เครือข่ายคนรักษ์อาชีวะยื่น “บิ๊กตู่-ป.ป.ช.” สางธรรมาภิบาลใน สอศ. จับมือ!องค์กรครูรัฐ-เอกชนรุกฟ้องศาล ปมแต่งตั้งลูกชายปลัด ศธ.-9 รองอธิบดี

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 นายเศรษฐศิษฏ์ ณุวงค์ศรี ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือในนามเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย ส่งถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี , คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

เรียกร้องขอให้ตั้งกรรมการสอบการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การกระทำผิดระเบียบปฏิบัติราชการ และขอให้ย้ายผู้บริหารระดับสูงบางตำแหน่งในสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ออกจากตำแหน่ง

โดยสาระสำคัญในหนังสือดังกล่าว “มีการกล่าวหาเรื่องการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และการกระทำผิดระเบียบปฏิบัติราชการ เกี่ยวข้องกับเรื่องการแต่งตั้งข้าราชการรักษาราชการแทน , เรื่องการรับโอนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามาบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ และเลื่อนขึ้นให้ดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูง

เรื่องเกี่ยวข้องกับการให้ข้าราชการข้าราชครูและบุคลากรทางการศึกษาช่วยปฏิบัติราชการ , เรื่องการจัดตั้งสำนักงานบริหารงานบุคคลและนิติการ และจัดตั้งศูนย์บริการและซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลเกษตร เป็นหน่วยงานภายในสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รวมทั้งเรื่องการมอบหมายหน้าที่ราชการ

ซึ่งเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย ได้รับการร้องขอจากข้าราชการครู ผู้บริหารและข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้ช่วยเป็นตัวแทนร้องขอความเป็นธรรมต่อนายกรัฐมนตรี อันเนื่องจากการบริหารงานที่ไม่โปร่งใส ขาดหลักธรรมาภิบาลของผู้บริหารระดับสูงใน สอศ.บางตำแหน่ง

เช่น เกี่ยวกับเรื่องการเสนอโยกย้ายแต่งตั้งแบบข้ามหัวข้ามห้วย สร้างความแตกแยกในหมู่ข้าราชการ สอศ. และสร้างความไม่เป็นธรรมในหมู่ข้าราชการครูหลายประการ

ถ้านายกรัฐมนตรีไม่เร่งแก้ปัญหาตามแนวทางที่เครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทยได้นำเรียนเสนอดังกล่าว มีแต่จะสร้างความเสียหายต่อราชการ และจะเกิดความแตกแยกในหมู่ข้าราชการ สอศ.”

ทั้งนี้ เครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย ยังได้แนบคำสั่งและหลักฐานการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และการกระทำผิดระเบียบปฏิบัติราชการของผู้บริหารระดับสูงใน สอศ.บางตำแหน่ง นำเสนอต่อพลเอกประยุทธ์ได้เห็นและพิจารณาแก้ปัญหาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นด้วย

นายเศรษฐศิษฏ์ ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ด้วยว่า เร็วๆ นี้ เครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย จะร่วมกับเครือข่ายองค์กรครูทั้งภาครัฐและเอกชนหลายองค์กร ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) , พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี , สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) , สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และศาลปกครอง

ขอให้ตรวจสอบความถูกต้องตามกฎ ระเบียบราชการ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเอาผิดผู้เกี่ยวข้องทั้งทางวินัย และอาญามาตรา 157 หากพบทำผิดระเบียบราชการและกฎหมายจริง กรณีการแต่งตั้งโยกย้ายนายสัมนาการณ์ บุญเรือง ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อำเภอหนองกี่ จ.บุรีรัมย์ บุตรชายนายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.)

