“สมาคมอนุบาลฯ-สพฐ.” จัดใหญ่อบรมครู-ผู้บริหาร ร.ร. ขยายผล!การเรียนรู้แบบ Active Learning หลังช่วย น.ร.สอบ O-NET 5 กลุ่มสาระ เต็ม 100 อื้อ


ดร.สำเริง กุจิรพันธ์ นายกสมาคมโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดแห่งประเทศไทยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดอบรมสัมมนาเรื่อง “การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning สู่การพัฒนานวัตกรรม” ให้กับผู้บริหารและครูจาก 82 โรงเรียน รวมจำนวน 450 คน ระหว่างวันที่ 25-26 สิงหาคม 2559 นี้ ณ ห้องวายุภักษ์ 5-6 โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ จังหวัดนนทบุรี

เพื่อต่อยอดความรู้สู่มาตรฐานสากลในศตวรรษที่ 21 หลังจากที่นักเรียนในสังกัดสมาคมฯประสบความสำเร็จจากการเรียนรู้แบบ Active Learning จนสามารถสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ในปี พ.ศ.2559 ได้คะแนนเต็ม 100% จาก 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ มากถึงจำนวน 650 คน

ทั้งนี้ ดร.ตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดการอบรมสัมมนา ในวันที่ 25  สิงหาคม 2559 เวลาประมาณ 09.00 น.

พร้อมทั้งได้เชิญ ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะ จำนวน 7 คน มาเป็นวิทยากรกลุ่มสาระการเรียนรู้

ซึ่งเป็นการขยายผลและต่อยอดความร่วมมือ หรือ MOU ระหว่างสมาคมโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดแห่งประเทศไทย กับสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ หรือ พว. ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีมานี้ ที่ส่งผลให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้นตามลำดับ

อนึ่ง “การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning สู่การพัฒนานวัตกรรม” มีจุดสำคัญคือ การเปลี่ยนบทบาทการเรียนรู้ไปอยู่ที่ตัวผู้เรียนอย่างเต็มรูปแบบ เน้นพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดความสามารถในมิติการคิดวิเคราะห์ขั้นสูงเชิงระบบ มิติทักษะการทำงานอย่างมีแบบแผน รวมทั้งหลอมรวมกับมิติคุณธรรม ค่านิยม จนเกิดองค์ความรู้เป็นหนึ่งเดียวที่คงทนและตกผลึกกับผู้เรียนทุกคน

กระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning นั้น ได้ออกแบบขั้นตอนการเรียนรู้ตามแนว Backward Design ที่กำหนดผลการเรียนรู้ปลายทางในระดับความคิดรวบยอดและหลักการ โดยใช้กระบวนการ GPAS 5 Steps (จีแพส ไฟว์สเต็ป) ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างความรู้ให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนทั้ง 3 มิติข้างต้น ที่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ สัมพันธ์กับตัวชี้วัดและมาตรฐานการเรียนรู้ครบถ้วน ตามหลักสูตรแกนกลางอิงมาตรฐานที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในศตวรรษ 21 ที่กำหนดไว้