นักเรียน ม.5 “สารสาสน์เอกตรา” ขึ้นดอยเชียงใหม่ เรียนรู้คำว่า “โอกาส-การให้”...ผ่านค่ายช่วยเหลือน้องๆ ด้อยโอกาส

จากพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงเน้นในเรื่องของคนเราจะต้องรับและจะต้องให้

คนเราจะเอาแต่ได้ ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ หมายความว่า ต่อไปและเดี๋ยวนี้ด้วย เมื่อรับสิ่งของใดมา ก็จะต้องพยายามให้ ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีให้หมู่คณะและในชาติ ทำให้หมู่คณะและชาติประชาชนทั้งหลายมีความไว้ใจซึ่งกันและกันได้ ช่วยที่ไหนได้ ก็ช่วย ด้วยจิตใจที่เผื่อแผ่โดยแท้

อันเป็นที่มาของกิจกรรมออกค่ายอาสาพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำและช่วยเหลือชุมชน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 “โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา” กรุงเทพฯ (โรงเรียนสองภาษาแห่งแรกในประเทศไทย) ซึ่งได้เดินทางขึ้นเหนือกระจายกันไปสอนหนังสือ พร้อมพัฒนาน้องๆ นักเรียนในเขตพื้นที่อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้

สกู๊ป แวดวงการศึกษา

ภายใต้กิจกรรม “ค่ายอาสาพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำและช่วยเหลือชุมชน ปีที่ 19” ในพื้นที่โรงเรียน 4 แห่ง ได้แก่ 1.โรงเรียนวัดห้วยแก้ว 2.โรงเรียนบ้านใหม่สวรรค์ 3.โรงเรียนบ้านเหล่าป่าฝาง และ 4.โรงเรียนวัดทุ่งศาลา แยกตามสี ได้แก่ สีฟ้า สีม่วง สีเขียว และสีเหลือง ซึ่งเป็นกิจกรรมออกค่ายอาสาพัฒนาของนักเรียน “โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา” ที่ได้ดำเนินการจากรุ่นสู่รุ่น ถึง ณ ปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 19 แล้ว

สกู๊ป แวดวงการศึกษา กิจกรรมนี้มุ่งส่งเสริมให้นักเรียนได้มีโอกาสฝึกทักษะ และต่อยอดความคิดด้านการให้โอกาส การเป็นผู้นำ การทำงานร่วมกันเป็นทีม ภายใต้ความหวังให้เมล็ดพันธุ์แห่งความดีเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ที่มีคุณภาพทั้งรากที่มั่นคง และลำต้นที่แข็งแรง

โดยรูปแบบของกิจกรรม จะเป็นลักษณะของการออกค่ายอาสาพัฒนาเพื่อทำความดี ส่งเสริมการรู้จักให้ และบำเพ็ญประโยชน์ โดยแต่ละกลุ่มสีจะแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย ประกอบด้วย 1.ฝ่ายพัฒนา 2.ฝ่ายวิชาการ และ 3.ฝ่ายนันทนาการ

“ฝ่ายพัฒนา” จะมีหน้าที่ปรับปรุงโรงเรียนเป้าหมายให้ดีขึ้น อาทิ ตัดหญ้าในสนาม ทำพื้นสนามให้สะอาด ซ่อมแซมห้องสมุด ปรับเปลี่ยนห้องพยาบาลให้ถูกหลักอนามัย

“ฝ่ายวิชาการ” จะต้องวางแผนการเรียนการสอนให้น้องๆ นักเรียนในโรงเรียนเป้าหมาย ซึ่งจากเดิมที่เคยวางแผนเอาไว้ 4 วิชา ประกอบด้วย 1.ภาษาอังกฤษ 2. วิทยาศาสตร์ 3.คณิตศาสตร์ และ 4.สังคม แต่เมื่อสอนจริงๆ พบว่าน้องๆ นักเรียนเหล่านี้มีความตั้งใจมากกว่าที่คิดเอาไว้ ทุกคนตั้งใจและสนใจการเรียน บางคนสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีมากกว่าที่คาดไว้ เพียงแต่ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษามากกว่าเด็กนักเรียนในเมืองเท่านั้น 

ส่วน “ฝ่ายนันทนาการ” ได้ดำเนินการตามหลักสูตรของโรงเรียนสารสาสน์เอกตรา ที่มีการ Marching, Line dance เป็นกิจกรรมการออกกำลังกายตอนเช้าแบบชาวสารสาสน์เอกตรา และกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ระหว่างพี่และน้อง โดยเริ่มจากการละลายพฤติกรรม และจัดกิจกรรมเพื่อให้น้องๆ ได้รับความสนุกและได้รับความรู้ไปพร้อมๆ กัน

ทั้งนี้ อาจารย์บุษรารัตน์ เกิดเพิ่มพูล รองผู้อำนวยการฝ่ายมัธยมศึกษา โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา ให้ข้อมูลว่า กิจกรรมค่ายพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำและช่วยเหลือชุมชนรุ่นที่ 19 ในปีนี้ จัดขึ้นเพื่อต้องการปลูกฝังทักษะและคุณธรรมที่มีค่ายิ่งในการดำเนินชีวิต และต้องการให้นักเรียนของโรงเรียนสารสาสน์เอกตรา เห็นคุณค่าของการใช้ชีวิต ได้เรียนรู้ถึงคำว่าน้ำใจแบ่งปันให้กับผู้อื่น 

ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ไม่สามารถหาได้จากที่ไหน นอกจากการได้ลงไปสัมผัสจริงๆ นอกจากนี้ การมุ่งพัฒนานักเรียนให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ มีคุณงามความดี ทั้งทางกาย วาจา ใจ จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิต เพื่อการเป็นคนดีมีความซื่อสัตย์ สุจริต มีความอดทน มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ มีความกตัญญูกตเวที และมีความเมตตากรุณา ซึ่งจะทำให้สังคมเกิดความสงบสุข

เมื่อนักเรียนโรงเรียนสารสาสน์เอกตรา ได้ฝึกฝนตนเองจนเกิดคุณธรรมดังกล่าวแล้ว คุณธรรมเหล่านั้นก็จะเป็นสิ่งที่คอยควบคุมกำกับติดตัวไปกับนักเรียนด้วย เป็นการน้อมนำให้เมล็ดพันธุ์แห่งความดีเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพในสังคมต่อไป

กรุงเทพไม่ใช่ประเทศไทย ไม่ใช่ศูนย์กลางของโลก อย่าคิดว่าทุกที่จะสุขสบายเหมือนเรา” นี่เป็นเพียงคำสอนบางส่วนที่ อาจารย์บุษรารัตน์ พร่ำสอนให้กับนักเรียนโรงเรียนสารสาสน์เอกตรา ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้มาเข้าร่วมกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำและช่วยเหลือชุมชน ปีที่ 19 ครั้งนี้

สกู๊ป แวดวงการศึกษา

ตลอดระยะเวลา 7 วัน ในการออกค่ายอาสาพัฒนาของกลุ่มนักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา นอกจากจะได้ฝึกฝนตัวเองในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ แล้ว สิ่งที่ได้รับมากว่านั้น คือ ความสุขจากการให้ การมอบโอกาสทางการศึกษาที่ดีให้กับน้องๆ การดูแลโรงเรียน ทำอาหาร ทำความสะอาด ซ่อมแซมส่วนที่ทรุดโทรม

จากเด็กนักเรียนคนเมืองที่มีความสะดวกสบาย มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีแม่บ้าน พี่เลี้ยงคอยทำสิ่งต่างๆ ให้ จะต้องมาปรับชีวิตตัวเองให้ได้เรียนรู้ความไม่พร้อม และทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง

อีกทั้งยังต้องลงพื้นที่สอนหนังสือให้กับน้องๆ ในโรงเรียนห่างไกล แม้จะเป็นเพียงระยะเวลาแสนสั้นที่ได้ลงพื้นที่ไปคลุกคลี แต่ก็สามารถทำให้นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสารสาสน์เอกตรากลุ่มนี้ ได้รับทักษะชีวิต และยังได้เป็นผู้มอบโอกาสดีๆ แก่รุ่นน้อง ซึ่งจะส่งผลลัพธ์ทำให้รู้จักกับคำว่า “โอกาส มีน้ำใจ และใจพัฒนา” ติดตัวต่อไปเมื่อพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่

น.ส.อรจิรา หวังวีระมิตร “แนน” ตัวแทนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา เล่าสะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ดังกล่าว ว่า ก่อนไปค่าย รู้สึกเป็นกังวลมาก เนื่องจากเราแบ่งกันเป็นสี ก็จะมีเพื่อนต่างห้องที่เราไม่ค่อยได้พูดคุยด้วย ไม่ค่อยสนิท มาทำงานร่วมกัน ซึ่งเราก็แอบกังวลไม่น้อยว่า เราจะทำงานร่วมกันได้หรือไม่ เราจะมีความสามัคคีกันมากพอไหม

แต่เมื่อไปค่ายก็รู้สึกดีมาก เพราะทุกคนช่วยกันทำงาน ให้ความร่วมมือเต็มที่ และประทับใจกับความมีน้ำใจของคุณครูที่อยู่ในโรงเรียนเป้าหมายที่เราลงพื้นที่ ซึ่งใส่ใจในทุกเรื่อง และให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

สิ่งที่ได้รับจากการไปค่ายนี้ พบว่าตัวเราเองสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น เพราะการทำงานกับคนหมู่มากย่อมมีหลายความคิด ไม่มีอะไรที่ได้ดั่งใจเราทุกอย่าง นอกจากนี้ ยังมีความรับผิดชอบมากขึ้น สามารถแบ่งความรับผิดชอบตามความถนัดและจุดเด่นของแต่ละคนได้อีกด้วย

