นักศึกษาธัญบุรี วอน “กยศ.” ต่อลมหายใจ “โอกาสการศึกษา” ยกเลิกหลักเกณฑ์เกรดต่ำ 2.00 อดกู้


ความคืบหน้าจากกรณีที่ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้เสนอให้มีการยกเลิกหลักเกณฑ์กองทุนเงินให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่มีการกำหนดให้ผู้ที่จะกู้ยืมเงินทั้งรายเก่าและรายใหม่ ต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.00 

ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จาก รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เพราะจะช่วยกระจายโอกาสการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และเชื่อว่านักศึกษาที่เข้ามาเรียนมีความตระหนักในเรื่องของผลการเรียน การที่คะแนนเฉลี่ยไม่ถึง 2.00 ไม่ใช่เรียนไม่ได้

เพราะการศึกษาในระบบจะมีเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นข้อบังคับอยู่แล้ว ทำให้นักศึกษาต้องตั้งใจเรียน แต่หากนักศึกษากู้ยืมเงิน กยศ.ไม่ได้ ก็จำเป็นต้องหางานทำเพิ่ม เมื่อนักศึกษาทำงานหนักและเหนื่อยล้าจากการทำงาน ก็ย่อมจะส่งผลต่อการเรียนในที่สุด

ล่าสุดตัวแทนนักศึกษา มทร.ธัญบุรี ได้ร่วมสะท้อนความเห็นต่อหลักเกณฑ์การกู้เงิน กยศ.ดังกล่าว

เริ่มจากนายปริญญา ยอดชัยภูมิ คณะบริหารธุรกิจ สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ชั้นปีที่ 4 ที่ได้เกรดเฉลี่ยสะสม 1.97 จึงหมดสิทธิ์กู้ กยศ.ในชั้นปีสุดท้าย กล่าวว่า เกณฑ์การกู้ กยศ.ที่ต้องมีเกรดเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.00 ไม่น่าจะนำมาพิจารณา โดยส่วนตัวแล้วการเรียนในชั้นปีที่สูงขึ้นนั้น ค่อนข้างยาก ต้องมีความรับผิดชอบและมีวินัยต่อตนเอง

แต่จากการที่ต้องทำงานด้วย เรียนด้วย บางครั้งเราจัดสรรเวลาล่วงหน้าอย่างลงตัว แต่พอถึงสถานการณ์จริง ย่อยมีหลายปัจจัยที่ทำให้แผนที่วางไว้เปลี่ยนไป ดังเช่น ความเหนื่อยล้าจากการทำงาน ความต่อเนื่องของงานที่คั่งค้าง หรือยังไม่เสร็จ จึงทำให้ต้องเบียดเบียนเวลาเรียนไปบ้าง ทำให้ความเข้าใจในเนื้อหาลดน้อยลง ตามเพื่อนไม่ค่อยทัน ส่งผลต่อเกรดเฉลี่ยดังที่ปรากฏ

ประกอบกับทางบ้าน ต้องส่งน้องอีกคนหนึ่งเข้าเรียน จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น ตนจึงต้องหางานทำเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือครอบครัวและดูแลตนเองให้ตลอดรอดฝั่ง จึงอยากขอโอกาสให้กับนักศึกษาทุกชั้นปี

โดยเฉพาะชั้นปีสุดท้ายที่กำลังจะเป็นว่าที่บัณฑิต ได้มีโอกาสกู้เงิน กยศ. โดยไม่ต้องนำเกรดเฉลี่ยมาเป็นตัวพิจารณา และเชื่อว่ามีนักศึกษาชั้นปี 4 หลายคนที่หมดสิทธิ์กู้ยืม เพราะเกรดเฉลี่ยไม่ถึงเกณฑ์ตามที่กำหนด

นางสาวธนวรรณ เทพขวัญ คณะบริหารธุรกิจ สาขาการเงิน ชั้นปีที่ 2 กล่าวว่า ตนเคยกู้เงิน กยศ. ตอนเรียนชั้นปีที่ 1 มาแล้ว แต่พอมาถึงปีที่ 2 ตนไม่สามารถกู้ได้ เพราะมีเกรดเฉลี่ย 1.96 จึงไม่ผ่านหลักเกณฑ์การกู้ยืม

หากถามว่าทำไมได้เกรดเฉลี่ยน้อย ก็มีหลายสาเหตุ อาจจะทุ่มเทให้กับการทำกิจกรรมระหว่างที่เรียนมากเกินไป จนทำให้แบ่งเวลาไม่เหมาะสม อีกทั้งตอนเรียนปี 1 ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ สถานที่ใหม่ เพื่อนใหม่ ซึ่งพื้นฐานแต่ละคนก็แตกต่างกันไป รวมถึงพื้นฐานความรู้ที่มีอยู่เดิม

ตนคิดว่าเกรดเฉลี่ยสะสมมีความสำคัญ เป็นส่วนหนึ่งในการชี้วัดการทำงานในอนาคต แต่อาจจะไม่เหมาะสมที่จะนำมาพิจารณาการกู้เงิน กยศ. เพราะทำให้นักศึกษาต้องรับภาระมากขึ้น ทำงานมากขึ้น ประหยัดอดออมค่าใช้จ่ายมากขึ้น เพื่อจัดเตรียมเงินมาจ่ายค่าเทอม หากหาไม่ได้ก็ต้องพักการเรียน หรือไม่ได้เรียนต่อ

นางสาววันทนีย์ จตุเทน นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภาควิชาเคมี ชั้นปีที่ 2 กล่าวว่า ครอบครัวทางบ้านมีภาระค่อนข้างมาก ทำให้ตนต้องกู้เงิน กยศ. เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาและค่าครองชีพ แต่ด้วยตอนนี้ไม่สามารถกู้ได้ ทางบ้านจึงต้องหยิบยืมจากญาติพี่น้อง หาแหล่งเงินทุนเพื่อกู้ยืม และหาช่องทางการทำงาน เพื่อให้มีเงินพอที่จะจ่ายค่าเทอม

ประกอบกับงานพาร์ทไทม์ในปัจจุบันหายาก และต้องใช้เวลาทุ่มเทกับงาน จึงเห็นด้วยกับหลายฝ่ายที่เห็นตรงกันในการยกเลิกหลักเกณฑ์กู้ กยศ. ด้วยการพิจารณาเกรดขั้นต่ำ 2.00 

“ต้นทุนชีวิตของแต่ละคนแตกต่าง โอกาสที่จะได้รับก็ต่างกัน จึงต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาในเรื่องนี้ เพราะโอกาสทางการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ”

ด้านนางสาวนุชฤดี ศรีตังตา นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมพอลิเมอร์ ชั้นปีที่ 4 อีกหนึ่งนักศึกษาที่เกรดเฉลี่ยสะสมต่ำกว่าเกณฑ์กู้เงิน กยศ. กล่าวว่า กองทุน กยศ.ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการขยายโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน

จึงไม่น่าจะนำหลักเกณฑ์การกู้เพื่อคัดกรองและกำหนดผู้ที่จะกู้ยืมเงินต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่น้อยกว่า 2.00 มาใช้ เพราะเป็นการจำกัดโอกาสในการศึกษา แม้จะตั้งใจแล้วก็ตาม แต่ศักยภาพการเรียนรู้ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

ขณะนี้ตนต้องหางานพิเศษทำในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ และเวลาว่างจากการเรียน เพื่อให้มีเงินมาเป็นค่าเทอมและค่าใช้จ่ายต่างๆ ระหว่างศึกษา จึงขอฝากถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมืองและผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ อยากให้พิจารณาและหาหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมกว่านี้มาใช้