3 ว่าที่คุณครู ร่วมสะท้อนโครงการ “ครูพัฒนาท้องถิ่น”


คุณนงนวล รัตนประทีป ผู้สื่อข่าว “สำนักข่าวการศึกษา สยามเอ็ดดูนิวส์” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “ว่าที่คุณครู” ผู้ผ่านการคัดเลือกตามโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประจำปี 2559 และมารายงานตัวพร้อมรับการปฐมนิเทศ “ก่อนเข้าสู่วิชาชีพครู” จาก พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ที่อาคารศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เมื่อเร็วๆ นี้

เริ่มจากนายเขมทัต ม่วงสุน ว่าที่ครูคนใหม่ วัย 24 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก เอกฟิสิกส์ คณะศึกษาศาสตร์ 5 ปี เป็นคนจังหวัดเพชรบุรี สอบติดในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เพชรบุรี

“ผมรู้สึกดีใจ ส่วนตัวอยากกลับไปเป็นครูที่บ้านเกิดตัวเองอยู่แล้ว ได้อยู่ใกล้กับครอบครัว และจะได้พัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง พ่อแม่ผมเป็นชาวประมง ไม่มีใครรับราชการ ผมจบชั้น ม.ปลายที่โรงเรียนวัดจันทราวาสฯ แอดมิชชั่นที่เปิดหลักสูตรผลิตครูฟิสิกส์ 5 ปี ซึ่งมีไม่กี่มหาวิทยาลัย และเลือกได้ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ก็ตั้งใจเรียนตลอดมา เพราะอยากเป็นครู

ผมได้สมัครสอบครูผู้ช่วยของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในรอบทั่วไปปีนี้ด้วย โดยเลือกสอบที่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ประจวบคีรีขันธ์ พอดีผมสอบติดเป็นตัวสำรอง ได้อันดับ 3 เพราะที่ จ.เพชรบุรีไม่เปิดสอบบรรจุ แต่มาสอบได้โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จัดสอบ

สำหรับข้อสอบครูผู้ช่วยทั่วไปที่ กศจ.แต่ละจังหวัดจัดสอบ กับข้อสอบของโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นของ สกอ.นั้น การสอบครูผู้ช่วยทั่วไปที่ กศจ.เปิดสอบจะสอบหลายวิชาและจำนวนเยอะมาก ขอบข่ายความรอบรู้สารพัดเลย เช่น ความรอบรู้ วิชากฎหมาย คุณธรรม จริยธรรม วิชาการศึกษา 11 มาตรฐานความรู้ และวิชาเอกอีก และมีการสอบสัมภาษณ์ด้วย

ส่วนข้อสอบโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นของ สกอ.ที่ให้ สทศ.เป็นผู้ที่ออกข้อสอบนั้น มี 3 วิชา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และวิชาคิดวิเคราะห์ ความรู้สึกของผมเองคิดว่า ยาก และส่วนใหญ่จะทำกันไม่ทัน แต่ทั้งข้อสอบของ กศจ. กับ ข้อสอบของ สทศ.นั้น ดีตรงที่เขาไม่ได้วัดความจำ แต่เขาวัดจากการคิดวิเคราะห์ทั้งนั้นเลย

อย่างไรก็ตาม สำหรับตอนนี้ผมยังไม่รู้ว่า จะไปลงสอนที่โรงเรียนใดในจังหวัดเพชรบุรี ผมไม่ได้คิดว่าจะต้องสอนโรงเรียนเล็ก หรือโรงเรียนใหญ่ แค่ผมสอบติดก็ภูมิใจแล้ว ได้สอนอยู่ในจังหวัดเพชรบุรี เดินทางสะดวก ไม่ต้องไปเช่าบ้านอยู่ ลดค่าใช้จ่ายไปได้มาก อยู่กับพ่อแม่ญาติพี่น้องด้วย ประหยัดไปได้มากเลย

ซึ่งผมเองก็ตั้งใจอยู่แล้วว่า ถ้าผมสอบบรรจุได้ที่ไกลๆ ผมก็จะขอย้ายกลับมาสอนโรงเรียนที่ใกล้บ้านตัวเองอยู่ดี พอดีมีโครงการนี้ขึ้นมาก็ทำให้ตัดสินใจเลือกลงในจังหวัดที่ตัวเองเกิด แม้อาจจะบรรจุต่างอำเภอก็ตาม”

นายเขมทัต กล่าวทิ้งท้ายว่า จิตวิญญาณของความเป็นครู คือ การเสียสละ การให้ความรู้ การที่เราได้รับอบรมศึกษามาเพื่อเป็นครูไปสอนนักเรียน ผมมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่อยากเป็นครูฟิสิกส์ด้วย

ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรก็ได้บ่มเพาะมาเป็นเวลา 5 ปี เรียนวิชาความรู้ มาตรฐานประสบการณ์ต่างๆ และได้ไปฝึกสอนมา 1 ปี เมื่อปีการศึกษา 2558 รู้สึกว่าทำให้เราอยากเป็นครูมากขึ้นและมีความภาคภูมิใจในวิชาชีพนี้มากขึ้นด้วย

และคำว่าข้าราชการเป็นอะไรที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับตัวผมเองและครอบครัวมาก ที่อยากเห็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่เราเกิดมาเป็นข้าราชการทำงานให้กับพระองค์ท่าน และตอบแทนแผ่นดิน และเป็นคนแรกของครอบครัวที่ได้รับราชการ