“สิ่งที่ประทับใจที่สุด คงเป็นประสบการณ์ที่เราหาไม่ได้ในห้องเรียน ได้พบเห็นคนที่มีโอกาสน้อยกว่าเรา เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีโอกาสที่ดีกว่าพวกเขาเหล่านั้น เราควรที่จะใช้โอกาสที่ได้ที่เรามีให้ดีที่สุด”

สกู๊ป แวดวงการศึกษา

เช่นเดียวกับ “เนเน่” น.ส.พิชญ์สินี เลี่ยวเฉลิมวงษ์ ตัวแทนนักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา อีกคน บอกว่า หลังจากได้ทำกิจกรรม ก็ทำให้เข้าใจกับคำว่า “โอกาส” มากขึ้น จากเดิมที่อยากเรียนคณะรัฐศาสตร์ เพราะแค่รู้สึกว่าอยากเรียน ไม่ได้มีเป้าหมายอะไร

แต่พอได้ไปสัมผัสกับน้องๆ นักเรียนในโรงเรียนที่ไปออกค่ายอาสาพัฒนาแล้ว ทำให้เกิดการรับรู้ว่าคนที่อยู่พื้นที่ห่างไกล มีโอกาสน้อยมากในเรื่องของการศึกษา สิ่งหนึ่งคือปัญหาความยากจน ทั้งๆ ที่เด็กทุกคนมีความฝัน แต่ก็ไม่สามารถทำตามฝันของตัวเองได้

ทำให้เราคิดต่อไปว่า หากได้มีโอกาสในการศึกษาต่อด้านรัฐศาสตร์ เราจะนำมาพัฒนาน้องๆ เพราะคิดเสมอว่า แม้รายได้หรือโอกาสจะมีไม่เท่ากัน แต่การศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญที่ทุกคนควรได้รับ 

“นอกจากนี้ การออกค่ายยังทำให้เรารู้สึกภูมิใจที่ได้รับประสบการณ์ต่างๆ มากมาย อีกทั้งยังได้รับมิตรภาพที่ดีจากน้องๆ และคุณครูที่ประจำอยู่ในโรงเรียนเหล่านั้น ได้เห็นรอยยิ้ม ได้เข้าใจกับสิ่งที่เราตั้งใจมอบให้ เพียงแค่นี้ก็เป็นสิ่งที่คุ้มค่ามากที่สุด สำหรับการได้มาออกค่ายพัฒนาในครั้งนี้ค่ะ”

ปิดท้ายด้วย นายปริญญา สิทธิวงษ์ “ปลื้ม” ตัวแทนนักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา ที่เผยถึงความรู้สึกอีกมุมมองจากการเดินทางมาเข้าค่ายครั้งนี้ว่า การได้มาค่ายครั้งนี้ทำให้เรารู้จักคำว่า “รับผิดชอบ” มากขึ้น และสามารถทำงานเป็นทีมได้อย่างลงตัว รู้จักวิธีบริหารจัดการทีม ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถนำไปต่อยอดได้ในการเรียนระดับมหาวิทยาลัย หรือมากกว่านั้น

การเข้าค่ายอาสาพัฒนาครั้งนี้ เรารู้สึกเหนื่อยมาก แต่ก็ไม่มีวันไหนเลยที่จะไม่มีความสุข เพราะน้องๆ นักเรียนในพื้นที่ได้มอบสิ่งที่เรียกว่ามิตรภาพที่ดีให้กับเราเสมอ ซึ่งเราเชื่อว่าการพบเจอมิตรภาพที่ดีและจริงใจ ไม่ว่าอยู่ที่ไหนเราก็สุขใจ

อีกมุมมองหนึ่งที่เราได้รับคือ ถึงแม้ว่าเราจะไปสอนน้องๆ ในเรื่องของการเรียน แต่ก็มีเรื่องที่สอนเรา พวกเราได้เรียนรู้จากน้องๆ นั่นคือการใช้ชีวิตให้คุ้มค่ากับสิ่งที่ได้รับมาอย่างเต็มที่ น้องๆ ไม่ได้มีโอกาสเหมือนเรา น้องๆ ไม่ได้มีฐานะการเงินดีเท่าเรา

“น้องๆ บางคนไม่มีแม้พ่อ แม่ แต่พวกเขาก็สู้ชีวิตเพื่ออนาคต ซึ่งสิ่งเหล่านี้สอนให้ผมได้ตระหนักในการใช้ชีวิตในทุกๆ วัน ไม่ว่าจะเรื่องการใช้จ่าย หรือเรื่องการเรียน ถ้าเราได้รับเต็มที่ ก็ควรทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุดครับ”

เป็นประโยคตอกย้ำถึงผลลัพธ์การรู้จักกับคำว่า “โอกาส มีน้ำใจ และใจพัฒนา” ที่บรรดากลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา กรุงเทพฯ ได้เรียนรู้มาจากกิจกรรม “ออกค่ายอาสาพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำและช่วยเหลือชุมชน ปีที่ 19” ณ 4 โรงเรียนห่างไกลในเขตพื้นที่อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่