“เสมา 1” ให้นโยบายอาชีวศึกษาเอกชน

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานเปิดและบรรยายพิเศษในการประชุมผู้บริหารและครูวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชน และการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 40 "การปรับยุทธศาสตร์อาชีวศึกษาเอกชนภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลง" เมื่อวันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม 2558 ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จ.เชียงใหม่ โดยมี รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ., นายอดินันท์ ปากบารา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.), ผู้ได้รับใบอนุญาต ผู้บริหาร และครูอาชีวศึกษาเอกชนทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมกว่า 600 คน

พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวบรรยายตอนหนึ่งว่า โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีทั้งขยายตัวและหดตัว ส่วนในระดับอาชีวศึกษาของไทยควรจะมีการขยายตัวจำนวนผู้เรียนให้สอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาประเทศ แต่ทว่ากลับหดตัว โดยเฉพาะอาชีวะเอกชนที่มีจำนวนผู้เรียนลดลงอย่างมาก โดยในปีการศึกษา 2553-2557 อาชีวะเอกชนมีจำนวนนักเรียนลดลงถึงร้อยละ 27.8 ในขณะที่โรงเรียนสามัญของเอกชนกลับขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 10.9 ดังนั้น อาชีวะเอกชนต้องกระตุ้นตนเองให้มีการแข่งขัน โดยต้องลงมาเล่นในเรื่อง "ยุทธวิธี" เพื่อให้เกิดการทำงานที่ตอบสนองต่อ "ยุทธศาสตร์" ซึ่งการแก้ไขปัญหาอะไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือจะต้องหาโจทย์ปัญหาของตนเองให้เจอ ต้องฉีกปัญหาให้ละเอียดยิบเท่าที่จะทำได้ และหากแก้ไขแต่ปัญหาองค์รวมจะทำให้ขยับยาก จึงต้องเจาะเป็นพื้นที่หรือจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดที่สุด และทันต่อบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

กระทรวงศึกษาธิการในฐานะเป็นหน่วยงานที่ต้องดูแลทั้งอาชีวะของรัฐและเอกชน ก็ได้จัดระบบที่จะส่งเสริมผู้เรียนอาชีวะด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ให้เด็กมีทางเลือกในการศึกษา การส่งเสริมระบบทวิศึกษา ระบบทวิภาคี การส่งเสริมอาชีวะให้มีความเป็นเลิศ การดำเนินกิจกรรมตามนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ที่จะต้องมีกิจกรรมสร้างแรงจูงใจหรือสภาวะแวดล้อมที่ดีเพื่อให้เด็กมัธยมศึกษาที่เป็นเป้าหมายของเรา เลือกที่จะมาเรียนต่อในระดับอาชีวศึกษามากขึ้น

ในส่วนของปัญหาความต้องการของอาชีวะเอกชน เช่น การเพิ่มเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัว, ความเป็นอิสระทางวิชาการ, การเสียภาษี, สถานภาพครูอาชีวะเอกชน รวมทั้งความต้องการที่จะเปิดสอนถึงระดับปริญญาตรีนั้น ได้รับทราบและจะนำกลับไปให้รัฐบาลพิจารณา แต่การเสนออะไรให้นายกรัฐมนตรีพิจารณานั้น จำเป็นต้องมีเหตุผล ข้อมูล กติกาที่เพียงพอชัดเจนที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ยังได้กล่าวข้อคิดเห็นหลายประเด็นในการจัดการศึกษาของอาชีวะเอกชน อาทิ การทำงานควรมีการผนึกกำลังกับทุกภาคส่วน การนำ ICT มาใช้ในการศึกษา การกำกับดูแลของภาครัฐที่ปัจจุบันให้ สช.ดูแลการจัดการศึกษาของอาชีวะเอกชน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาที่ดูแลในระดับจังหวัดนั้น คงจะต้องมีการทบทวนเพื่อแก้ไขปัญหานี้โดยเร็ว นอกจากนี้ เรื่องหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ของอาชีวะที่จะต้องฝึกให้นักเรียนเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) หรือสมอง, ด้านเจตพิสัย (Affective Domain) หรือหัวใจ, ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) หรือมือ รวมทั้งด้านสุขภาพ (Health) ที่แข็งแรง เรียกว่า "Head - Heart - Hand - Health" แต่อาชีวะอาจจะต้องเน้นไปที่ทักษะการปฏิบัติจริง หรือ Hand เป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนที่ผลิตออกมาต้องดีมีคุณภาพทั้ง IQ และ EQ ทั้งนี้ ได้ขอให้รวบรวมผลการประชุมสัมมนาครั้งนี้เสนอให้รับทราบ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้เป็นขั้นตอน ทั้งในส่วนที่เป็น Function Based หรือ Area Based

รศ.นพ.กำจร ปลัด ศธ.กล่าวเพิ่มเติมถึงการให้อาชีวะเอกชน ซึ่งปัจจุบัน สช. กำกับดูแล ไปขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กำกับดูแลแทนว่า เรื่องนี้กำลังร่างกฎหมายอยู่ คาดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้จะแล้วเสร็จ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้การจัดการศึกษาของอาชีวะเอกชนเป็นมาตรฐานเดียวกับสถานศึกษาอาชีวะของรัฐ