เลขาธิการ กศน. แนะใช้ช่องทางออนไลน์! เทิดพระเกียรติ “เจ้าฟ้านักอ่าน”

 

ดร.ดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เปิดเผยว่า วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “เจ้าฟ้านักอ่าน” และวันรักการอ่าน

ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่ชาว กศน.ทั่วประเทศ โดยเฉพาะแหล่งเรียนรู้ในสังกัดสำนักงาน กศน. ได้แก่ ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” กว่า 100 แห่ง ห้องสมุดประชาชนจังหวัดละอำเภอ กว่า 900 แห่ง ตลอดจนห้องสมุดเคลื่อนที่สำหรับชาวตลาด และบ้านหนังสือชุมชนที่กระจายอยู่ในทุกชุมชนของประเทศไทย จะจัดกิจกรรมเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสพิเศษดังกล่าวเป็นประจำทุกปี

ด้วยคุณูปการของพระองค์ในด้านการส่งเสริมการอ่าน การส่งเสริมการรู้หนังสือ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยทั่วประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ยากลำบากเพียงใด บนพื้นที่สูง หรือเกาะแก่งห่างไกล ก็มีโอกาสได้เข้าถึงการเรียนรู้ ซึ่งจำเป็นต้องใช้กุญแจสำคัญในการไขประตูสู่การเรียนรู้ในเรื่องต่างๆกุญแจดอกดอกนี้ เรียกว่า “การอ่าน”

สำหรับกิจกรรมในปีนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่กระจายของไวรัส Covid-19 ทำให้เกิดข้อจำกัดในเรื่องของการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่อาจมีการรวมกลุ่ม ซึ่งจะส่งผลต่อความเสี่ยงในการแพร่กระจายไวรัสดังกล่าวเพิ่มเติมได้

ดังนั้น สำนักงาน กศน.จึงได้ให้แนวทางและรณรงค์ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติออนไลน์ในโอกาสวันรักการอ่าน ทดแทนกิจกรรมในห้องสมุดประชาชน เนื่องจากการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และตอบโจทย์การเรียนรู้ในสถานการณ์ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

เพราะ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นต้นแบบที่ชาว กศน.เทิดทูนบูชา เป็นแบบอย่างในเรื่องรักการอ่านได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากพระจริยวัตรที่พระองค์ทรงอ่านหนังสือทุกครั้งที่มีโอกาส อีกทั้งยังจดบันทึกทุกครั้งที่เสด็จฯ ไปในทุกสถานที่อีกด้วย และทรงนำความรู้ไปใช้ในการทรงงานของพระองค์

ผลงานเชิงประจักษ์ คือ โครงการพระราชดำริ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ผู้ด้อยโอกาสต่างๆ และยังทรงมีผลงานพระราชนิพนธ์มากมาย สมแล้วกับที่เป็น “เจ้าฟ้านักอ่าน” ที่สถิตอยู่ในหัวใจไทยทุกคน ดังบทกลอนที่ได้พระราชทานแก่ประชาชน เพื่อกระตุ้นเตือนให้ทุกคนให้ความสำคัญกับการอ่านตลอดชีวิต ความว่า

“หนังสือนี้มีมากมายหลายชนิด     นำดวงจิตเริงรื่นชื่นสดใส
ให้ความรู้สำเริงบันเทิงใจ               ฉันจึงใฝ่ใจสมานอ่านทุกวัน
มีวิชาหลายอย่างต่างจำพวก                   ล้วนสะดวกค้นได้ให้สุขสันต์
วิชาการสรรมาสารพัน          ชั่วชีวันฉันอ่านได้ไม่เบื่อเลย”

ดร.ดิศกุลกล่าวเพิ่มเติมถึงการจัดกระบวนการเรียนรู้ของ กศน.ว่า บุคคลแห่งการเรียนรู้ เริ่มจากการอ่านและเสพความรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอ่านจากหนังสือหรือสื่อใดๆ เราจึงต้องสร้างความตระหนัก ปลูกฝังนักศึกษา กศน. ด้วยการให้งานที่เน้นการศึกษาค้นคว้า สรุปสิ่งสำคัญจากการอ่าน ฝึกเขียน เพื่อสร้างปัญญาได้ เริ่มจากนักศึกษา และเชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่ไปยังครอบครัว และชุมชน สังคม

“ถ้าหากคนไม่ตระหนักในความสำคัญของการอ่านและการเรียนรู้แล้ว การพัฒนาในด้านต่างๆ ก็จะยากตามไปด้วย ซึ่งบุคลากร กศน.เองก็ต้องเป็นตัวอย่าง ทำให้เห็นว่า ถ้าเราสามารถสร้างบุคคลแห่งการเรียนรู้ได้ ก็จะสามารถไปสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้  เกิดชุมชนนักอ่าน ชุมชนส่งเสริมการอ่านก็จะเกิดขึ้นตามมา และเมื่อทุกคนเห็นความสำคัญ ก็จะสามารถพัฒนาประเทศชาติต่อไปได้” เลขาธิการ กศน.กล่าว