“อธิการฯ มจพ.” ร่วมค้านเลื่อนประเมินรอบ 4 ชี้!ส่งผลกระทบคุณภาพสถานศึกษาไทยหยุดนิ่ง


ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ในฐานะกรรมการบริหารสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ให้สัมภาษณ์กรณีคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา มีมติเสนอแนะต่อสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ชะลอการประเมินคุณภาพการศึกษาโดยหน่วยงานต้นสังกัด และการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 ของ สมศ.ออกไปเป็นเวลา 2 ปีว่า การชะลอการประเมินคุณภาพการศึกษาตามข้อเสนอแนะดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการศึกษาในภาพรวมของประเทศ

นอกจากจะไม่เป็นการดำเนินการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาอย่างน้อย 1 ครั้ง ทุก 5 ปี ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 49 แล้ว สถานศึกษาอาจละเลยระบบบริหารคุณภาพการศึกษา เนื่องจากขาดการกระตุ้นจากการประเมินขององค์กรกลางภายนอกสถานศึกษา ขณะเดียวกันผู้ปกครองและนักเรียน/นักศึกษาก็ไม่ได้รับทราบถึงสถานะและคุณภาพของสถานศึกษาที่สนใจจะเข้าศึกษาต่อ

ศ.ดร.ธีรวุฒิ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้หน่วยงานต้นสังกัดและรัฐบาลจะขาดข้อมูลด้านการศึกษาจากหน่วยงานกลาง คือ สมศ. เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบาย วางแผน และจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาสถานศึกษาที่ยังไม่มีความพร้อมในด้านต่างๆ รวมถึงสถานศึกษาในต่างประเทศอาจให้ความเชื่อถือและยอมรับสถานศึกษาไทยลดน้อยลง เนื่องจากขาดกระบวนการด้านมาตรฐานการศึกษา ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ได้

ส่วนผู้ประเมินที่มีคุณภาพ ที่มีประสบการณ์จากการประเมินคุณภาพรอบ 1-3 ที่ผ่านมาก็จะค่อยๆ หมดไป ทำให้เกิดการขาดช่วงและขาดแคลนผู้ประเมินเมื่อจะเริ่มประเมินรอบ 4

ที่ผ่านมาได้มีการสั่งให้ สมศ.ชะลอการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษา ทั้งระดับพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา มาแล้วประมาณ 1 ปีครึ่ง ดังนั้น หาก สปท.มีมติให้ชะลอการประเมินคุณภาพภายนอกต่อไปอีก 2 ปี และ ครม.ก็ให้ความเห็นชอบด้วย ก็จะรวมเป็นระยะเวลา 3 ปีครึ่ง

ซึ่งอาจจะส่งผลให้คุณภาพของสถานศึกษาในประเทศไทยหยุดนิ่ง เพราะผู้บริหารสถานศึกษาอาจจะไม่พัฒนาการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากไม่มีระบบการตรวจสอบมาตรฐานสถานศึกษาจากองค์กรกลางของรัฐระดับชาติ

“ในขณะที่ประเทศอื่นในประชาคมอาเซียนกลับมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ หากมีระบบเทียบโอนหน่วยกิตระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนโดยพิจารณาผลการรับรองมาตรฐานสถานศึกษาจากหน่วยงานกลางของรัฐบาลในระดับชาติแล้ว ประเทศไทยก็จะเสียโอกาสในการพัฒนาขีดความสามารถและการแข่งขันด้านการศึกษา เพื่อพัฒนาเยาวชนให้มีคุณภาพสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้านความมั่นคงของประเทศ” ศ.ดร.ธีรวุฒิกล่าว