“ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์” ให้มุมมองโครงสร้างใหม่กระทรวงศึกษาฯ...ควร ‘ตั้ง-ไม่ตั้ง’ กรมวิชาการ!


ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สัมภาษณ์กับ “สำนักข่าวการศึกษา สยามเอ็ดดูนิวส์” เกี่ยวกับโครงสร้างบริหารใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่ง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับเล็กโครงสร้างบริหารใหม่ของ ศธ. หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งที่ 8/2559 เรื่อง “การบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน” ให้ขึ้นตรงต่อสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)

โดย ดร.พนมให้ทรรศนะว่า “โครงสร้างบริหาร ศธ.เดิมที่เราใช้ปัจจุบัน ซึ่งแบ่งเป็น 5 แท่ง บางคนอาจรู้สึกอึดอัดว่าไม่เป็นเอกภาพ และการบูรณาการมีค่อนข้างน้อยมาก ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรผมไม่ทราบ เพียงแต่ผมได้รับฟังหรือมีเสียงบ่นจากเจ้าหน้าที่ในกระทรวงศึกษาฯ พวกที่ทำงานบางคนก็บอกว่าดีแล้ว แต่มีติดขัดเรื่องนโยบายไม่เป็นเอกภาพ”

“ถ้าเป็นปัญหาแบบนี้แล้ว ควรจะกลับไปบริหารเป็นแบบเดิมที่มีกรมต่างๆ มีปลัด ศธ.เป็นซี 11 คนเดียว จะดีหรือไม่นั้น ผมมองว่าน่าจะผสมผสานระหว่างความเป็นแท่งและความเป็นกรม พอเป็นแท่งแล้วไม่มีกรม พอเป็นกรมแล้วไม่มีแท่ง อย่างเช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ใหญ่มาก ทำให้งานอุ้ยอ้าย ความรับผิดชอบสูง และกระจัดกระจาย”

“เรื่องความแตกต่างในหน้าที่ก็มีมากและหลากหลาย เช่น งานวิชาการ งานหลักสูตร งานวัด งานประเมินผล ส่วนงานที่ต้องจัดการศึกษา มีทั้งประถมศึกษา มัธยมศึกษา และการศึกษาพิเศษ ซึ่งกว้างขวางและหลากหลายมากที่จะกำกับดูแลให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยทั้งหมด ซึ่งผมเห็นด้วยกับ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่พูดถึงเรื่องไม่มีใครดูแลงานวิชาการ งานพัฒนาหลักสูตร งานวัดผล ประเมินผล ไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง”

“ส่วนในแท่งบริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือ สอศ. ที่ขณะนี้มีการรวมเอาสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนเข้ามาอยู่ในกำกับของ สอศ. จะเข้าอีหรอบเตี้ยอุ้มค่อมหรือไม่นั้น ในส่วนนี้ผมไม่ติดใจ เพราะ สอศ.เป็นการศึกษาระดับกลาง โดยเฉพาะอาชีวศึกษาเอกชน เป็นการศึกษาระดับกลางเช่นกัน ควรมีอิสระค่อนข้างมากในการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน”

“แต่การนำไปบริหารในรูปแบบเดิม จะไม่มีความเชี่ยวชาญในตัวเอง ผมอยากเห็นเอกชนกับรัฐ โดยเฉพาะสถานศึกษาทางด้านอาชีวศึกษามีความเชื่อมโยง สัมพันธ์ใกล้ชิด มีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ไม่ใช่แยกว่าเป็นอาชีวศึกษาของรัฐ หรือเป็นอาชีวศึกษาเอกชน คำว่ารัฐกับเอกชน เป็นเพียงว่าใครเป็นเจ้าของ แต่ในการจัดการศึกษาน่าจะร่วมมือกันได้ การไปอยู่ในสังกัดเดียวกันจะทำให้เกิดความร่วมมือ แต่ก็อาจจะมีปัญหาเรื่องของมาตรฐาน เพราะการดูแลอาชีวศึกษาเอกชน จะมีความแตกต่างกันหรือไม่”

“สิ่งที่ผมพูดมานี้ หมายถึงเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน หลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนรู้ การส่งเสริม สนับสนุน ส่วนการดำเนินการจัดการศึกษาเอกชน เขาก็มีอิสระในการจัดการของเขาอยู่แล้ว ผมมองในแง่ว่า ถ้าดูการศึกษาเอกชนเหมือนกับว่ากระทรวงศึกษาฯเข้าไปควบคุมดูแล ที่จริงไม่ต้องควบคุมดูแล แต่ควรส่งเสริมการจัดการศึกษาให้เขา”

“แต่ปัจจุบันผมยังเห็นว่า กระทรวงศึกษาฯยังไปควบคุมดูแลหลักสูตร การรับนักเรียนต่างๆ อยู่ จริงๆ แล้วกระทรวงศึกษาฯควรวางกรอบหลวมๆ เพราะการศึกษาเอกชนที่จัดกันไม่ว่าจะเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา มหาวิทยาลัย ผู้เรียนเขาเป็นคนตัดสินอยู่แล้ว ที่ไหนดีและตรงตามเป้าประสงค์ที่เขาต้องการ เขาก็เลือกเรียน”

ดร.พนมกล่าวทิ้งท้ายสนับสนุนและเห็นด้วยเต็มที่ว่า โครงสร้างกระทรวงศึกษาฯควรจะแยกงานด้านวิชาการออกไป แต่ไม่ใช่กลับไปเหมือนเดิมเป็นกรมวิชาการ แต่ควรจะเป็นหน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่กำกับดูแลเรื่องมาตรฐานการเรียนรู้ต่างๆ มาตรฐานหลักสูตร มาตรฐานการวัดผลประเมินผล เพื่อให้มีอิสระความคล่องตัวในการคิดทำงาน