รวมไปถึงกรณีการพิจารณาคัดเลือกผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งผู้บริหารต้น ระดับ 9 เทียบเท่ารองอธิบดี ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) รวม 8 ตำแหน่ง และการพิจารณาคัดเลือกผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งผู้บริหารต้น ระดับ 9 ตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ระดับ 9 เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

โดยเฉพาะการตรวจสอบในข้อครหาการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.ที่เกี่ยวข้อง ขัดกับ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 13 และมาตรา 14 หรือไม่ ที่บัญญัติให้นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัด ศธ. ผู้เป็นบิดานายสัมนาการณ์ บุญเรือง จะต้องแจ้งเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายบุตรชาย ต่อนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ในฐานะผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปชั้นหนึ่งทราบ เพื่อที่นายณัฏฐพลจะได้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด

นอกจากนี้ จะได้ตรวจสอบความถูกต้องในการปฏิบัติหน้าที่ของ อ.ก.พ.กระทรวงศึกษาธิการ ในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 ที่มีมติให้เทียบประสบการณ์ในงานที่หลากหลายตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งประเภทอำนวยการ ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว 17 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 ซึ่งใช้ประกอบการออกคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายนายสัมมนาการณ์ ครั้งนี้

ซึ่งในการประชุม อ.ก.พ.ศธ.นั้น ปกติจะมีนายณัฏฐพล รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธานโดยตำแหน่ง แต่ไม่ทราบว่าในการประชุมวันดังกล่าวนายณัฏฐพลจะนั่งเป็นประธานเอง หรือมอบหมายใครเป็นประธานหรือไม่ หรือมอบหมายนายประเสริฐ ปลัด ศธ.

ถ้านายณัฏฐพลมอบหมายนายประเสริฐ ก็จะมีกรณีต้องตรวจสอบอย่างน้อยอีก 2 กรณีต่อเนื่องคือ 1.นายณัฏฐพลต้องรับผิดชอบอะไรด้วยหรือไม่ ถ้ารับทราบแล้วว่าการประชุมวันนั้นมีวาระพิจารณาเรื่องบุตรชายนายประเสริฐ

และ 2.ถ้านายประเสริฐรับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม อ.ก.พ.ศธ.ในวันนั้น แล้วมอบหมายให้บุคคลอื่นมาทำหน้าที่แทนฐานะปลัด ศธ.ในที่ประชุม ก็อาจจะเข้าข่ายขัด พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 หลายกรณีตามมาตรา 14 , 15 , 16 เช่น การใช้อำนาจซ้ำซ้อนของนายประเสริฐ

ซึ่งอาจจะถึงขั้นทำให้มติการพิจารณาเทียบประสบการณ์ในงานที่หลากหลายตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งประเภทอำนวยการของนายสัมนาการณ์ บุญเรือง ถือเป็นโมฆะได้ ดังที่ศาลปกครองชั้นต้นเคยตัดสินให้การสรรหาเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ครั้งที่ผ่านมาเป็นโมฆะมาแล้ว ก็ด้วยเหตุที่ปลัด ศธ.ในขณะนั้นถูกร้องว่าใช้อำนาจซ้ำซ้อนในลักษณะเดียวกันนี้

“กรณีที่นายณัฏฐพลให้สัมภษณ์ว่าคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายนายสัมนาการณ์ บุญเรือง ถือว่าดำเนินการถูกต้องตามระเบียบ เราก็ต้องให้โอกาสนั้น ตนไม่ทราบว่านายณัฏฐพลจะทราบหรือไม่ว่า การแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ ไม่ได้เปิดโอกาสให้กับคนอื่นๆ จำนวนมากที่มีคุณสมบัติไม่ต่ำกว่านายสัมนาการณ์ ได้รับสิทธิในการพิจารณาแต่งตั้งเช่นนี้ด้วย” นายเศรษฐศิษฏ์กล่าว

ด้านแหล่งข่าวใกล้ชิดรองเลขาธิการสภาการศึกษา หรือ สกศ. ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพิจารณาคัดเลือกผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ สกศ. เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา กล่าวกรณีนายณัฏฐพลให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องที่มีการแอบอ้างชื่อผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. 2 คน ในการพิจารณาคัดเลือกผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ สกศ. โดยนายณัฏฐพลบอกว่า ยังไม่ได้รับทราบเรื่องดังกล่าว แต่จะตรวจสอบและติดตามเรื่องนี้นั้น

“ถ้านายณัฏฐพลจะตรวจสอบเรื่องนี้จริงๆ ทางรองเลขาธิการสภาการศึกษาที่เกี่ยวข้องยินดีไปให้ข้อมูล รวมทั้งขอให้เรียกกรรมการพิจารณาคัดเลือก โดยเฉพาะประธานกรรมการไปให้ข้อมูลข้อเท็จจริงด้วย”