สมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ “การวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลก” ที่จีน


ข่าวจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยถึงพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจเรื่องการวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลก (ภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างหน่วยงานขั้วโลกเหนือขั้วโลกใต้ของจีน กับ สวทช.) เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2559 ณ โรงแรม China World Hotel Beijing สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้

โดยสืบเนื่องจาก สวทช.รับสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อสานงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ขั้วโลกของประเทศไทย โดยได้มีการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สวทช. และหน่วยงานขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ (Chinese Arctic and Antarctic Administration: CAA) สังกัดสำนักงานบริหารกิจการทางทะเล (State Oceanic Administration: SOA) เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2556

จากนั้น สวทช.ในฐานะฝ่ายเลขานุการโครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริฯ ภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ประสานงานกับมหาวิทยาลัย ทำการคัดเลือกนักวิทยาศาสตร์ไทย เพื่อไปร่วมกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ดำเนินการโดย CAA

ซึ่งได้ทูลเกล้าฯถวายรายชื่อเพื่อขอพระราชทานพระราชวินิจฉัยจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งทรงมีพระราชวินิจฉัยให้นักวิทยาศาสตร์จาก 3 มหาวิทยาลัย คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เดินทางไปศึกษาวิจัยร่วมกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกของจีนทุกปี

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 เป็นต้นมา โดยปัจจุบันมีนักวิทยาศาสตร์ไทยได้เดินทางไปร่วมศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลกกับคณะสำรวจของจีนแล้วจำนวน 5 คน และอยู่ระหว่างการประสานงานเพื่อส่งนักวิทยาศาสตร์ไทยอีก 2 คน ไปร่วมกับคณะสำรวจในปี พ.ศ.2560

ทั้งนี้ เพื่อสานต่อให้เกิดความร่วมมือศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ขั้วโลกระหว่างมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของประเทศไทย กับสถาบันวิจัยของประเทศจีน สวทช.จึงได้หารือกับหน่วยงาน Polar Research Institute of China (PRIC)  ซึ่งสังกัด SOA เช่นเดียวกัน

โดย PRIC เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการศึกษาวิจัยขั้วโลก (ส่วน CAA รับผิดชอบการสำรวจขั้วโลกและการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้อง) ว่าควรมีการจัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกัน เพื่อกำหนดกรอบแนวทางในการดำเนินความร่วมมือด้านการวิจัยขั้วโลก ระหว่าง PRIC และสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยของไทย ซึ่งทาง PRIC เห็นชอบด้วย

จึงเป็นที่มาของการลงนามในบันทึกความเข้าใจด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลก (MOU on Polar Science Research (Under the MOU between CAA-NSTDA)) ระหว่าง มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของประเทศไทย จำนวน 4 แห่ง ซึ่งเคยส่งหรือสนใจจะส่งนักวิจัย/นักวิทยาศาสตร์ไปร่วมคณะสำรวจขั้วโลกใต้กับ CAA 

ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) รวมทั้ง สวทช.ในฐานะหน่วยงานประสานงานกับสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีน (Polar Research Institute of China)

โดยวัตถุประสงค์ของความร่วมมือคือ เพื่อพัฒนาความร่วมมือในการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลกตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านชีววิทยาทางทะเล (Marine Biology) สมุทรศาสตร์ (Oceanography) ธรณีฟิสิกส์ (Geophysics) และธรณีเคมี (Geochemistry)

โดยมีขอบเขตของความร่วมมือดังนี้ 1) แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และองค์ความรู้ ทางด้านวิทยาศาสตร์ขั้วโลก 2) แลกเปลี่ยนนักวิจัยและนักศึกษา รวมถึงการให้คำแนะนำซึ่งกันและกัน

3) ดำเนินกิจกรรมทางวิชาการร่วมกัน อาทิ การประชุมวิชาการ การจัดทำโครงการวิจัยร่วมกันเป็นต้น 4) แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกิจกรรมการดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และ 5) สนับสนุนการทำกิจกรรมเพื่อการประสานความร่วมมืออันดี

อนึ่ง ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่นางสาวสาวิตรี ภิรมย์กิจ (สวทช.) ผู้ประสานงาน สำนักงานประสานงานโครงการตามพระราชดำริ โทร.089-816-6415