“หัวเว่ย” ร่วมมือ!สจล. เปิดโครงการ HAINA มุ่งพัฒนาทักษะไอซีทีนักศึกษา แห่งแรกในไทย


“หัวเว่ย” ผู้นำทางด้านโซลูชั่นเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระดับโลก ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดตัวโครงการ Huawei Authorized Information and Network Academy (HAINA) มุ่งถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและพัฒนาบุคลากรเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ตั้งเป้าส่งเสริมการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของไทย โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะด้านไอซีทีแก่นักเรียน นักศึกษา และยกระดับความสามารถในการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมของประเทศ

HAINA เป็นโครงการความร่วมมือที่ไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาและนักศึกษาจากทั่วโลก เข้าร่วมหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพเฉพาะทางของหัวเว่ย โดยโครงการนำร่องที่ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ประกอบด้วยหลักสูตร Routing and Switching Technology ซึ่งครอบคุลมองค์ความรู้พื้นฐานด้านเครือข่ายและความรู้อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่าย

เช่น วิธีการพื้นฐานสำหรับเชื่อมต่อเครือข่ายที่นิยมใช้ โครงสร้างพื้นฐานของเครือข่าย การแก้ไขปัญหาข้อผิดพลาดที่พบได้บ่อยในเครือข่าย ตลอดจนการติดตั้งและการทดสอบการทำงานของระบบอุปกรณ์เราติ้งและสวิทชิ่งของหัวเว่ย

ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว หัวเว่ยได้จัดทำห้องปฏิบัติการในโครงการ HAINA รวมถึงมอบอุปกรณ์ระบบเครือข่ายที่สามารถรองรับการทำงาน Software-Defined Network – SDN เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจากอุปกรณ์ที่ใช้งานจริงในอุตสาหกรรมไอซีที 

ส่วน สจล.จะจัดหาอาจารย์ผู้สอนเพื่อเข้าร่วมฝึกอบรมทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อจะทำหน้าที่ฝึกอบรมแก่นักศึกษา และจัดพิมพ์คู่มือตามโปรแกรมมาตรฐานของ HAINA และด้วยความรู้และทักษะความชำนาญที่ได้จากการฝึกอบรมนี้ ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมจะมีขีดความสามารถในการหางานทั้งในและต่างประเทศได้มากขึ้น 

ทั้งนี้ นายโรบิน หลู รองประธานบริหาร กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มาร่วมเป็นพันธมิตรกับเราในโครงการ HAINA ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย เราเชื่อมั่นว่า ความรู้และเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดให้กับนักศึกษารุ่นใหม่ จะช่วยให้พวกเขามีทักษะในการแข่งขัน และสามารถทำประโยชน์ให้ชุมชนในระยะยาวสืบไป

“นอกจากนี้ โปรแกรม HAINA ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทย ให้บรรลุเป้าหมายในการเป็นดิจิทัลฮับแห่งภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย”

ด้าน ผศ.ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหารวิชาการ สจล. กล่าวว่า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่มีความโดดเด่นและเป็นผู้นำหลักสูตรด้านไอซีทีของประเทศไทย สถาบันฯได้เล็งเห็นความสำคัญในการฝึกอบรมนักศึกษาให้กลายเป็นบุคลากรด้านไอซีทีรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญ

โครงการนี้จะช่วยส่งมอบทักษะความรู้และเครื่องมือให้พวกเขาประสบความสำเร็จในสาขาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือกับหัวเว่ยในครั้งนี้ และหวังว่าจะได้ต่อยอดโครงการความร่วมมืออื่นๆ กับหัวเว่ยอีกในอนาคต

“เรายังให้ความสำคัญกับการศึกษาทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อสร้างนักศึกษาที่มีคุณภาพ โดยมีเป้าหมายที่จะเป็น 1 ใน 10 สถาบันอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำของภูมิภาคอาเซียนภายในปี ค.ศ.2020 และได้ชื่อว่าเป็น Master of Innovation” ผศ.ดร.สุพันธุ์กล่าว

อนึ่ง หัวเว่ยได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ ทั่วโลกผ่านโครงการ HAINA มาแล้วมากกว่า 150 แห่ง ฝึกอบรมและจัดสอบวัดระดับความรู้ตามมาตรฐานให้แก่นักศึกษากว่า 5,000 คน โดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญกว่า 300 คน เพื่อให้พวกเขาได้ประกาศนียบัตรวิชาชีพเฉพาะทาง และกลายเป็นบุคลากรที่มีศักยภาพในสาขาไอซีทีต่อไป

ภายใต้โครงการฝึกอบรมด้านไอซีทีระดับโลกนี้ หัวเว่ยได้ส่งมอบโซลูชั่นการเรียนการสอนพร้อมกับเทคโนโลยีไอซีทีอันทันสมัยให้แก่สถาบันการศึกษาเหล่านี้ เพื่อช่วยให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกสามารถก้าวทันการพัฒนาเติบโตของเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว และสามารถผลิตบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านไอซีทีให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน