“โรงเรียนบ้านจันทร์” เชียงใหม่...ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ! จัดการศึกษาสร้างสุขภาวะ ตอบโจทย์คุณภาพเยาวชน บนพื้นฐานวิถี-วัฒนธรรม “ชาติพันธุ์”

สิ่งที่ชุมชนวัดจันทร์ต้องการ แม้เป็นชนเผ่า แต่ก็คาดหวังให้ลูกเป็นเจ้าคนนายคน ด้วยความหวังของพ่อแม่ไม่ผิด แต่ทว่าเด็กเรียนจบออกไปส่วนมากก็กลับมาว่างงานอยู่แถวบ้าน เพราะทักษะชีวิตไม่เกิดก็ไม่รู้จะทำอะไร ทั้งที่กิจการค้าขายมีมาก แต่คิดไม่เป็น

สกู๊ป แวดวงการศึกษา นางสาวสมจิต ตาคำแสง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านจันทร์ กล่าวถึงสภาพของเด็กๆ ในพื้นที่โรงเรียนบ้านจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่

ซึ่งโรงเรียนบ้านจันทร์แห่งนี้เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงชั้น ม.3 มีครู 24 คน นักเรียน 265 คน จัดการเรียนรู้ในบริบทของพหุวัฒนธรรม (ชาติพันธุ์) เป็นโรงเรียนบนยอดดอยโอบล้อมด้วยขุนเขา ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ชุมชน และวัด

จากสภาพของเด็กๆ ในพื้นที่ดังกล่าว จึงเป็นที่มาของจุดเปลี่ยนการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านจันทร์ ที่เหมาะสมกับวิถีของเด็กๆ ในยุคสมัยของ ผอ.สมจิต

นั่นคือ การเน้นให้เด็กๆ เรียนรู้อย่างมีความสุข!

เริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยนเป้าหมายของโรงเรียนบ้านจันทร์ โดยมีการสำรวจและสอบถามความสมัครใจของพ่อแม่ ผู้ปกครองและชุมชนว่า ถ้าโรงเรียนบ้านจันทร์จะจัดการศึกษาในรูปแบบสร้างสุขภาวะในโรงเรียน จะพอใจหรือไม่ แต่ก็จะไม่ทิ้งทักษะพื้นฐานอ่านออก เขียนได้ แต่จะเพิ่มทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ

ผลปรากฏว่า พ่อแม่ ผู้ปกครองและคนในชุมชนทุกคนเห็นดีเห็นงามด้วย โดยการหันกลับมามองเนื้องานที่เกิดขึ้นจริง จนบอกว่าให้ลูกทำเกษตร ทำอาชีพอะไรก็ได้ที่มีความรู้ เพื่อให้เขาสามารถอยู่รอดได้

เมื่อทัศนคติเปลี่ยนไป ความร่วมมือก็กลับมา!

การจัดการศึกษาที่สร้างสุขภาวะในโรงเรียน คือการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการและการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียน ที่มุ่งเสริมสร้างสุขภาวะผู้เรียนที่สอดคล้องกับบริบทเฉพาะของแต่ละโรงเรียน

สกู๊ป แวดวงการศึกษาซึ่งในขณะนั้น โรงเรียนบ้านจันทร์ได้เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างพลังอำนาจการจัดการศึกษาที่สร้างสุขภาวะในโรงเรียน โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา (IRES) เป็นผู้ดำเนินโครงการ จากการสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

โดยการพัฒนาโรงเรียนภายใต้แนวคิดการเสริมสร้างสุขภาวะโดยใช้ฐานโรงเรียน มีองค์ประกอบ 5 องค์ประกอบ คือ (1) ผู้เรียนเป็นสุข (2) โรงเรียนเป็นสุข (3) สภาพแวดล้อมเป็นสุข (4) ครอบครัวเป็นสุข และ (5) ชุมชนเป็นสุข

สกู๊ป แวดวงการศึกษา ทั้ง 5 องค์ประกอบ มีความเกี่ยวเนื่องและส่งผลต่อกัน เนื่องจากต้องมีเป้าหมายเพื่อสร้างเสริมให้ "ผู้เรียนเป็นสุข" โดยการปรับสภาพ ลดปัจจัยเสี่ยง จัดโครงสร้างและระบบต่างๆ ให้โรงเรียน สภาพแวดล้อม ครอบครัว และชุมชนเป็นพื้นที่ปลอดภัย และส่งเสริมสุขภาวะของผู้เรียนทั้งด้านกาย ใจ สังคม และปัญญา

ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดที่จะนำมาวัดผลสำเร็จที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน!

