สพฐ.ซักซ้อม!แผนเผชิญเหตุไฟไหม้ ที่ “ร.ร.ภปร.ราชวิทยาลัยฯ” จุดแรก ป้องกัน!เกิดเหตุการณ์สลดซ้ำรอย


คุณนงนวล รัตนประทีป ผู้สื่อข่าว “สำนักข่าวการศึกษา สยามเอ็ดดูนิวส์” รายงานจากโรงเรียน ภปร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อ.สามพราน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา

นายสนิท แย้มเกสร ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พร้อมด้วย นายธีร์ ภวังคนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองช่วยเหลือนักเรียน (ฉก.ชน.) สพฐ. ลงพื้นที่ติดตามการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุไฟไหม้ และความปลอดภัยอาคารสถานที่พักนอนของนักเรียน

ซึ่งเป็นจุดแรก หลังจากเกิดเหตุการณ์สลด!ไฟไหม้อาคารบ้านพักนักเรียนชั้นประถมศึกษาของโรงเรียนพิทักษ์เกียรติวิทยา อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย จนทำให้มีเด็กนักเรียนถูกไฟคอกเสียชีวิตถึง 17 ราย เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา

นายสนิท ให้สัมภาษณ์ว่า ตนได้รับมอบหมายจากนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ลงพื้นที่ติดตามมาตรการป้องกันและการซักซ้อมแผนป้องกันอัคคีภัยในโรงเรียนพักนอน

ตามที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีความห่วงใย ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยไฟไหม้หอพักนักเรียนหญิงที่ จ.เชียงรายขึ้นอีก

จึงได้กำชับให้ สพฐ.วางมาตรการป้องกันอย่างเร่งด่วน โดยนายการุณได้มอบหมายให้ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองช่วยเหลือนักเรียน ดำเนินการจัดให้ทุกโรงเรียนฝึกอบรมแผนเผชิญเหตุ ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด กระทรวงมหาดไทย

“โดยมีการบรรจุการซ้อมแผนเผชิญเหตุไว้ในกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ รวมทั้งให้แต่ละโรงเรียนจัดทำคู่มือการป้องกันและระงับอัคคีภัยที่เข้าใจง่าย และสามารถปฏิบัติได้ทันที”

ข่าวการศึกษาด้านนายธีร์ กล่าวว่า การที่ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองช่วยเหลือนักเรียน สพฐ.ลงพื้นที่ติดตามการเตรียมความพร้อมในการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุไฟไหม้ ที่โรงเรียนภปร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นจุดแรกตามนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากนายการุณนั้น เนื่องจากเป็นโรงเรียนชายล้วนและมีอาคารนอน

เด็กที่เข้าเรียนจะมีเด็กเล็กและเด็กโตคือ ระดับ ป.5-ม.6 ซึ่งมีความแตกต่างกันและอาคารนอนในโรงเรียนมีทั้งหมด 5 อาคาร และเป็นอาคารสูง 4 ชั้น เพื่อเป็นต้นแบบในการดูจุดอ่อนว่า ยังมีตรงไหนเพื่อจะได้เข้าไปช่วยเติมเต็มให้สมบูรณ์มากขึ้น

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและเตรียมพร้อมรับมือกับภัยที่อาจเกิดขึ้นทุกเมื่อ ไม่เฉพาะเรื่องไฟไหม้แต่รวมถึงภัยต่างๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นต้องดำเนินการให้มีความพร้อม เช่น การฝึกการป้องกันปฏิบัติการสำหรับภัยที่มีความสูง โดยการจำลองสถานการณ์สมมุติ เพื่อฝึกระบบการจัดการเมื่อเกิดเหตุ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ดูแลอาคารนอน เครื่องมือ ยานพาหนะ รวมถึงระบบสื่อสาร

โดยเป็นการฝึกซ้อมเสมือนเหตุการณ์จริง เพื่อเด็กจะได้เรียนรู้ มีความเข้าใจการป้องกันอัคคีภัย และทักษะเบื้องต้นในการดูแลตัวเองและเอาตัวรอด การซักซ้อมอพยพตามแผนฉุกเฉิน

