รก.ผอ.สถาบันวิทยาลัยชุมชน ไขข้อข้องใจ! “วชช.” เหมือนหรือแตกต่าง? กศน.


นายนำชัย กฤษณาสกุล รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิทยาลัยชุมชน (วชช.) ให้สัมภาษณ์ “สำนักข่าวการศึกษา สยามเอ็ดดูนิวส์” เกี่ยวกับการดำเนินงานวิทยาลัยชุมชนทั่วประเทศว่า ขณะนี้หลายคนยังไม่เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของวิทยาลัยชุมชนเท่าที่ควร แม้ว่าปัจจุบันวิทยาลัยชุมชนจะมีกฎหมายเป็นของตัวเองแล้วก็ตาม คือ พ.ร.บ.สถาบันวิทยาลัยชุมชน พ.ศ.2558 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2558

หลายคนอาจจะมีความสับสนอยู่ เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องค่อยๆ ปรับตัวกันไป อย่างไรก็ตาม สำหรับภารกิจของวิทยาลัยชุมชนนั้น เราเน้นเรื่องการเข้าไปช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งในชุมชน และยังเป็นสถาบันการศึกษาที่จัดการศึกษาหลากหลายและยืดหยุ่นตามความต้องการของผู้เรียนในแต่ละท้องถิ่น

ตั้งแต่หลักสูตรการฝึกอบรมไปจนถึงการจัดศึกษาในระดับอนุปริญญา ซึ่งสังกัดอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)

การจัดการศึกษาของสถาบันวิทยาลัยชุมชน แม้ว่าจะมีการดำเนินการมานานแล้วก็ตาม แต่ประชาชนส่วนหนึ่งก็ยังไม่เข้าใจ เพราะภารกิจของสถาบันวิทยาลัยชุมชนมีการเขียนไว้ว่า เป็นการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญา หรือพูดง่ายๆ คือ อนุปริญญา

มีผู้อำนวยการสถาบันวิทยาลัยชุมชน เทียบเท่าอธิการบดีมหาวิทยาลัย ส่วนในวิทยาลัยชุมชนที่อยู่ตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 20 แห่งทั่วประเทศ เป็นส่วนราชการเปรียบเสมือนเป็น “คณบดี” แต่เราจะใช้ชื่อว่า “ผู้อำนวยการ” ทั้งหมด

และที่หลายคนสงสัยว่า วิทยาลัยชุมชนส่วนใหญ่ไปตั้งในจังหวัดทางภาคใต้นั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่ เรามีการกระจายไปอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ประกอบด้วยภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก พิจิตร แพร่ และน่าน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน 4 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ มุกดาหาร หนองบัวลำภู และยโสธร ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว อุทัยธานี ตราด และสมุทรสาคร

และภาคใต้ 7 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา สตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับบริบทและความพร้อมของแต่ละพื้นที่ ส่วนใหญ่จะไปตั้งในพื้นที่ห่างไกล หรือจังหวัดที่ไม่มีสถาบันอุดมศึกษา เพื่อให้คนในพื้นที่เหล่านั้นได้มีการศึกษา มีอาชีพที่ดีขึ้น เพราะเชื่อว่าการศึกษาจะช่วยพัฒนาคนให้มีความคิดรวมไปถึงการลดปัญหาต่างๆ ได้ด้วย 

ยกตัวอย่างวิทยาลัยชุมชนบุรีรัมย์ เปิดการเรียนการสอนระดับอนุปริญญา 7 สาขาวิชา มีหน่วยจัดการศึกษา 8 แห่ง หรือที่วิทยาลัยชุมชนระนอง มีหน่วยจัดการศึกษา 5 แห่ง เปิดทำการเรียนการสอนหลักสูตรระยะสั้น "ภาษาพม่าเพื่อการสื่อสารและธุรกิจ"

หรือที่วิทยาลัยชุมชนยะลา และวิทยาลัยชุมชนปัตตานี ซึ่งได้จัดตั้งตามนโยบายการแก้ไขปัญหาพื้นที่พิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามยุทธศาสตร์ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เป็นต้น

รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิทยาลัยชุมชน กล่าวต่อว่า ในอนาคตมีแนวโน้มที่จะจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งกำลังไปดูพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่มีความห่างไกลอีกแห่ง คนในพื้นที่ก็ยังได้รับการศึกษาน้อยอยู่ รวมทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยว

สถาบันวิทยาลัยชุมชนคิดว่า จะทำอย่างไรให้คนในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์มีอาชีพที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอาชีพด้านการท่องเที่ยว ที่จะไปตอบรับกับสังคมปัจจุบันได้ เพราะเรื่องการท่องเที่ยวปัจจุบัน ต้องเที่ยวอย่างมีความรู้ ไม่ว่าเป็นเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ การดูแลสิ่งแวดล้อม ความรู้การทำอาหารให้มีคุณภาพ หรือความรู้ในเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี หลายคนอาจมองว่า หลักการทำงานของวิทยาลัยชุมชนจะไปคล้ายๆ กับการศึกษานอกโรงเรียน หรือ กศน. เพราะเขายังไม่เข้าใจ อาจมองเพียงภาพผิวบนว่าเราไปสอนกลุ่มเป้าหมายที่เป็นการศึกษานอกระบบ

แต่จริงๆ แล้ว หลักสูตรของเราเกิดจากเนื้องานของการวิจัยและตอบสนองกับบริบทของชุมชนนั้นๆ อย่างแท้จริง และผู้ที่จบไปต้องมีคุณภาพ มีอาชีพ มีงานทำ

ซึ่งหลังจากนี้ไป สถาบันวิทยาลัยชุมชน และวิทยาลัยชุมชนตามจังหวัดต่างๆ จะสร้างความชัดเจนที่แตกต่างจาก กศน.มากขึ้น โดยขณะนี้อยู่ในช่วงของการปรับตัวและทำให้เป็นไปตามบทเฉพาะกาลของกฎหมาย

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่งต่างๆ ของสถาบันวิทยาลัยชุมชน การสรรหากรรมการสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชนชุดใหม่ รวมถึงนโยบายต่างๆ ที่มุ่งเน้นการเสริมความรู้ให้กับชุมชน ทั้งด้านอาชีพและการเรียนต่อระดับปริญญาตรี

ผู้สื่อข่าว “สำนักข่าวการศึกษา สยามเอ็ดดูนิวส์” รายงานด้วยว่า ปัจจุบันวิทยาลัยชุมชนต่างๆ มีหลักสูตรระดับอนุปริญญาที่เปิดสอนทั้งหมด 18 หลักสูตร ได้แก่ การปกครองท้องถิ่น, การศึกษาปฐมวัย, คอมพิวเตอร์ธุรกิจ, การพัฒนาชุมชน, การจัดการทั่วไป, เกษตรและอาหาร, เกษตรอินทรีย์, เทคโนโลยีการเกษตร, เทคโนโลยีสารสนเทศ, การบัญชี, การท่องเที่ยว, เทคโนโลยียานยนต์

สาธารณสุขชุมชน, การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุชุมชน, ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศในกลุ่มอินโดจีน, จัดการโลจิสติกส์และการค้าชายแดน, การบริหารการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน และการโรงแรม

นอกจากนี้ ยังเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) แต่ปัจจุบันยังเปิดสอนเฉพาะที่วิทยาลัยชุมชนพิจิตร และวิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี

ส่วนหลักสูตรฝึกอบรมจะเป็นหลักสูตรระยะสั้น ตั้งแต่ 6 ชั่วโมงไปจนถึง 200 ชั่วโมง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะความต้องการของผู้เข้ารับการฝึกอบรม อาจเป็นรายบุคคลหรือกลุ่ม ซึ่งค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ชั่วโมงละไม่เกิน 5 บาท และบางหลักสูตรยังใช้เทียบโอนผลการศึกษาได้ด้วย