“ซอฟต์แวร์ ปาร์ค” จับมือ “สามารถ กรุ๊ป” เฟ้น “10 เจ้าของไอเดีย” สู่ “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี”

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ สุขุมวิท 22 กทม. เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือ ซอฟต์แวร์ ปาร์ค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จัดเวทีนำเสนอผลงานในโครงการ “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี ประจำปี 2559

เพื่อสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีรุ่นใหม่ โดยการต่อยอดความคิดให้กับผลงานที่มีความพร้อม มีแนวทางความเป็นไปได้ทางการตลาด เพื่อผลักดันสู่ธุรกิจด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่จับต้องได้ และเป็นรูปธรรม

โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมฟังการนำเสนอผลงานเป็นจำนวนมาก

สกู๊ป แวดวงการศึกษา นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือ ซอฟต์แวร์ ปาร์ค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เปิดเผยว่า การจัดงานครั้งนี้ เป็นการแสดงผลงานเทคโนโลยีและแผนธุรกิจของผู้เข้าร่วมโครงการฯ

โดยนำความรู้ที่เป็นหัวใจของการทำธุรกิจและประสบการณ์ที่ได้จากการร่วมกิจกรรมในโครงการ ผ่านกระบวนการบ่มเพาะธุรกิจ โดยศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ สวทช. ตั้งแต่เรื่องการจัดตั้งธุรกิจ การเขียนแผน การเจรจาต่อรอง จนถึงการออกไปปฏิบัติจริง มาปรับใช้กับผลงาน

และกลับมานำเสนอให้กับนักลงทุนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ผู้ประกอบการ ผู้ทรงอิทธิพลด้านออนไลน์จากหลากหลายกลุ่มธุรกิจ รวมถึงนักลงทุนภาคอุตสาหกรรม และนักลงทุน ซึ่งล้วนแต่มีประสบการณ์ ความรอบรู้ ที่ต้องการแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีโอกาสเติบโต มาร่วมลงทุนและต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่ หรือนำไปขยายตลาดต่อ ทั้งในและต่างประเทศ

“ทั้งนี้ ตลอด 3 ปีที่จัดโครงการฯ มีถึง 15 ผลงาน ที่ก้าวสู่การเป็นนักธุรกิจตัวจริง เกิดการจัดตั้งเป็นธุรกิจเทคโนโลยี เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ และมีอีกกว่า 50 ผลงานที่กำลังพัฒนา และเตรียมพร้อมสู่ตลาดและการจัดตั้งธุรกิจต่อไป” นายเฉลิมพลกล่าว

ด้าน นายเจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จากัด (มหาชน) หรือ SAMART กล่าวว่า กลุ่มบริษัท สามารถฯได้ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จัดงาน “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี” มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน

โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการจัดงานเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี พบนักลงทุน (Business Matching) ครั้งนี้เกิดการพบปะ เพื่อเจรจาต่อรองทางธุรกิจระหว่างนักลงทุนกับเจ้าของผลงานที่ผ่านเข้ารอบ และมีความพร้อมในเชิงพาณิชย์จากโครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี

ซึ่งนอกจากเจ้าของผลงานจะได้พบปะกับนักลงทุนโดยตรง เพื่อโอกาสต่อยอดในเชิงพาณิชย์แล้ว นักลงทุนยังมีโอกาสได้พิจารณาผลงานที่มีศักยภาพเพื่อนำไปต่อยอดทางธุรกิจของตน โดยไม่จำเป็นต้องซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศที่มีราคาแพงกว่า

เป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในภูมิภาคมากขึ้น ด้วยการสร้างผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ ตามนโยบายภาครัฐที่กําหนดให้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

สกู๊ป แวดวงการศึกษา “โครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนยี” เป็นกิจกรรมที่สานต่อความมุ่งมั่นของกลุ่มสามารถที่ต้องการให้โครงการ SAMART Innovation Award ที่ก่อตั้งมานานถึง 14 ปี ได้มีส่วนในการสร้างและผลักดันให้เกิดนักพัฒนาด้านเทคโนโลยีตัวจริง โดยไม่มีเงื่อนไขหรือข้อผูกมัดใดๆ จากบริษัทฯ

โดยผู้ชนะเลิศสุดยอดนักคิดนักพัฒนานวัตกรรมต้นแบบ หรือรางวัล Samart Innovation Award 2016 จะได้รับเงินรางวัล 200,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เงินรางวัล 100,000 บาท และเงินรางวัล 50,000 บาท สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2

“นอกจากนี้ 3 อันดับแรก ยังได้รับรางวัลศึกษาดูงานต่างประเทศ และรางวัลลำดับที่ 4-25 จะได้รับทุน (Business Startup Funds) ทุนละ 20,000 บาท รวมมูลค่ารวมทั้งโครงการฯ กว่า 1,000,000 บาท เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้เกิด เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี ตัวจริงต่อไป” นายเจริญรัฐระบุ

ทั้งนี้ทั้งนั้น มี 10 ผลงานที่เข้าร่วมนำเสนอต่อนักลงทุนครั้งนี้ คัดเลือกจากผลงานที่พร้อมที่สุด ทั้งแนวคิดธุรกิจที่ชัดเจน และมีศักยภาพสูงพร้อมต่อยอดทางธุรกิจได้ทันที แบ่งเป็น 4 ประเภทเทคโนโลยี

ได้แก่ ประเภทเทคโนโลยีเพื่อการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม มี 1 ทีม คือ Beernova วัสดุแทนไม้คุณภาพสูงจากกากเบียร์, ประเภทเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ มี 3 ทีม ประกอบด้วย 1.อะพาร่า ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสกัดจากเซรั่มน้ำยางพารา 2.Zzzleepillow นวัตกรรมหมอนที่ช่วยแก้ปัญหาการนอนไม่หลับ และ 3.FitMeUp แอพพลิเคชันช่วยแนะนำการออกกำลังกาย

ประเภทเทคโนโลยีเพื่อการพาณิชย์และการขนส่ง มี 3 ทีม ประกอบด้วย 1.Handy Wings ระบบบริหารจัดการงานซ่อมแซมที่อยู่อาศัยแบบครบวงจร 2.HOPS แอพพลิเคชันช่วยประชาสัมพันธ์ข้อมูลการตลาด และ 3.Jord Sabuy บริการที่จอดรถ

และสุดท้ายประเภทเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา มี 3 ทีม ประกอบด้วย 1.Gurr.com แพลตฟอร์มเพื่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของนักศึกษา 2.จับจ่าย เทคโนโลยีที่สร้างบัญชีเงินฝากระหว่างนักเรียนกับโรงเรียนด้วยลายนิ้วมือ และ 3.มิวอาย เลนส์ที่เปลี่ยนสมาร์ทโฟนให้เป็นกล้องจุลทรรศน์

ซึ่งแต่ละผลงานล้วนแล้วแต่อยู่ในกลุ่มที่มีความต้องการในตลาดทั้งสิ้น