เผยผลวิจัย "ครัวต้นแบบ สงฆ์โภชนาดี" โครงการร่วมมือ “จุฬาฯ-มจร.”


คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมมือกับสำนักส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการสังคม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ในโครงการ ” ครัวต้นแบบ สงฆ์โภชนาดี” เพื่อสร้างเสริมโภชนาการที่ดีของพระสงฆ์ โดยพิธีลงนามความร่วมมือในโครงการดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาฯ

รศ.ดร.จงจิตร อังคทะวานิช จากภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยโครงการนี้ กล่าวว่า โครงการ “ครัวต้นแบบ สงฆ์โภชนาดี” อยู่ภายใต้โครงการวิจัยการขับเคลื่อนสื่อโภชนาการสงฆ์ไทยไกลโรคเพื่อสงฆ์ไทยเข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

โดยมีความมุ่งหมายที่จะสร้างเสริมโภชนาการที่ดีของพระสงฆ์ และสร้างต้นแบบของครัวในสถาบันสงฆ์ให้เกิดรูปธรรมของการจัดการอาหารถวายพระสงฆ์ที่มีมาตรฐาน ก่อให้เกิดความมั่นใจในด้านโภชนาการ สุขภาพ ตลอดจนความปลอดภัยต่อพระสงฆ์ และเป็นแหล่งศึกษาของการจัดการภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่มีคุณภาพและความปลอดภัย ซึ่งเป็นพันธกิจที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีบทบาทต่อการทำนุบำรุงศาสนา และสุขภาพของพระสงฆ์ 

“การสร้างครัวต้นแบบสงฆ์โภชนาดีครั้งนี้ ถือเป็นการดูแลโภชนาการพระสงฆ์ที่ เป็นต้นแบบแรกของประเทศไทย”

รศ.ดร.จงจิตรเปิดเผยถึงผลวิจัยว่า จากผลการวิจัยโดยใช้สื่อสงฆ์ไทยไกลโรค ในพระสงฆ์ในกรุงเทพฯ เป็นเวลา 8 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าพระสงฆ์มีน้ำหนักลด 1 กิโลกรัม รอบเอวลด 1.4 ซม. กลุ่มที่กำลังจะเกิดเบาหวานมีจำนวนลดลง 9.3%  ไขมันโคเลสเตอรอลในเลือดลดลง 48 มิลลิกรัม% ไขมันไตรกลีเซอไรด์ลดลง 30 มิลลิกรัม% และความดันโลหิตลดลง 3.7 มม.ปรอท 

พระสงฆ์ฉันอาหารโปรตีนเพิ่มขึ้น 13 กรัม/วัน ใยอาหารเพิ่มขึ้น 4.3 กรัม/วัน ฉันผักเพิ่มชึ้นวันละ 1 ทัพพี กะทิลดลงวันละ 2 ช้อนโต๊ะ ได้รับแคลเซียมเพิ่มขึ้นวันละ 155 มิลลิกรัม และออกกำลังเพิ่มขึ้นอีกวันละ 50 นาที  

“ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแบบลูกระนาดและให้ผลดีหลายอย่างในเวลาเดียวกัน  อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีการนำสื่อดังกล่าวไปขยายผลอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศต่อไป” รศ.ดร.จงจิตรกล่าว