6 วิธีใส่ใจใส่บาตร เพื่อสุขภาวะที่ดีขึ้นของพระสงฆ์ไทย

เรื่องโดย: ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th ข้อมูลประกอบจากเว็บไซต์สงฆ์ไทยไกลโรค

วันมาฆบูชาตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ซึ่งถือเป็นหลักคำสอนที่สำคัญอันเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา โดยมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ คือ

1. วันนั้นเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3

2. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย

3. พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา 6 ประกอบด้วย ปราศจากกิเลสอันเป็นเครื่องเศร้าหมอง มีฤทธิ์ มีตาทิพย์ หูทิพย์ ระลึกชาติได้ และสามารถกำหนดรู้ใจผู้อื่นได้

4. พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นผู้ได้รับการอุปสมบท โดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือที่เรียกว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”

เพราะเหตุที่มีองค์ประกอบสำคัญดังกล่าว จึงมีชื่อเรียก อีกอย่างหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต"   

สำหรับกิจกรรมทางศาสนาที่พุทธศาสนิกชนนิยมปฏิบัติในวันมาฆบูชา คือ ไปทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา เจริญสมาธิภาวนาในช่วงเช้า และนำดอกไม้ ธูป เทียน ไปเวียนเทียนที่พระอุโบสถในช่วงค่ำ โดยการเวียนเทียนนั้นจะเวียนขวา เป็นจำนวน 3 รอบ และช่วงเวลาที่เดินอยู่นั้นจะระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นอกจากนี้ยังมีการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ตามสถานที่ต่าง ๆ รักษาศีล และประดับธงธรรมจักรตามบ้านเรือน หรือสถานที่สำคัญต่าง ๆ

การทำบุญ ตักบาตรสำหรับชาวพุทธในวันสำคัญเช่นนี้ เป็นที่แน่นอนว่าทุกคนมีความตั้งใจที่จะจัดเตรียมอาหารคาว หวานอย่างประณีตเพื่อถวายแด่พระสงฆ์ แต่อาหารที่เรานำไปถวายนั้นแม้จะเตรียมมาอย่างดี เลือกวัตถุดิบที่สด สะอาด ปรุงรสชาติอย่างพิถีพิถัน แต่ก็มีจุดหนึ่งที่หลายคนมองข้ามไป หรือไม่ได้ใส่ใจมากนัก คือ การเลือกอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ และดีต่อสุขภาพของพระสงฆ์ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวิถีชีวิต สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทำให้หลายคนเลือกซื้ออาหารปรุงสำเร็จ แทนการประกอบอาหารด้วยตัวเอง

ข้อมูลของสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติปี 2559 พบว่า ประเทศไทยมีพระสงฆ์ และสามเณร 358,167 รูป จำนวนนี้ได้รับการตรวจคัดกรองสุขภาพเพียง 122,680 รูป หรือ 34 % เท่านั้น และข้อมูลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีพระสงฆ์ สามเณรอาพาธมารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์ ด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 5 อันดับแรก

คือ โรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง และข้อเข่าเสื่อม ตามลำดับ จากการฉันอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ และการขาดกิจกรรมทางกายของ “พระสงฆ์” ส่งให้แนวโน้มการอาพาธของพระสงฆ์สูงขึ้น ดังนั้น การดูแลสุขภาพและโภชนาการของพระสงฆ์จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

การเตรียมอาหารใส่บาตรถวายพระสงฆ์นั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับต้นๆ คือ คุณค่าทางโภชนาการ วันนี้ ทีมเว็บไซต์สสส.นำวิธีจัดอาหารใส่บาตรที่ถูกต้อง และดีต่อสุขภาพของพระสงฆ์ หรือสูตรที่เรียกว่า “บาตรไทย ไกลโรค” มาบอกเล่าให้คุณผู้อ่านได้นำไปปฏิบัติกัน

