แซด!ซื้อโน๊ตบุ๊คแจก ศน. “องค์กรครู” ห่วงทุ่มงบฯสอนออนไลน์ไม่คุ้มค่า โผล่มติ ครม.ไฟเขียว 5.2 หมื่น ล.พัฒนา ร.ร.คุณภาพตำบล สพฐ.

นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ให้สัมภาษณ์กรณีมีกระแสข่าวกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขอใช้งบประมาณแผ่นดิน 240 ล้านบาท เพื่อไปดำเนินการเตรียมความพร้อมรองรับการเรียนการสอนออนไลน์ช่วงก่อนเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563 ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ว่า

ตนได้รับฟังเสียงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) หลายแห่ง วิพากษ์วิจารณ์เชิงวิตกกังวลเช่นกันว่า การทุ่มงบประมาณเพื่อจัดการเรียนการสอนออนไลน์ช่วงก่อนเปิดภาคเรียนดังกล่าว จะมีความคุ้มค่ากับผลลัพธ์ที่ออกมาหรือไม่

ทั้งที่เรามีระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ที่ถ่ายทอดสดการเรียนการสอน และมีสื่อการสอนในทุกระดับชั้นจากโรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์อยู่แล้ว ทำไมเราต้องมาแยกอีกว่าระดับอนุบาล-ม.3 เรียนผ่านระบบ DLTV แต่ชั้น ม.4-6 เรียนการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (ผ่านสื่อ สพฐ.)

ซึ่งต้องเสียงบประมาณในการอบรมเตรียมความพร้อมให้กับครูประจำวิชาอีก ในขณะที่มีข้อจำกัดในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด รวมทั้งยังต้องใช้งบประมาณดำเนินการเรื่องการผลิตสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ ผลิต VTR 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ผลิตชุดโปรแกรมและแพลตฟอร์มการเรียนรู้ครบวงจร เช่น E-book , Tuter ติวฟรี.com

นอกจากนี้ ตนเพิ่งได้รับทราบกระแสข่าวจากกลุ่มผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาบางคนว่า อาจจะมีการใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คให้กับกลุ่มศึกษานิเทศก์ (ศน.) ในเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศด้วย เพื่อใช้ติดตามนิเทศการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ช่วงก่อนเปิดเทอม

“ถ้าเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการใช้งบฯเพื่อเตรียมการสอนออนไลน์ดังกล่าวเป็นจริง ผมคิดว่าผลที่ได้รับต่อคุณภาพนักเรียน จะไม่คุ้มค่ากับการใช้งบประมาณแผ่นดินจำนวนมากดังกล่าว ถือเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ” นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิกล่าว และว่า

เนื่องจากการสอนออนไลน์ครั้งนี้ เป็นลักษณะเพียงการสอนฆ่าเวลาก่อนเปิดเทอม เมื่อถึงเวลาเปิดเทอมเด็กก็ต้องไปเรียนใหม่อยู่ดี อีกทั้งจากข่าวที่ปรากฏเรื่องการสำรวจความพร้อมทางเทคนิคก็มีปัญหาอยู่มาก

แม้แต่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก็มีปัญหาสัญญาณ Internet ที่บ้านนักเรียนถึงร้อยละ 21.8 มีความเร็วน้อยกว่า 49 Mbps หรือไม่มีสัญญาณและอุปกรณ์เลย ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการเรียนแบบออนไลน์ ด้วยการชมคลิปวีดิโอการสอนและการประชุม conference จากโปรแกรม Zoom, MS Team, Google Hangout

ส่วนสัญญาณ Internet โทรศัพท์มือถือของนักเรียน ก็พบว่านักเรียนเพียงร้อยละ 17.7 เท่านั้นที่มีปริมาณ Download/Upload มากกว่า 40 GB ขึ้นไป ที่พอจะใช้ในการดูคลิปวีดิโอ และ Online conference ต่อเดือนได้บ้าง ซึ่งสรุปได้ว่า ต้องเป็นนักเรียนที่มี Internet บ้านที่เร็วมากพอเท่านั้น จึงจะสามารถเรียนออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ดังนั้น จึงไม่ต้องพูดถึงนักเรียนในต่างจังหวัด โดยเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล 2 หมื่นกว่าโรงเรียน คงรอดยาก ผมจึงขอวิงวอนให้คณะรัฐมนตรีใน ศธ. และรัฐบาลได้พิจารณาใช้งบประมาณแผ่นดินที่มีอยู่จำกัด โดยเฉพาะในห้วงเวลาสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาดเช่นนี้ ได้พิจารณาใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่า เห็นแก่ประโยชน์ของชาติมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว” นายสานิตย์กล่าว

