สอศ.จับมือ!เชฟรอน-คีนัน เวิร์กช็อปครูอาชีวะ มุ่งปั้นนักศึกษาสายพันธุ์ใหม่

ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับโครงการ Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต จัดอบรมเชิงปฏิบัติการครูอาชีวศึกษา และมอบสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยจากต่างประเทศให้กับ สอศ. เพื่อนำไปใช้ในสถานศึกษาในสังกัดทั่วประเทศ

ซึ่งถือเป็นกิจกรรมสำคัญของโครงการพัฒนาทักษะกำลังคนสายวิชาชีพจากความร่วมมือในรูปแบบ “รัฐร่วมเอกชน” กับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย

ความร่วมมือดังกล่าว ถือว่าสามารถตอบโจทย์ของอาชีวศึกษาในปัจจุบัน ในการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล ควบคู่กับ          การพัฒนาและผลิตบุคลากรครูที่มีคุณภาพ ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนา “ต้นน้ำ” รวมทั้งส่งเสริมให้ครูปรับกระบวนการเรียนการสอนในระดับอาชีวศึกษาทั้ง ปวช. และ ปวส. เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาได้มีความรู้ความเข้าใจ และสนุกกับการเรียนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการผลิตแรงงานทักษะสูงป้อนเข้าสู่ระบบได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังอาจดึงดูดให้เด็กนักเรียนสนใจเข้าเรียนในสายอาชีวศึกษามากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ สอศ.ยังได้พัฒนา “ปลายน้ำ” ในการจัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นภาคฤดูร้อน โดยร่วมกับสถานประกอบการเพื่อให้นักเรียนนักศึกษาได้เข้าพัฒนาทักษะจากการที่ได้ฝึกปฏิบัติงานจริง

“สอศ.คาดหวังว่า การร่วมมือกับโครงการ Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ในการพัฒนาคนต้นน้ำจะสร้างดีเอ็นเอที่ดีให้กับครูอาชีวะ รวมทั้งการเติมเต็มทักษะในส่วนของปลายน้ำจะสามารถนำประเทศไปสู่เป้าหมายประเทศไทย 4.0 ทั้งยังอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการแจ้งเกิด Start Up ใหม่ๆ ได้” ดร.สุเทพกล่าว

ด้านนายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างโครงการ Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต กับ สอศ. มีเป้าหมายสำคัญเพื่อร่วมพัฒนาทักษะแรงงานวิชาชีพให้เพียงพอ และมีศักยภาพตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทย

ซึ่งแนวทางหลัก คือการมุ่งพัฒนาในส่วนการเรียนการสอนในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็ม ในระดับอาชีวศึกษา โดยหนึ่งในกิจกรรมสำคัญคือ การอบรมเชิงปฏิบัติการครูเพื่อสร้างดีเอ็นเอใหม่ของครูอาชีวะ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างเด็กอาชีวะสายพันธุ์ใหม่ที่มีทักษะตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ประเทศไทยเป็นฐานผลิตสำคัญ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

“พร้อมกันนี้ โครงการฯยังให้การสนับสนุนอุปกรณ์และสื่อการสอนที่ทันสมัยจากสถาบัน It's About Time® ที่ได้รับการยอมรับจากสถาบันการศึกษาทั่วโลกว่าสามารถช่วยให้นักเรียนนักศึกษาเกิดความรู้ความเข้าใจและสนุกกับการเรียนวิชาด้านสะเต็มมากยิ่งขึ้น” 

นายอาทิตย์กล่าวด้วยว่า โดยจุดเด่นของอุปกรณ์จากองค์กร It's About Time® คือ เป็นหลักสูตรสะเต็มศึกษาสำหรับนักเรียนนักศึกษาอาชีวะในระดับสากล ที่ใช้กระบวนการเรียนการสอนแบบสืบเสาะ โดยใช้โครงงานหรือการตั้งปัญหาเป็นฐาน และเชื่อมโยงหลักวิทยาศาสตร์เข้ามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยใช้วงจรการออกแบบเชิงวิศวกรรม (Engineering Design Cycle) มาช่วยทำภารกิจในการทดลองให้สำเร็จ

“หลักสูตรมุ่งเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียน ทำให้นักเรียนเกิดความสนุก มีส่วนร่วมในการเรียน และสร้างเสริมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 อาทิ ทักษะการทำงานเป็นทีม ความคิดสร้างสรรค์ทักษะการคิดวิเคราะห์ การนำเสนอ และเรียนรู้จากการลงมือปฎิบัติ”

นายอาทิตย์กล่าวทิ้งท้ายว่า เป้าหมายของความร่วมมือครั้งนี้ คาดว่าจะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสถาบันอาชีวศึกษากว่า 60 แห่ง พร้อมอบรมเชิงปฏิบัติการครูกว่า 1,800 คน และพัฒนาทักษะแรงงานและนักศึกษาสายอาชีวะกว่า 138,000 คน

นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการสถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวเสริมว่า สิ่งที่ผู้บริหารโครงการ ทั้งบริษัทเชฟรอนฯ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย รวมถึง สอศ.เห็นพ้องต้องกันว่า ในการยกระดับการเรียนการสอนสาขาสะเต็มในระดับอาชีวศึกษา สิ่งสำคัญ คือการพัฒนาให้ครูมีทักษะและวิธีการสอนให้นักเรียนสามารถหาความรู้แบบสืบเสาะ ตลอดจนปรับหลักสูตรให้สอดคล้อง และจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอน เพื่อช่วยให้ครูสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้นักเรียนนักศึกษาเข้าใจกระบวนการ ที่มาความคิด ผ่านการลงมือปฎิบัติจริง ไม่ใช่เรียนโดยการท่องจำ

“เพื่อให้เกิดเจตคติที่ดีต่อการเรียนในสาขาสะเต็ม จึงเป็นที่มาในการจัดอบรมครูวิทยาศาสตร์ และมอบอุปกรณ์สื่อการเรียน การสอนวิทยาศาสตร์แก่สถาบันอาชีวศึกษาในครั้งนี้”

อนึ่ง ปัจจุบันศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ (TVET Hub) ภายใต้โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ได้จัดตั้งไปแล้ว 3 แห่ง โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.เชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จ.สงขลา และศูนย์พัฒนาอบรมแรงงานจังหวัดชลบุรี ส่วนอีก 3 แห่งจะดำเนินการภายใน 2 ปีนี้ โดยจะอยู่ในจังหวัดที่เป็นฐานผลิตสำคัญของแต่ละอุตสาหกรรม ภายใต้แผนการดำเนินงานของโครงการในระยะเวลา 5 ปี