“JGSEE มจธ.” แนะสถานการณ์พลังงานไทย


จากสถานการณ์พลังงานที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วโลกมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ด้านพลังงานที่เปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ประเทศไทยเราก็เช่นกัน

ทั้งนี้ รศ.ดร.บัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวในการประชุม 6th International Conference on Sustainable Energy and Environment) หรือ SEE 2016 เมื่อเร็วๆ นี้ว่า สถานการณ์ด้านพลังงานของโลกมีแรงขับเคลื่อนหลายอย่าง ปัจจัยหนึ่ง คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change  ซึ่งปัจจุบันเป้าหมายของการลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกันระหว่างทั่วโลกนั้น มีเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น และประเทศไทยเองตั้งเป้าว่า จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030

ซึ่งแนวโน้มปัจจุบัน ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยสามารถทำได้ เพราะไทยมีแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี และแผนพลังงานทดแทนซึ่งขณะนี้กำลังก้าวไปในทิศทางที่เหมาะสม

โดยเฉลี่ยของโลกและประเทศไทย ในภาคการผลิตและการใช้พลังงานมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น หากจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องเริ่มที่ภาคพลังงานเป็นอันดับแรก อีกสิ่งที่สำคัญและมีผลกระทบกับโลกรวมถึงประเทศไทยคือ Green disruption หรือเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ราคาของโซล่าเซลล์ลดลงมาก ยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจน IoT หรือ Internet of Things สิ่งเหล่านี้จะเข้ามาอย่างรวดเร็ว และทำให้ตลาดและโครงสร้างพื้นฐานเรื่องพลังงานเปลี่ยนไป

“ทุกภาคส่วนต้องเตรียมตั้งรับ ทางกระทรวงพลังงานก็เตรียมพร้อมเรื่องการใช้ Smart Grid ระบบเก็บพลังงานที่รองรับการใช้พลังงานหมุนเวียน และการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกมหาวิทยาลัยและ มจธ.เองทำได้เลยเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง คือการพัฒนากำลังคนที่จะตอบสนองหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนเพื่อเป็นฐานในการพัฒนาประเทศต่อไป”

ข่าวการศึกษา รศ.ดร.สิรินทรเทพ เต้าประยูร ผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม มจธ. กล่าวเสริมว่า นอกจาก มจธ.จะให้ความสำคัญกับเรื่องของการศึกษาวิจัยเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงพลังงานและสร้างกำลังคนแล้ว นับว่ายังไม่เพียงพอ เพราะการที่จะแก้ปัญหาและตั้งรับอย่างเท่าทันสถานการณ์พลังงานโลกได้นั้นต้องมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสถานการณ์ร่วมกัน 

เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา JGSEE และมหาวิทยาลัยเกียวโต ได้ร่วมกันจัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 6 (6th International Conference on Sustainable Energy and Environment) หรือ SEE 2016 ในหัวข้อหลักเรื่อง “พลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : การสร้างนวัตกรรมเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน”

เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและการแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม และยังจัดร่วมกับการประชุมนานาชาติด้านนวัตกรรมเขียวและความยั่งยืน ครั้งที่ 6 (6th International Conference on Green and Sustainable Innovation) หรือ ICGSI 2016 และการประชุมวิชาการนานาชาติด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านภูมิอากาศ ครั้งที่ 1 (1st International Conference on Climate Technology and Innovation)

งานประชุม SEE 2016 ปีนี้ เน้นเรื่องของนวัตกรรมซึ่งมีชาวต่างชาติให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมจำนวนมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา แสดงให้เห็นศักยภาพของงานวิจัยไทยว่า มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับและต่างชาติสามารถมาเรียนรู้จากเราได้เช่นกัน นอกจากนั้น ในการประชุมมีการหารือนวัตกรรมสำหรับอาเซียน เพื่อตั้งรับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายในอาเซียน สถานการณ์พลังงานในอาเซียน และจะขยับไปสู่ความเป็น Sustainability ในที่สุด

“กว่า 10 ปีที่เราจัดประชุม SEE มาสังเกตได้ว่า ประเทศไทยขยับเข้าหาอาเซียนมากขึ้น เราพยายามเป็นศูนย์กลางเพื่อเป็น HUB ของอาเซียน และสร้างเทคโนโลยีที่จะสามารถขยายไปสู่อาเซียนได้นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน”

รศ.ดร.สิรินทรเทพกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ยังมีการประชุมเชิงปฏิบัติการวาระพิเศษ “Franco-Thai Workshop on Smart Grids” ซึ่งทางบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน และสถานเอกอัครราชฑูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เป็นผู้จัดการดำเนินงานขึ้น

เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้าน Smart Grid ระหว่างประเทศไทยและฝรั่งเศส ทั้งในมิติของการวางแผน การดำเนินการในด้านการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ Smart Grids สำหรับการจัดการพลังงานของประเทศไทยในอนาคต

อีกทั้ง ผลจากการนำเสนอและแลกเปลี่ยนผลงานทางวิชาการภายในงาน ช่วยสนับสนุนในการมุ่งสู่การลดก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 25 ภายในปี พ.ศ.2573 ตามที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้นต่อไป