อนึ่ง กระทรวงศึกษาธิการได้เผยแพร่ข่าว มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบในหลักการโครงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพเพิ่มขีดความสามารถให้กับนักเรียน สำหรับโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล จำนวน 8,224 โรงเรียน ในกรอบวงเงิน 51,904.73 ล้านบาท

โดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 ว่า ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบในหลักการโครงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพเพิ่มขีดความสามารถให้กับนักเรียน สำหรับโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล จำนวน 8,224 โรงเรียน ในกรอบวงเงิน 51,904.73 ล้านบาท ภายใต้ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2563-2565 (3 ปี)

โดยเป้าหมายเพื่อพัฒนาโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 8,224 โรงเรียน แบ่งเป็นระดับประถมศึกษา 7,079 โรงเรียน และระดับมัธยมศึกษา 1,145 โรงเรียน ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามบริบทของชุมชนตนเอง

ซึ่งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน บ้าน (ครอบครัว) วัด/ศาสนสถานอื่นๆ และโรงเรียน ซึ่งจะทำให้ชุมชนเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ และทำให้ “โรงเรียนกลายเป็นศูนย์กลางในชุมชน” อย่างแท้จริง   

ทั้งนี้ สพฐ.ได้รับงบประมาณโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ดังนั้น เพื่อให้โครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง จึงขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2565 เพื่อมุ่งเน้นการดำเนินการใน 3 ด้านที่สำคัญ คือ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน , ด้านการส่งเสริมการศึกษา เพื่อเพิ่มทักษะด้านต่าง ๆ ให้กับผู้เรียน และการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา และ ด้านการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในพื้นที่นั้นๆ ในการบริหารจัดการการศึกษา

ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนโครงการ ได้แก่ 1.การพัฒนาตามแนวนโยบายโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ทั้งในเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและผู้เรียน รวมถึงบุคลากรทางการศึกษา 2.การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency – Based Curriculum)

3.การพัฒนาด้านภาษาอังกฤษ ด้วยการจ้างครูชาวต่างชาติ 4.การพัฒนาด้านการเรียนการสอนภาษาจีน และ 5.การพัฒนาและส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ทั้งนี้ กรอบวงเงินงบประมาณดำเนินการ แบ่งเป็น 1.งบลงทุน 19,766.02 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วัสดุอุปกรณ์ สื่อและสถานที่ให้เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น ห้องเรียนอัจฉริยะ ห้องปฏิบัติการและแหล่งเรียนรู้ Coding STEM ห้องปฏิบัติการด้านภาษา (Sound Lab) และสนามกีฬา เป็นต้น

2.งบดำเนินงาน 30,477.49 ล้านบาท สำหรับใช้ในการจัดกิจกรรมเสริมสร้างการพัฒนาความสามารถด้านภาษาอังกฤษ และภาษาจีนของผู้เรียน และกิจกรรมพัฒนาบุคลากร เป็นต้น

และ 3.งบรายจ่ายอื่น 1,661.22 ล้านบาท เพื่อดำเนินการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านแนวทางการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลในต่างประเทศ และการจัดทำเครื่องมือวัดประเมินผลระดับชั้นเรียนที่มุ่งเน้นวิทยาการคำนวณ และการออกแบบเทคโนโลยี เป็นต้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น สพฐ.จะต้องจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยดำเนินการอย่างโปร่งใส คำนึงถึงความคุ้มค่า ประหยัด ต้นทุนที่เหมาะสม ผลประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ รวมถึงความครอบคลุมของงบประมาณ เพื่อลดภาระงบประมาณของภาครัฐในระยะยาว อันจะนำไปสู่เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของภาครัฐในภาพรวม โดยพิจารณาเป้าหมายและประโยชน์ของทางราชการเป็นสำคัญ