มจธ.โต้โผ! ดึงผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกต่อยอดงานวิจัย-พัฒนาสาหร่าย


ในปีนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงานประชุมนานาชาติ Asia-Pacific Conference in Algal Biotechnology (APCAB): Algae for Food, Feed, Fuel and Beyond  ครั้งที่ 9 เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 255 คน ซึ่งกว่าครึ่งเป็นผู้เข้าร่วมจากต่างประเทศจาก 23 ประเทศทั่วโลก

ซึ่งงานประชุมดังกล่าวมีการจัดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 โดยในปีนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นเจ้าภาพร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

รศ.บุษยา บุนนาค คณบดีคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มจธ. ในฐานะประธานการจัดประชุมครั้งนี้ กล่าวว่า เป็นการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับองค์ความรู้ทางด้านสาหร่าย ทั้งกลุ่มสาหร่ายขนาดเล็ก และสาหร่ายขนาดใหญ่ เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ได้จากการประชุมไปต่อยอดสู่การวิจัยและพัฒนาต่อไป โดยประเด็นหลักๆ ปีนี้จะเน้นไปที่ Algae for Food, Feed, Fuel and Beyond 

เป็นเวทีที่เปิดให้นักวิจัย อาจารย์ และนักศึกษาจากทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มานำเสนอ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน โดยในแต่ละวันของการประชุมจะมี Keynote Speakers จากสถาบันชั้นนำต่างๆ ทั่วโลก มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์

“วัตถุประสงค์ที่เรารับเป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุม ส่วนหนึ่งก็เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับนักศึกษาในประเทศไทย ที่จะได้มีโอกาสเข้ามาฟังการประชุม มารับฟังองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับงานวิจัยที่สนใจหรือกำลังทำวิจัย โดยไม่ต้องเสียค่าเดินทางไปต่างประเทศ ขณะเดียวกันหากเข้ามานำเสนอผลงานวิจัย ก็จะมีอาจารย์หรือนักวิจัยที่เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาช่วยซักถามและให้คำแนะนำ”  

รศ.บุษยากล่าวเพิ่มเติมว่า ในตอนท้ายของการประชุมครั้งนี้ มีการจัด Forum เชิญผู้ประกอบการและผู้บริหารจากภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสาหร่ายทั่วโลกมาร่วมเสวนาและแบ่งปันประสบการณ์ในด้านความสำเร็จและความล้มเหลวจากประสบการณ์จริง อาทิ Dr.Amha Belay Vice President จาก Earthrise Nutritionals LLC ประเทศสหรัฐอเมริกา, Prof.David Lewis ผู้บริหารจากบริษัท Muradel Pty ประเทศออสเตรเลีย และคุณเจียมจิตต์ บุญสม จากบุญสมฟาร์ม จังหวัดเชียงใหม่

“ทั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางและเป็นตัวอย่างให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ๆ ได้นำไปปรับใช้เพื่อสร้างองค์ความรู้และผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพออกสู่สังคมต่อไป”