“บิ๊กหนุ่ย” นำทีมถก กมธ.ขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา วางระบบโครงสร้าง ศธ.-ครู-วิธีสอน


พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วย  พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. และคณะผู้บริหาร ศธ. หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เมื่อเร็วๆ นี้

รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เปิดเผยว่า การหารือร่วมกันครั้งนี้ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ตามยุทธศาสตร์ ศธ. แผนบูรณาการการยกระดับการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งจุดเน้นการปฏิรูปการศึกษา 6 ด้าน คือ หลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน, ครู, การบริหารจัดการ, ICT  เพื่อการศึกษา, การพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้เพื่อการผลิตและพัฒนากำลังคนและงานวิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการของการพัฒนาประเทศ    และการประเมินและพัฒนามาตรฐานการศึกษา

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นพ้องในแนวทางเดียวกันในจุดเน้นการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งทั้งกระทรวงศึกษาธิการและคณะกรรมาธิการฯ สปท. นำโดยนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานคณะกรรมาธิการฯ จะตั้งคณะทำงานเพื่อหารือและประสานการทำงานด้านการปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ต้องการให้คณะกรรมาธิการฯช่วยพิจารณาระบบการบริหารจัดการ/โครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ ครู และหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน

นายวิวัฒน์ กล่าวว่า การตั้งคณะทำงานร่วมกัน จะช่วยทำให้การประสานการทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการใกล้ชิดมากขึ้น พร้อมทั้งจะนำกรอบการดำเนินงานตามวาระการปฏิรูปที่ได้รับจากสภาการปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ใน 3 วาระปฏิรูปประเด็นเร่งด่วน คือ ครู,  มาตรฐานคุณภาพ  (TQF) และการสร้างวินัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจุดเน้นการปฏิรูปการศึกษาด้านหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน

ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า ควรเริ่มปลูกฝังวินัยนักเรียนตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา ที่สำคัญต้องแก้ไขปัญหานี้ร่วมกันทั้งองคาพยพ รวมทั้งครู ผู้ปกครองด้วย ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่เห็นว่าเรื่องวินัยเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก

ในการหารือครั้งนี้ พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้นำเสนอให้ที่ประชุมเห็นภาพการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ตามยุทธศาสตร์กระทรวงศึกษาธิการ แผนบูรณาการการยกระดับการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจุดเน้นการปฏิรูปการศึกษา รวมทั้งปัญหาอุปสรรคในการบริหารราชการตามโครงสร้างปัจจุบันของกระทรวงศึกษาธิการ คือ 1) การบริหารงานแบบแยกส่วน ขาดการบูรณาการ 2) ไม่มี CEO อย่างแท้จริง ไม่สอดคล้องกับระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

3) เขตพื้นที่การศึกษาไม่ได้เป็นเขตพื้นที่การศึกษาของกระทรวงอย่างแท้จริง 4) การบริหารงานบุคคลในระดับพื้นที่ที่มีการแทรกแซงทางการเมือง มีปัญหาเรื่องความเป็นธรรมและความโปร่งใส 5) หน่วยงานที่รับผิดชอบงานวิชาการมีสถานภาพเป็นหน่วยงานในระดับสำนัก 6) หน่วยงานที่มีภารกิจคล้ายกันแต่ไม่ได้อยู่ภายใต้สังกัดเดียวกัน

ด้าน รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ. กล่าวในที่ประชุมถึงการแก้ไขปัญหาครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งพัฒนาระบบการสรรหาและการพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ โดยเสนอให้เห็นถึงแผนผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษา คือ โครงการคุรุทายาท ที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ภายในเดือนมกราคม 2559 โดยมี 9 มหาวิทยาลัยร่วมรับผิดชอบการผลิตและพัฒนา

การบริหารงานบุคคล ซึ่งบางเรื่องอาจเสนอให้ใช้มาตรา 44 เช่น การรักษาการในตำแหน่งของผู้บริหารสถานศึกษา การย้ายผู้บริหารสถานศึกษา เป็นต้น,  การพัฒนาครูฯ ซึ่งจะเน้นครูในโรงเรียนขนาดเล็ก (นักเรียนต่ำกว่า 120 คน) จำนวน 15,577 โรง โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 20 คน จำนวน 1,059 โรง จะเร่งพัฒนาผู้อำนวยการโรงเรียนเพื่อแก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอน นอกจากนี้ จะพัฒนาครูที่สอนไม่ตรงวิชาเอก

นอกจากนี้ ปลัด ศธ.ได้ย้ำให้เห็นถึงการโยกย้ายครูที่ยังคงมีการจ่ายเงินวิ่งเต้น แต่ตรวจสอบได้ยาก เนื่องจากเป็นการสมยอมกัน รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 470,000 ราย

โดยในเร็วๆ นี้จะเชิญตัวแทนธนาคาร สหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ และหน่วยงานที่รับผิดชอบ มาหารือร่วมกันตามนโยบาย รมว.ศึกษาธิการ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบต่อไป