีกด้วย

 

 

นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล กล่าวว่า รู้สึกยินดีได้ที่มาร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ และขอชื่นชมกระทรวงแรงงานสร้างโอกาส สนับสนุน นักเรียน นักศึกษา ที่ประสงค์จะทำงาน ให้มีงานทำที่เหมาะสม ได้รับประสบการณ์จากการทำงานจริง ได้เรียนรู้โลกของอาชีพ ซึ่งในส่วนของสถาบันการศึกษาจะร่วมประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการมีงานทำ และกำหนดหลักสูตรการศึกษาที่เหมาะสม ตรงตามความต้องการของนักเรียน นักศึกษา และตลาดแรงงานต่อไป

 

 

ด้าน นายวิทวัต ปัญจมะวัต  กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) นำนโยบายกระทรวงศึกษา สู่การปฏิบัติ ขับเคลื่อน Learn To Earn ผู้เรียนอาชีวะจบแล้วมีงานทำ มีความรู้ ทักษะ มีความสามารถจากการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ซึ่งเป็นส่วนในการพัฒนาผู้เรียนอาชีวะ อีกส่วนที่สำคัญ คือ มีรายได้ระหว่างเรียน สามารถนำความรู้ทักษะทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ควบคู่กับการเรียน เมื่อจบหลักสูตร ผู้เรียนอาชีวะจะมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงแรงงานและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในปัจจุบันสถานประกอบการก็เปิดรับนักศึกษาเพิ่มมากขึ้น ความมือกับสถานประกอบการจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดย สอศ. พร้อมร่วมพัฒนาหลักสูตรและเปิดสาขาที่ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ เพื่อส่งต่อผู้เรียนอาชีวะเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีคุณภาพ

 

 

ทั้งนี้ นักเรียน นักศึกษา สามารถหางานผ่านเว็บไซต์ “ไทยมีงานทำ.doe.go.th” หรือแอปพลิเคชัน “ไทยมีงานทำ” โดยคนหางานสามารถค้นหาข้อมูลตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด ในตำแหน่งงานตามพื้นที่ และ ภูมิลำเนา รวมถึงจับคู่ตำแหน่งงานจากความรู้ ความสามารถ และทักษะที่มีอยู่  ส่วนนายจ้าง สถานประกอบการ ที่ต้องการเพิ่มช่องทางรับสมัครงาน สามารถลงทะเบียนนายจ้าง เพื่อประกาศตำแหน่งงาน และคัดลอกรายชื่อผู้หางาน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694

 

 

โดยมีสถานประกอบการชั้นนำอีก 22 แห่ง ร่วมลงนามดังนี้ เซ็นทรัล เรสเตอรองส์ กรุ๊ป เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เดอะมอลล์ กรุ๊ป แมคไทย เชสเตอร์ฟู้ด ซูกิชิ พีทีจี เอ็นเนอยี ซีพี แอ็กซ์ตร้า เคที เรสทัวรองท์ เซ็น คอร์ปอเรชั่น เอส เอฟ บีเอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ โจนส์สลัด มีทชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล ฟู้ด คอฟฟี่ คอนเซ็ปต์ รีเทล บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์  โออิชิ กรุ๊ป บางจากรีเทล อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ ปลูกผักเพราะรักแม่ และ แบล็ค แคนยอน