“สิ่งที่ได้กับตัวเด็ก ด้วยบริบทชาติพันธุ์ปกติที่พยายามสอนอย่างไรก็ได้ให้เด็กรู้ภาษาไทยได้มากที่สุด ครูก็กังวล เด็กก็กังวล เมื่อเรามาปรับวิธีการสอนโดยพาเด็กออกน้องห้องเรียนมากขึ้น มาเรียนรู้ในศาลา ในสวน แปลงผักเล้าไก่ ในวัด ชุมชน เด็กก็เริ่มเรียนรู้อย่างมีความสุข สนุกสนานตื่นเต้นกับการบูรณาการภาษาอังกฤษในสวน ท่องสูตรคูณได้ก็เพราะไข่ เด็กคิดเป็นระบบจากภาพจริงที่เกิดขึ้น” ผอ.สมจิตบอกเล่า

ดังนั้น การเรียนรู้จากปัญหาเป็นฐาน จึงสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กได้มาก!

สำหรับสิ่งที่ได้กับครู โดดเด่นและเห็นผลสำเร็จที่ดีมากคือ กระบวนการพัฒนาครูเชิงวิชาชีพให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ หรือ PLC ไม่ใช่การประชุมธรรมดา แต่เป็นการพูดคุยในเรื่องที่อยากรู้ และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งหมด

ผอ.สมจิตกล่าวต่อว่า แม้ครูโรงเรียนบ้านจันทร์จะอยู่บนดอย แต่ครูของเราทุกคนรู้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอน Active learning ที่เรียนรู้จากปัญญาเป็นฐาน ซึ่งตอนนี้ครูทุกคนเห็นดีเห็นงามและมีกำลังใจที่จะทำ และทำด้วยความสุข โดยทางโรงเรียนจะพูดคุยกับครูทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์

จากผลการดำเนินงานของโรงเรียนบ้านจันทร์ในเชิงวิชาการ คือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (O-NET) พบว่า วิชาภาษาไทยเด็กสอบได้คะแนนสูงถึง 47% จากที่คาดว่าไม่เกิน 30% ซึ่งสูงเป็นอันดับ 1 ในอำเภอกัลยาณิวัฒนา

“แต่ทางโรงเรียนก็ยังเชื่อว่าวัดไม่ได้ เพราะคะแนน 30-40 ข้อ เด็กอาจจะกาแม่น เราก็ยังไม่ศรัทธาคะแนนโอเน็ตที่ออกมาอยู่ดี เพราะเด็กที่อยู่บ้านจันทร์บางคนคะแนนสูง แต่เรียนไม่รู้เรื่องเลย”

สกู๊ป แวดวงการศึกษา

ดังนั้น ทางโรงเรียนบ้านจันทร์จึงหวังผลระยะยาว ในการที่เด็กมีพฤติกรรมเปลี่ยน มีความคิด ความอ่านที่ดี เฉลียวฉลาดมากขึ้น เพราะมีวิธีคิดที่เปลี่ยนไป

กระทั่งมีรางวัลการันตีความสำเร็จ เมื่อปี พ.ศ.2558 รางวัลศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง 1 ใน 41 แห่งทั่วประเทศ โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, รางวัลต้นแบบนักเรียนไทยสุขภาพดี (Best of The Best) ปี พ.ศ.2559 และรางวัล MOE Award ของกระทรวงศึกษาธิการ ในสาขาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

“โอเน็ตและรางวัลต่างๆ คือผลพลอยได้ แต่เป้าหมายความสำเร็จของโรงเรียนจริง ๆ คือ เด็กนักเรียน ซึ่งเป็นเด็กด้อยโอกาส ต้องได้รับการพัฒนาโดยนวัตกรรมของโรงเรียนสุขภาวะ และสามารถนำมาปรับใช้ได้ทุกรูปแบบ แม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตาม สามารถสำเร็จได้ทุกเรื่อง” ผอ.สมจิตกล่าว

ทางด้าน รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา(IRES) ในฐานะผู้จัดการโครงการเสริมสร้างพลังอำนาจการจัดการศึกษาที่สร้างสุขภาวะในโรงเรียน กล่าวว่า โรงเรียนบ้านจันทร์ได้เข้าร่วมโครงการฯมากว่า 2 ปี โดยเน้นให้มีการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการเอาชีวิตเด็กเป็นตัวตั้ง

ซึ่งได้พบความโดดเด่นในเรื่องการพัฒนาครูเชิงวิชาชีพ (PLC) สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการสอนและการจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยเน้นวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งการเรียนรู้จากปัญหา (problem- based Learning) และการบูรณาการวิชาและทักษะต่างๆ เพื่อการแก้ปัญหาและค้นหาทางออกในสถานการณ์ชีวิตจริง

สกู๊ป แวดวงการศึกษา

รวมทั้งยังสร้างวัฒนธรรมการทำงานใหม่ที่เน้นการเรียนรู้ร่วมกัน (collective learning) ให้เกิดขึ้นกับครู ซึ่งต้องปรับกระบวนทัศน์ ปรับวิธีคิดการทำงานใหม่ บูรณาการทำงานร่วมกับเด็ก โดยเอาเด็กเป็นตัวตั้ง เอาปัญหาของเด็กมาเป็นโจทย์ทั้งหมด

“เพราะการปฏิรูปการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือเอาเด็กเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง แต่ทุกวันนี้โรงเรียนสอนโดยเอาวิชาเป็นตัวตั้ง ยัดความรู้ให้เด็ก เพื่อให้ได้คะแนนมากขึ้น”

ดังนั้น แค่เปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนวิธีคิด โดยตั้งเป้าหมายที่เด็ก ให้มีโอกาสได้เรียนรู้อย่างมีความสุข โดยไม่แคร์ว่าคะแนนโอเน็ตจะสูงหรือไม่ หากแต่เด็กมีความสุขด้วยกิจกรรมการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้วิเคราะห์แล้วว่า สิ่งที่ครูจัดให้เป็นเรื่องดี คุณภาพของเด็กก็จะดีขึ้นเอง

สกู๊ป แวดวงการศึกษา

โครงการเสริมสร้างพลังอำนาจการจัดการศึกษาที่สร้างสุขภาวะในโรงเรียน จึงมีแผนที่จะให้โรงเรียนบ้านจันทร์ได้ช่วยสนับสนุนเครือข่ายเรียนรู้อีก 10 แห่ง ในบริบทโรงเรียนทางภาคเหนือ

“เราเลือกจากโรงเรียนที่ผู้บริหารมีใจอยากจะทำ เพราะเราไม่มีเกียรติบัตรอะไรให้ เนื่องจากเราทำงานเพื่อต้องการสร้างความเป็นกัลยาณมิตรของโรงเรียนร่วมกัน ที่สำคัญแม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการจะเปลี่ยนโครงสร้างไปอย่างไร แต่การทำงานแนวราบในพื้นที่จริง เป็นการทำงานที่เข้มแข็งมากกว่า และเป็นการทำงานเพื่อเด็ก ซึ่งเป็นการตอบโจทย์คุณภาพการศึกษามากที่สุด” ประธาน IRESกล่าว

ด้าน นางเพ็ญพรรณจิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า จุดสำคัญที่สุดในการพัฒนาผู้เรียนต้องมี 3 องค์ประกอบ คือ 1.ผู้บริหาร 2.ครู และ 3.การเรียนการสอน ซึ่งโรงเรียนบ้านจันทร์มีครบทุกองค์ประกอบสำหรับการเป็นโรงเรียนที่ดี


นอกจากนี้ ยังมีการทำงานร่วมกับชาวบ้านและชุมชน ซึ่งชุมชนมีส่วนสำคัญในการพัฒนาโรงเรียน มีพ่อแม่ ผู้ปกครองที่เข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก และเข้ามามีส่วนร่วมกับโรงเรียนในแง่ของการพัฒนา มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการพัฒนาเด็ก เพราะมีแหล่งเรียนรู้จำนวนมาก

“ดังนั้น สสส.จึงจะยกระดับโรงเรียนบ้านจันทร์เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ โดย สสส.จะจัดการฝึกอบรมครูของโรงเรียนบ้านจันทร์ เพื่อพร้อมเป็นวิทยากรให้เพื่อนครูต่างโรงเรียนได้มาเรียนรู้ โดยคาดหวังว่าจะมีโรงเรียนเครือข่ายโรงเรียนสุขภาวะประมาณ 200 แห่ง เกิดขึ้นพร้อมกัน”

นางจีรัชญ์พัฒน์ ใจเมือง ผู้อำนวยการโรงเรียนเจริญใจ อ.แม่ใจ จ.พะเยา หนึ่งในโรงเรียนเครือข่ายโรงเรียนสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า โรงเรียนเจริญใจมีบริบทเหมือนกับโรงเรียนบ้านจันทร์ โดยก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 จัดการศึกษาพหุวัฒนธรรม (ชาติพันธุ์) ดูแลเด็กตลอด 24 ชั่วโมง พ่อแม่ ผู้ปกครองของเด็กนักเรียน ส่วนมากจะทำไร่กาแฟ ปลูกข้าว ลักษณะครอบครัวมีฐานะยากจน

“วันนี้ เรากำลังจะตายอยู่ในห้อง ICU อาการโคม่าหนักมาก ดังนั้น การได้มีโอกาสพาคณะครูมาเรียนรู้ต้นแบบการจัดการศึกษาที่สร้างสุขภาวะในโรงเรียนของโรงเรียนบ้านจันทร์ จึงเป็นการจุดประกายชี้ให้เห็นทาง สร้างพลังครูทุกคนมีใจอยากจะทำ เพื่อจะได้ช่วยชีวิตเด็กและชุมชน”

ณ วันนี้ โรงเรียนบ้านจันทร์ ถือเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการศึกษาที่สร้างสุขภาวะ และสามารถตอบโจทย์คุณภาพการศึกษาได้ บนพื้นฐานวิถีและวัฒนธรรม ในบริบทโรงเรียนพหุวัฒนธรรม (ชาติพันธุ์)