“ครูพี่แนน” เผย 5 เคล็ดลับฟิตสมอง! ให้มีความจำดี


นางสาวอริสรา ธนาปกิจ “ครูพี่แนน” ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษเอ็นคอนเส็ปท์ กล่าวถึงเคล็ดลับฟิตสมองให้มีความจำที่ดีและพร้อมที่จะรับสิ่งใหม่ๆ ในงาน “Key to success กุญแจแห่งความสำเร็จ” จัดโดยโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษเอ็นคอนเส็ปท์ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า

1.สร้าง Memory Palace : เทคนิคการใช้วิธีการจำที่สอดคล้องกับรูปแบบที่สมองออกแบบมากที่สุด ใช้หลักการง่ายๆ ว่า มนุษย์จะสามารถจดจำสถานที่ได้ดีที่สุด ดังนั้น ถ้าเราจะเชื่อมโยงสิ่งที่เราอยากจะจดจำเข้ากับสถานที่ต่างๆ ที่เราคุ้นเคย เราก็จะสามารถจดจำสิ่งเหล่านั้นได้ง่ายกว่าเดิมมากๆ

2.เรียนรู้ภาษาใหม่ๆ : มีผลงานวิจัยจากทีมวิจัยในแคนาดา ที่ได้รับการตีพิมพ์ไว้ใน Neurology Journal ระบุว่าความสามารถในการพูดได้สองภาษา จะช่วยทำให้กระบวนการก่อตัวของอาการโรคอัลไซเมอร์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นั้นช้าลงไปได้มากถึงห้าปี  นอกจากนั้นการเล่นเกม ไขปริศนา คิดเลขก็สามารถกระตุ้นสมองได้ด้วย

3.หาจุดกลมกล่อม (Sweet Spot) : โดยทั่วไปแล้วกระบวนการเรียนรู้จะแบ่งเป็นช่วงต่าง ๆ ได้ 3 ช่วง คือ จุดสบายใจ (Comfort Zone) คือ ความรู้สึกสบายๆ ไม่ต้องใช้ความพยายามมากนัก จุดคับขัน (Survival Zone) คือ สิ่งที่ยากมากๆ อยู่ในช่วงสับสนและสิ้นหวัง และสุดท้ายคือจุดกลมกล่อม (Sweet Spot) ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะกับการพัฒนาศักยภาพของตัวเองมากที่สุด

4.การทำซ้ำ (Mastery) : การฝึกซ้ำเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดสำหรับการพัฒนาทักษะ เพราะกระบวนการฝึกฝนและทำซ้ำบ่อยๆ  จะกระตุ้นกลไกลตามธรรมชาติที่ทำให้สายส่งข้อมูลในสมองของเราทำงานได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำ เพราะในสมองเราจะมีเยื่อหุ้มประสาทที่ชื่อว่า “ไมอีลิน” ซึ่งจะเติบโตตามสัญญาณประสาทที่ได้รับจากการฝึกฝน ทำซ้ำ ยิ่งทำมากขึ้น เยื่อไมอีลินจะหนาขึ้น ส่งผลให้ทักษะเหล่านั้นมีความแม่นยำมากขึ้น

5.ปลุกความจำด้วยกำปั้น : ผลวิจัยของนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยมอนต์แคลร์สเตท รัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา ระบุว่าการกำมือแน่นๆ ช่วยให้ความจำดีขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยให้ความสามารถในการระลึกความทรงจำเก่าๆ กลับคืนมาได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

การทดลองนี้นักจิตวิทยาทดลองกับอาสาสมัครผู้ใหญ่ จำนวน 50 คน ให้จดจำคำศัพท์จากลิสต์คำศัพท์จำนวนมาก ขณะที่ทดลองกำมือไปด้วยพบว่าการกำมือขวาเป็นเวลา 90 วินาที จะช่วยให้การจดจำสิ่งใหม่ๆ ทำได้ดีขึ้น ในขณะที่การกำมือซ้ายด้วยเวลาเท่าๆ กันจะช่วยให้การเรียกคืนความทรงจำเก่าๆ ทำได้ดีขึ้น

“ผลการวิจัยชี้ว่า การเคลื่อนไหวร่างกายธรรมดาๆ เช่น การกำมือขวาก่อนเรียนรู้ข้อมูลต่างๆ และการกำมือซ้ายก่อนจะเรียกคืนความทรงจำนั้นสามารถปรับปรุงระบบความทรงจำได้ โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนการทำงานของสมองชั่วคราวด้วย” ครูพี่แนน กล่าว