น.ส.เบญจาภรณ์ มะโนขันธ์ ว่าที่คุณครู วัย 24 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เอกภาษาอังกฤษ คณะคุรุศาสตร์ 5 ปี ภูมิลำเนาจังหวัดกาฬสินธ์ สอบติดที่ สพม.กาฬสินธ์

“พ่อแม่ทำงานค้าขาย อยู่ที่จังหวัดกาฬสินธ์ เรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่บ้านเกิด พอเข้ามาเรียนปริญญาตรีในกรุงเทพฯที่มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เรียนเอกภาษาอังกฤษ 5 ปี จะว่าเรียนยากก็ยาก ง่ายก็ง่าย อยู่ที่ความพยายามมากกว่า

ส่วนข้อสอบครูผู้ช่วยทั่วไปของ สพฐ. จะไม่ค่อยมีสอบเรื่องให้วิเคราะห์รายละเอียดลึกๆ จะเน้นความจำ แต่ถ้าเป็นข้อสอบของ สกอ.จะเน้นเรื่องการวิเคราะห์และมีข้อสอบให้เขียนด้วย เป็นการออกข้อสอบแบบเชื่อมโยงและมีความซับซ้อนมาก ซึ่งออกแบบเดียวกับตอนที่หนูสอบแกทและแพท ในช่วงเรียนชั้น ม.6 เลยทำได้

ข้อสอบบรรจุครูผู้ช่วย สพฐ.รอบทั่วไป ขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัดให้ใครออกข้อสอบ ถ้าให้มหาวิทยาลัยออกก็จะยาก เพราะเป็นข้อสอบวิเคราะห์เหมือนกัน ซึ่งสาเหตุที่หลายคนสอบกันไม่ผ่าน หนูคิดว่าไม่ได้อยู่ที่หลักสูตร หรือมหาวิทยาลัยปล่อยเกรด แต่หนูคิดว่าอยู่ที่การอ่านหนังสือของเรามากกว่า ซึ่งข้อสอบจะวิเคราะห์หรือไม่วิเคราะห์นั้น ต้องมีพื้นฐานมาจากการจำและมีความรู้ในวิชานั้นๆ

ทั้งนี้ หนูสอบติดทั้ง 2 ที่เลย คือ สอบติดครูผู้ช่วยรอบทั่วไปที่ กศจ.หนองคาย เพราะที่ กศจ.กาฬสินธ์ไม่เปิดสอบบรรจุ และก็มาสอบติดของโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นของ สกอ.ลงที่ จ.กาฬสินธ์ ซึ่งได้เลือกลงในจังหวัดตัวเอง

“หนูคิดว่าเราเป็นครูเราต้องสอนให้ได้หมดทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ก็ตาม”

ว่าที่คุณครูคนสุดท้าย น.ส.ปวันรัตน์ มกรทัต อายุ 24 ปี จบจากมหาวิทยาลัยบูรพา เอกการสอนศิลปะ คณะศึกษาศาสตร์ 5 ปี เป็นคนจังหวัดจันทบุรี สอบติดที่ สพม.จันทบุรี

“หนูเป็นคนจังหวัดจันทบุรี สอบติดครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เอกการสอนศิลปะ หนูสอบครูผู้ช่วยรอบทั่วไปของ กศจ.จันทบุรีด้วย แต่ไม่ติด เขารับเพียง 1 ตำแหน่ง

ข้อสอบบรรจุครูผู้ช่วยทั่วไปของ สพฐ. แตกต่างจากข้อสอบครูพัฒนาท้องถิ่นของ สกอ. ซึ่งเป็นคำถามปลายเปิด สอบข้อเขียน ข้อสอบของครูคืนถิ่นยาก ส่วนข้อสอบ สพฐ. เป็นคำตอบที่ตายตัว เป็นแบบให้เลือก ถ้าเราตอบผิดนิดเดียวก็จะผิด เราต้องจำเก่ง ที่หนูสอบไม่ติดเพราะเราอาจเตรียมตัวไม่พร้อม เพราะจบมาก็ทำงานเป็นครูเอกชน ไม่ค่อยมีเวลาเตรียมตัว

พอดีมีโครงการครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นประกาศสอบก่อน จึงมีการเตรียมตัวมากหน่อย เพื่อนหนูที่ติดทั้ง 2 ที่เขาให้เวลากับการอ่านหนังสือเต็มที่เป็นส่วนใหญ่ การที่หนูสอบติดโครงการของ สกอ.รู้สึกภูมิใจมาก และอยากทำงานเป็นครูอย่างเต็มที่ตามที่ได้รับมอบหมายให้สอนเด็กๆ

หนูอยากกลับไปทำงานที่บ้าน ไปพัฒนาท้องถิ่น เป็นโอกาสที่ดีมากที่รัฐบาลมอบให้กับเรา โดยเฉพาะพ่อแม่มีอาชีพค้าขาย ไม่มีใครรับราชการเลย พอหนูสอบติดทุกคนก็ภูมิใจมาก”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสะท้อนความเห็นจากว่าที่คุณครูที่สอบผ่านเข้าร่วมโครงการ “ผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ประจำปี พ.ศ. 2559”