กศน.จัดโครงการบรรณสัญจร เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ ชวน! ปชช.ร่วมบริจาคหนังสือ ส่งต่อแหล่งเรียนรู้เกือบ 3 หมื่นแห่งทั่ว ปท.


นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายสุรพงษ์ จำจด เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) นางวิไลลักษณ์ ชุลีวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ และนายจรัล หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงเปิดตัวโครงการบรรณสัญจร 2559 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา

โดยนายชัยยศ กล่าวว่า ศธ.มีนโยบายส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาคนทุกช่วงวัย ให้รักการอ่าน และได้มอบหมายให้สำนักงาน กศน.ดำเนินโครงการบรรณสัญจรเพื่อรับบริจาคหนังสือจากประชาชน เพื่อส่งต่อไปยังพื้นที่ห่างไกล เนื่องจากห้องสมุดมีไม่มาก และจำนวนแหล่งรับบริจาคมีน้อย

กศน.จึงเป็นตัวกลางประสานเพื่อให้คนที่มีหนังสือที่อ่านจบแล้ว และต้องการบริจาค ได้ส่งต่อให้กับคนที่รักการอ่านแต่ไม่มีเงินซื้อหนังสือได้อ่าน และยังเป็นการสร้างสำนึกของการแบ่งปัน

“หนังสือมีความสำคัญกับทุกคน เพราะความรู้เกิดขึ้นจากการอ่าน หนังสือจึงเป็นขุมทรัพย์รวมองค์ความรู้ต่างๆ อย่างหลากหลาย ผมเชื่อว่าหนังสือทุกประเภทมีความรู้ทั้งสิ้น องค์ความรู้ดีหรือไม่ดีอยู่ที่ผู้เขียนกับผู้อ่าน ผู้อ่านก็ควรเลือกวิเคราะห์ว่าควรอ่านหนังสือประเภทไหนดี”

ด้านนายสุรพงษ์ กล่าวว่า เป้าหมายโครงการบรรณสัญจรที่ กศน.ทำขึ้นต้องการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องจากพระองค์เป็นนักอ่าน และมีพระประสงค์ที่ต้องการให้คนไทยใช้ห้องสมุดอ่านหนังสือกันมากๆ เพราะหนังสือคือเครื่องมือที่จะไขความรู้ต่างๆ อย่างหลากหลายไปสู่ความสำเร็จ        

โครงการบรรณสัญจร คือการรับบริจาคหนังสือจากประชาชน เพื่อส่งต่อไปยังแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งมีอยู่จำนวนทั้งสิ้น 26,835 แห่ง เป็นห้องสมุดประชาชนจำนวน 911 แห่ง กศน.ตำบล 7,424 แห่ง และบ้านหนังสือชุมชน 18,500 แห่ง

ทั้งนี้ บ้านหนังสือชุมชนเกิดขึ้นจากความร่วมมือของคนในชุมชนร่วมกันเสียสละพื้นที่บางส่วนของบ้านตนเอง เพื่อให้สมาชิกในชุมชนได้มีโอกาสเข้าไปใช้บริการอ่านหนังสือ เป็นสถานที่พบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องราวต่างๆ ตามวิถีชีวิตของคนในชุมชน จึงถือเป็นศูนย์กลางหมู่บ้านและครัวเรือน

นางวิไลลักษณ์กล่าวว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจการอ่านของคนไทยในปี พ.ศ.2558 พบว่า มีคนอ่านหนังสือนอกเวลาเรียนและเวลาทำงานถึง 77.7% รวมทั้งตัวเลขการอ่านหนังสือก็เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเป็น 66 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2556 ซึ่งอยู่ที่ 37 นาทีต่อวัน           

ส่วนนายจรัลกล่าวว่า ในงานสัปดาห์หนังสือปีนี้ได้วางกล่องรับบริจาคหนังสือไว้ตามบูธต่างๆ ซึ่งหนังสือทุกเล่มที่บริจาคจะมีคุณค่าสำหรับคนในชนบทห่างไกล