ถอดรหัสเหตุผล! ทำไมระบบการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ จึงดีที่สุดในโลก


ควันหลงจากงานสัมมนามหกรรมความรู้ครั้งที่ 5 (OKMD Knowledge Festival) “มันส์สมอง | พื้นที่แห่งความรู้ในศตวรรษที่ 21” เมื่อวันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น 7 ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน กรุงเทพฯ

ซึ่งจัดโดยสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD ร่วมกับสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (NDMI) สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)

ภายในงานมีกิจกรรมเสวนา/สัมมนา (Symposium) ที่เป็นเวทีสำคัญในการนำเสนอสาระความรู้ของนักคิดที่น่าสนใจในหัวข้อ “New Learning Skills in the Dynamic World: เปิดสมองไปกับวิธีการเรียนรู้ในโลกใหม่” โดย Dr. Pasi Sahlberg ผู้นำความคิดและนักการศึกษาระดับเวิลด์คลาสของประเทศฟินแลนด์

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการศึกษาของรัฐบาลฟินแลนด์ นักวิจัยรับเชิญแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเป็นเจ้าของผลงานหนังสือ “Finnish Lessons 2.0 : What can the world learn from educational change in Finland” ซึ่งได้รับรางวัล Grawemeyer Award

Dr. Pasi Sahlberg ได้มาร่วมถอดรหัสวิธีการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ว่า ทุกวันนี้การศึกษาของมนุษย์น่าตื่นตาขนาดไหน และไขข้อสงสัยว่าทำไมระบบการศึกษาของฟินแลนด์จึงดีที่สุดในโลก

ปัจจุบัน “ฟินแลนด์” เป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับว่า มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก ล่าสุดได้ประกาศออกมาว่า จะยกเลิกวิชาเรียนพื้นฐานทั้งหมดออกจากหลักสูตรการศึกษา แล้วให้นักเรียนเลือกเรียนในสิ่งที่พวกเขาสนใจ

แถมคาดหวังว่าจะสามารถใช้ได้จริงภายในอีก 4 ปีข้างหน้า ทำเอาวงการการศึกษาโลกสะเทือน และสงสัยใคร่รู้เหตุผล ‘ฉีกตำรา’ และหลายคนอยากรู้ว่า “แล้ว...ไงต่อ”

“ทำไมเปลี่ยนใหม่ทั้งระบบ” คำตอบคือ

1.การเรียนการสอนในแบบเก่าๆ เริ่มล้าสมัยไม่เข้ากับยุค

2.ระบบเก่าทำให้นักเรียนตั้งคำถามกับตัวเองมาตลอดว่า “เรียนวิชา...เพื่ออะไร ในเมื่อโตไปก็ไม่ได้ใช้”

3.ปัจจุบันความต้องการของนักเรียนเปลี่ยนไปมาก จำเป็นต้องเปลี่ยนไปสู่สิ่งใหม่ที่เหมาะสมกับศตวรรษที่ 21

“เก่าไป ใหม่มา” สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับระบบการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ คือ

1) ระบบใหม่ดังกล่าวจะถูกนำมาใช้กับนักเรียนมัธยมปลายที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เพราะมีวิจารณญาณ ตัดสินใจได้เองแล้ว

2) ไม่ต้องเรียนวิชาพื้นฐาน อย่าง คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ภูมิศาสตร์ วรรณคดี ประวัติศาสตร์ เป็นต้น อีกต่อไป

3) เปลี่ยนไปเรียนรู้ในรูปแบบของสหวิทยาการ (เหตุการณ์หนึ่งเรื่อง แยกเป็นหลายองค์ความรู้)

4) มีสิทธิ์เลือกหัวข้อวิชาที่ตัวเองสนใจต้องการเรียนจริงๆ

5) บรรยากาศการเรียนการสอนแบบ "Working in a Cafe" เน้นแลกเปลี่ยนความรู้ผู้เรียนด้วยกัน จับกลุ่มถกเถียง เพื่อหาวิธีในการแก้ปัญหามากกว่านั่งฟังเลคเชอร์

คาดหวังและจุดมุ่งหมาย ของระบบการศึกษาใหม่ในประเทศฟินแลนด์ คือ

1.ครูผู้สอนในวิชาที่แตกต่างกัน จะต้องให้ความร่วมมือกันออกแบบการเรียนการสอนใหม่

2.วิธีเรียนแบบนี้จะทำให้เด็กสนใจฝักใฝ่หาความรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น

3.กระตุ้นให้เกิดการทำงานร่วมกัน เป็นการวางรากฐานการทำงานในอนาคต

4.วางแผนการเรียนของตัวเองได้ง่ายยิ่งขึ้น รู้เป้าหมายในชีวิตและเส้นทางการทำงานชัดเจน

ทั้งนี้ เหตุผลที่คนในแวดวงการศึกษาสนใจนโยบายใหม่ของฟินแลนด์ ไม่ใช่เพราะแนวคิดใหม่แกะกล่อง แต่เป็นเพราะ นี่คือกรณีศึกษาของความพยายามเปลี่ยนทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มาทำให้เห็นเป็นรูปธรรม และจะกลายเป็นต้นแบบให้การศึกษาทั้งโลกเดินตามมากกว่า

แล้วการศึกษาไทยจะไปในทิศทางไหน...?!?!

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อที่สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) โทรศัพท์ 0-2105-6519