“องคมนตรี” อัญเชิญพระบรมราโชบายในหลวงรัชกาลที่ 10 ด้านการศึกษา

มูลนิธิยุวสถิรคุณ (มยส.) ร่วมกับจังหวัดพิจิตร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพิจิตร สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมหารือการดำเนินงานพัฒนาสถานศึกษาและหน่วยงานสาธารณสุขในจังหวัดพิจิตรให้เป็นองค์กรคุณธรรม ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) พิจิตร เขต 1 เมื่อเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี และประธานมูลนิธิยุวสถิรคุณ กล่าวในการบรรยายเรื่อง “การพัฒนาสถานศึกษาและหน่วยงานสาธารณสุขในจังหวัดพิจิตรให้เป็นองค์กรคุณธรรม” ว่า จากพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีกระแสรับสั่งให้จัดการศึกษาโดยต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน ใน 4 เรื่อง คือ 1) ทัศนคติที่ถูกต้อง 2) พื้นฐานชีวิตที่มั่นคงเข้มแข็ง 3) มีอาชีพ มีงานทำ และ 4) เป็นพลเมืองดี

โดยมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้ 1.พื้นฐานในเรื่องวินัยและมารยาทไทย 2.การพัฒนาอุปนิสัย ด้านคุณธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม สำนึกรับผิดชอบในหน้าที่ การเป็นพลเมืองดี และ 3.การพัฒนาเด็กและเยาวชนผ่านกิจกรรม อาทิ การอบรมเลี้ยงดูในครอบครัว การสั่งสอน อบรมในโรงเรียน กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี รักษาดินแดน (ร.ด.) เป็นต้น

นอกจากนี้ เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน และเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งปวง ตามพระราชกระแสรับสั่งของในหลวงรัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ซึ่งทรงรับสั่งให้ดำเนินตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยต้องการให้ทุกคนทำเพื่อบ้านเมืองและประชาชน

ดังนั้น มูลนิธิยุวสถิรคุณจึงได้อัญเชิญพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ว่า “ช่วยกันสร้างคนดีให้บ้านเมือง” มาเป็นวิสัยทัศน์ในแผนการดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณธรรม โดยคาดหวังให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการขับเคลื่อนกิจกรรมส่งเสริมความดีในรูปแบบต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา

“ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาและปรับเปลี่ยนเป็นพฤติกรรมที่พึงประสงค์ได้อย่างยั่งยื ทั้งหน่วยงานที่เป็นสถานศึกษาและสาธารณสุข” ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม กล่าว

ด้านนายวีรศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร กล่าวในงานเดียวกันนี้ว่า เคยได้ยินเรื่องโรงเรียนคุณธรรม จังหวัดคุณธรรม แต่ยังไม่ชัดเจนว่า วิธีการที่จะไปถึงความดีนั้นต้องทำอย่างไรบ้าง แต่วันนี้ได้คำตอบที่ชัดเจนแล้วว่า การเป็นจังหวัดคุณธรรมไม่ได้หมายถึงสถานศึกษาเท่านั้น แต่ต้องครอบคลุมทุกด้านทั้ง 11 เรื่อง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความตั้งใจจริงในการทำงานจากทุกคน

ซึ่งตนพร้อมในการเป็นทั้งผู้นำ ผู้ก้าวเดินตาม หรือเดินเคียงข้าง ตามบทบาทและภาระงานร่วมกับทุกคน ดังนั้น สถานการณ์ขณะนี้มีความเหมาะสมในการเพาะพันธุ์ต้นกล้าแห่งความดี เพื่อการก้าวสู่จังหวัดคุณธรรมเต็มรูปแบบ โดยหวังว่าภายใน 1-2 ปีนี้ จะเห็นความเป็นไปได้ที่ชัดเจน

ทางด้านนางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กเยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวเสริมว่า การพัฒนาโรงเรียนโดยใช้ประเด็นสุขภาวะใน 4 มิติ คือ กาย จิต ปัญญาและสังคม สอดคล้องกับกระบวนการพัฒนาคุณธรรมตามแนวทางมูลนิธิยุวสถิรคุณ โดยการใช้คุณธรรมเป็นเครื่องมือสร้างเสริมสุขภาวะในโรงเรียน

ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่จะสร้างสุขภาวะที่สามารถวัดการเปลี่ยนแปลงและเห็นผลที่ตัวเด็ก ตามแนวคิดและเครื่องมือสำคัญของโรงเรียนสุขภาวะ ดังนี้ 1) จิตศึกษาพัฒนาปัญญาภายใน เป็นกระบวนการพัฒนาทั้งครูและเด็กให้เกิดการเรียนรู้และงอกงามด้านความฉลาดทางด้านอารมณ์และความฉลาดด้านจิตวิญญาณ 2) การเรียนรู้บูรณาการ (Problem based /active learning ) มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนในด้านทักษะกระบวนการเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิดแก้ปัญหาอย่างมีระบบและใช้ร่วมกับการเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติ

3) การพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพด้วยการลงมือปฏิบัติจริง โดยมุ่งให้ผู้เรียนเกิดทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ จากการได้ลงมือปฏิบัติจริง ตามความถนัดและความสนใจ และ 4) การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ PLC การทำให้ผู้บริหารลดบทบาทตัวเอง ซึ่งใช้กระบวนการฝึกสติให้รู้ตัวโดยการพูดคุยเชิงสร้างสรรค์ต่อองค์กร