นักศึกษาเกษตร “ราชภัฏสงขลา” พาเหรดรับรางวัลระดับชาติ

ดร.มงคล เทพรัตน์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สงขลา เปิดเผยว่า ตัวแทนนักศึกษาคณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา เข้าร่วมแข่งขันทางวิชาการและวิชาชีพทางด้านการเกษตร เครือข่ายเกษตรราชภัฏทั่วประเทศ ครั้งที่ 3 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เมื่อเร็วๆ นี้

โดยสามารถทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ประกอบด้วย น.ส.ปวิชญา พงศ์พิริยะปัญญา และนายชินกร แรกสกุล โปรแกรมวิชาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้รับรางวัลชนะเลิศ แข่งขันตอบปัญหาทางวิชาการด้านการเกษตร ด้านประมง, นายวันสมาน หัดมัด และนายอับดุลฮาเล็ม มะ โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ที่มี ดร.ภัทรพร ภักดีฉนวน เป็นอาจารย์ผู้ควบคุม ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตร จากผลงาน “ชุดอุปกรณ์ช่วยผสมติดผลสละ”

และ น.ส.อามีนา บือราเฮง กับ น.ส.ฮูสนา บาบู โปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ซึ่งมี อ.ขนิษฐา หมวดเอียด เป็นผู้ควบคุม ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประกวดนวัตกรรมอาหาร จากผลงาน “การพัฒนาผลิตภัณฑ์เส้นพาสต้าปราศจากกลูเตนจากแป้งข้าวสังข์หยด”

ดร.มงคลกล่าวว่า สำหรับผลงาน “ชุดอุปกรณ์ช่วยผสมติดผลสละ” นั้น เป็นการนำวัสดุเหลือใช้มาประยุกต์ เนื่องจากเล็งเห็นว่าเกษตรกรนิยมปลูกสละเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับความต้องการในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะแนวโน้มการส่งออกในประเทศญี่ปุ่น พม่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และฟิลิปปินส์ แต่การปล่อยให้สละผสมเกสรโดยธรรมชาติทำให้ได้ผลผลิตไม่เต็มที่ ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน เพราะเกสรตัวผู้ของสละไม่แข็งแรง ส่งผลให้เกิดการผสมติดน้อย เกษตรกรจึงนิยมแก้ปัญหาด้วยการนำเอาเกสรตัวผู้ของระกำมาผสม

นอกจากนี้ การบานของดอกที่ไม่พร้อมกัน โดยดอกตัวเมียบานในขณะที่ไม่มีละอองเกสรตัวผู้ ทำให้เสียโอกาสในการผสมเกสร สละจึงเป็นผลไม้ที่ต้องจัดการผสมเกสรเพื่อเพิ่มผลผลิต ซึ่งสามารถทำได้โดยเก็บรวบรวมละอองเกสรสำหรับใช้ในการผสมเกสร และช่วยผสมเกสรสละ

ดังนั้น นายวันสมาน และนายอับดุลฮาเล็ม สองนักศึกษา มรภ.สงขลา จึงออกแบบและสร้างชุดอุปกรณ์ช่วยผสมติดผลสละ ประกอบด้วยอุปกรณ์ช่วยเก็บเกสรตัวผู้ ที่มีการทำงานโดยการสั่นเพื่อเขย่าให้ละอองเกสรร่วงหล่นลงมาในภาชนะรองรับ สำหรับใช้ในการเก็บรวบรวมละอองเกสรตัวผู้ไว้ผสมกับเกสรตัวเมียให้ได้จำนวนมากที่สุด

และอุปกรณ์ช่วยผสมเกสรสละที่มีการทำงานโดยการปั๊มลมเพื่อเป่าให้ละอองเกสรตัวผู้ปลิวออกไปผสมติดกับเกสรตัวเมียได้ทั่วทั้งช่อดอก โดยนำวัสดุที่เหลือใช้มาประยุกต์เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและเกิดประโยชน์ใช้สอยสูงสุด

ส่วนผลงาน “การพัฒนาผลิตภัณฑ์เส้นพาสต้าปราศจากกลูเตนจากแป้งข้าวสังข์หยด” ของ น.ส.อามีนา และ น.ส.ฮูสนา มีที่มาจากการเล็งเห็นว่า หนึ่งในบรรดาพันธุ์ข้าวเพื่อสุขภาพคือ ข้าวสังข์หยด ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ได้แก่ โปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ และเส้นใยอาหาร พาสต้า (Pasta) เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นเส้นและมีความยืดหยุ่น ใช้แป้งสาลีเป็นส่วนผสมหลักในการผลิต แต่กลูเตนเป็นสารก่อภูมิแพ้ทำให้ผู้ป่วยที่แพ้กลูเตนไม่สามารถรับประทานอาหารประเภทนี้ได้ จึงทำให้อาหารที่ปราศจากกลูเตนเป็นที่นิยม และมีแนวโน้มว่าจะเป็นที่นิยมมากขึ้นทั่วโลก

จึงทำให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากแป้งชนิดต่างๆ ที่ปราศจากกลูเตนเป็นที่สนใจมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่แพ้สารกลูเตน โดยมีการนำแป้งปราศจากกลูเตนที่ได้จากธัญพืชต่างๆ มาใช้ทดแทนแป้งสาลี ได้แก่ แป้งข้าว แป้งมันฝรั่ง แป้งถั่ว เป็นต้น

“แต่อย่างไรก็ตาม การทดแทนแป้งชนิดต่างๆ ในผลิตภัณฑ์จะส่งผลต่อคุณลักษณะทางประสาทสัมผัสและคุณภาพการปรุงสุกของเส้นพาสต้าที่ได้ ดังนั้น จึงมีการศึกษาการปรับปรุงเส้นพาสต้าปราศจากแป้งกลูเตน โดยเติมไฮโดรคอลลอยด์ที่มีคุณสมบัติเพิ่มความคงตัว ปรับปรุงลักษณะเนื้อสัมผัสให้ดีขึ้น ทำให้เส้นพาสต้านุ่ม ไม่แห้ง แข็ง และกระด้าง” ดร.มงคลกล่าว