“เช่น เมื่อเกิดเหตุเวลากลางคืนจะให้โรงเรียนใช้แถบสีสะท้อนแสงเป็นการแจ้งเตือนเสริมจากการประกาศ เพื่อให้นักเรียนทุกคนรับรู้ โดยมอบให้กับครูและพี่เลี้ยงดูแลประจำเรือนนอน ทั้งนี้ เพื่อให้ครูและนักเรียนตื่นตัวและหนีได้ทัน รวมทั้งการป้องกันก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุอัคคีภัยอย่างครบวงจร”

ทางด้าน ดร.บัญชา จันทร์ดา ผู้อำนวยการโรงเรียน ภปร.ราชวิทยาลัยฯ กล่าวว่า แผนป้องกันการเผชิญเหตุไฟไหม้และความปลอดภัยอาคารสถานที่พักของนักเรียนนั้น ถือเป็นทักษะพื้นฐานสำคัญที่โรงเรียนต้องสร้างองค์ความรู้ให้เด็กและเจ้าหน้าที่โรงเรียนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะป้องกันเรื่องของอัคคีไฟ แต่ทุกๆ เรื่อง

ซึ่งผู้ปกครองมักจะมีคำถามอยู่เสมอว่า เมื่อบุตรหลานเขามาอยู่กินนอนในโรงเรียนแห่งนี้แล้ว จะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่ามีความปลอดภัย เราก็ต้องชี้แจงว่าโรงเรียนมีกระบวนการให้ความรู้กับนักเรียนทุกคน และครูทุกคนต้องตระหนักด้วย เพราะโรงเรียนมีระเบียบวินัยชัดเจนอยู่แล้ว

ปัจจุบันที่โรงเรียนมีนักเรียนทั้งหมด 1,050 คน ครูประจำการมี 98 คน และบุคลากรอีก 20 กว่าคน รวมถึงเจ้าหน้าที่ต่างๆ อีกกว่า 80 คน ทั้งหมดจะมีบ้านพัก 5 อาคาร ภายในบ้านก็จะมีหอนอนของเด็กๆ รวมทั้งที่บ้านของครูและเจ้าหน้าที่

โดยแบ่งเป็นเด็กโตตั้งแต่ ม.1-ม.6 จะแบ่งให้ไปอยู่บ้านใหญ่ จำนวน 4 หลัง ส่วนเด็กที่เรียนระดับ ป.5-ป.6 จะอยู่อีกหลัง ที่แยกเพราะบุคลิกลักษณะหรือวุฒิภาวะการดูแลของเด็กเล็กต้องดูแลมากเป็นพิเศษ

สำหรับการเผชิญเหตุเรื่องอัคคีภัยหรือเหตุภัยต่างๆ นั้น สามารถเกิดได้ทุกที่ แต่เมื่อเกิดเหตุแล้วใครมีทักษะแก้ไขอย่างไรเป็นเรื่องสำคัญ พฤติกรรมการแก้ไขให้เป็นระบบเดียวกัน คือการฝึกซ้อมความรู้การปฏิบัติจริง แล้วประเมินว่าจุดอ่อนของเราอยู่ตรงไหน จากนั้นค่อยๆ ปรับปรุง

เรื่องการซักซ้อมเผชิญเหตุอัคคีภัยควรทำทุกปี เพราะมีเด็กนักเรียนเข้าใหม่และเด็กที่ออกไป นี่คือสิ่งที่เราต้องมีกระบวนการให้ความรู้ชัดเจน และควรทำกับโรงเรียนทุกแห่ง

“วันนี้เราทำเพื่อให้ทุกคนเข้าใจระบบมากขึ้น การป้องกันเป็นสิ่งดี แต่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นคุณค่า นี่คือพฤติกรรมคนไทย ถ้าไม่เกิดเหตุก่อนก็จะไม่เกิดความตระหนัก แต่ต้องยอมรับว่า พฤติกรรมของคนถ้าเคยซักซ้อมไปสักครั้ง จะทำได้ง่ายกว่าในสิ่งที่ไม่เคยซ้อมเลย เช่น การวิ่ง การเดิน อย่างถูกต้อง ถ้าไม่เคยซักซ้อมความวุ่นวายก็จะเกิด” ผอ.ร.ร.ภปร.ราชวิทยาลัยฯกล่าว