6 วิธีใส่ใจใส่บาตร

1. เสริมข้าวกล้อง นำข้าวกล้องและข้าวขาวผสมกันอย่างละ 1 ส่วนเท่า ๆ กัน จะได้ปริมาณที่พอเหมาะ และกากใยที่เพียงพอ

2. เสริมผัก จัดเมนูผัก ให้ท่านได้รับวิตามิน แร่ธาตุ และกากใยอาหารช่วยให้ขับถ่ายสะดวก

3. เสริมปลา จัดเมนูปลาให้ท่าได้ฉันเป็นประจำ ท่านจะมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น เช่น เมี่ยงปลาทู ปลานึ่งมะนาว ต้มยำปลา เป็นต้น

4. เสริมนม อาหารประเภทผัด หรือแกงที่มีส่วนประกอบของกะทิ ให้ลดกะทิลง แล้วใช้นมจืดไขมันต่ำ หรือนมไร้ไขมันแทนกะทิผสมลงไปครึ่งหนึ่ง หรือมากกว่า เพราะนมมีโปรตีนและแคลเซียมสูง ลดความเสี่ยงกระดูกพรุน หรือเลือกนมเป็นน้ำปานะแทนน้ำหวาน หรือน้ำอัดลม หากไม่อยากถวายนมวัว สามารถใช้นมถั่วเหลืองแทนได้ทั้งของคาวหวาน และเครื่องดื่ม

5. ลดเค็ม อาหารพื้นบ้านที่จำเป็นต้องผสมน้ำปลาร้า น้ำบูดู น้ำไตปลาลงไป สามารถใส่ลงไปได้ แต่ให้ลดปริมาณลง

6. ลดมัน ถวายอาหารที่ไขมันต่ำ และมีผักเป็นส่วนประกอบ เช่น ไข่ตุ๋น น้ำพริกผักต้ม สุกี้ เป็นต้น

นอกจากนี้ เรายังสามารถจัดเตรียมอาหารถวายพระสงฆ์ด้วยวิธีง่ายๆ อย่างสูตรเด็ดพิชิตพุง 2:1:1 โดยกำหนดปริมาณอาหารที่เหมาะสมด้วยการกะด้วยสายตา โดยแบ่งสัดส่วนของจานออกเป็น 4 ส่วน และเลือกจัดประเภทอาหารในจานเป็น ผัก 2 ส่วน แป้ง 1 ส่วน และเนื้อสัตว์ 1 ส่วน ซึ่งเป็นปริมาณอาหารที่เหมาะสมต่อมื้อ เพียงเท่านี้พระสงฆ์ท่านก็จะสบายกาย และเราก็ใส่บาตรได้อย่างสบายใจ

แนวโน้มสุขภาวะของพระสงฆ์ไทยก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น สุขภาพของท่านก็จะแข็งแรง สามารถปฏิบัติศาสนกิจ เผยแผ่พระธรรมคำสอน และเป็นเนื้อนาบุญแห่งพุทธศาสนาสืบต่อไป

มาฆบูชาถือเป็นวันสำคัญสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกคน หลักธรรมสำคัญที่ควรน้อมนำมาปฏิบัติ คือ โอวาทปาฏิโมกข์ หรือการละชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส หากเรามีจิตเป็นกุศล คิดดี ทำดี พูดดีกับผู้อื่น ให้ทาน รักษาศีล และฝึกปฏิบัติภาวนาอยู่เสมอ ยิ่งถ้าเราใส่ใจแม้รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างการเลือกอาหารเพื่อใส่บาตรถวายพระสงฆ์ ยิ่งถือว่าเราได้ทำหน้าที่หพุทธบริษัทที่ดี และช่วยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอีกด้วย

โครงการสงฆ์ไทยไกลโรค โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เผยแพร่ข้อมูลและผลิตสื่อด้านโภชนาการที่ถูกต้อง เพื่อช่วยให้ฆราวาสอย่างเราเลือกอาหารคุณภาพดีไปใส่บาตร เพื่อให้พระสงฆ์มีสุขภาพร่างกายที่เเข็งเเรงอย่างยั่งยืน