ศธ.ปัดฝุ่น “1 อำเภอ 1 ทุน” พร้อมเดินหน้าโครงการทุนช่างเทคนิค-บัณฑิตนักปฏิบัติ


พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน (One District One Scholarship : ODOS) ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน 2558 ว่า โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 จนถึงปัจจุบัน เป็นจำนวน 4 รุ่น โดยมีนักเรียนรับทุนรวมจำนวนทั้งสิ้น 3,093 คน และใช้งบประมาณกว่า 29,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีนักเรียนทุน ODOS รุ่นที่ 1-2 สำเร็จการศึกษาแล้วจำนวน 1,836 คน ซึ่งส่วนใหญ่กลับมาประกอบอาชีพในประเทศไทย โดยเข้าทำงานในภาคเอกชนร้อยละ 73.70 ภาครัฐร้อยละ 11.93 รัฐวิสาหกิจร้อยละ 1.2 ธุรกิจส่วนตัวร้อยละ 1.4 และศึกษาต่อในระดับที่สูงร้อยละ 10.73 และขณะนี้ยังมีนักเรียนที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยไทยและต่างประเทศอีก 2 รุ่น แบ่งเป็นรุ่นที่ 3 จำนวน 689 คน และรุ่นที่ 4 จำนวน 568 คน

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นต่อรายงานผลโครงการศึกษาวิจัยเพื่อติดตามและประเมินผลโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ซึ่งสำนักงานปลัด ศธ.มอบให้คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมี รศ.สมพงษ์ จิตระดับ เป็นหัวหน้าคณะวิจัย ซึ่งผลการศึกษาพบว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์ต่อการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กจากครอบครัวที่มีฐานะยากจนได้เข้าถึงการศึกษาที่ดีและสูงขึ้น ตลอดจนทำให้ได้คนที่มีคุณภาพกลับมาพัฒนาประเทศไทย แต่เนื่องจากที่ผ่านมากติกาไม่ชัดเจน ยังมีช่องว่างช่องโหว่ และมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข ทำให้ผลสัมฤทธิ์ที่ได้กลับมาไม่ชัดเจน เช่น มีการเปลี่ยนวัตถุประสงค์จากเดิมที่ให้โอกาสแก่ผู้มีรายได้น้อย เป็นการเปิดโอกาสผู้มีรายได้สูงด้วย ทำให้เด็กในท้องถิ่นอาจจะเสียโอกาสเมื่อต้องแข่งกับเด็กส่วนกลาง

“ที่ประชุมจึงได้เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อทบทวนวัตถุประสงค์ของโครงการ ODOS รวมทั้งกติกา เงื่อนไข และวิธีการให้มีความชัดเจนมากขึ้น ตลอดจนกำหนดเป้าหมายหลักของโครงการว่า จะยังคงกระจายทุนให้กับเด็กที่มาจากครอบครัวด้อยโอกาสในทุกอำเภอ หรือจะให้ทุนเพื่อได้คนกลับมาพัฒนาประเทศ โดยจะรวบรวมเป็นข้อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ซึ่งเชื่อว่าเรื่องของกติกาและประโยชน์ที่จะได้รับกลับมาเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลจะได้พิจารณาต่อไป ส่วนจะมีการปรับเปลี่ยนโครงการอย่างไรบ้างนั้น ขอให้คณะกรรมการได้มีการหารือก่อน โดยเฉพาะเงื่อนไขการใช้ทุนคืน ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐไม่มีตำแหน่งรองรับ จึงทำให้เด็กเข้าทำงานในภาครัฐเพียงร้อยละ 11.93 ในขณะที่เข้าทำงานในภาคเอกชนร้อยละ 73.70 แต่ไม่ว่าจะทำงานที่ไหนก็ถือเป็นการช่วยเหลือประเทศเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการดำเนินโครงการใหญ่ๆ จะต้องเกิดความสูญเสียงบประมาณอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มีนัยสำคัญจนเกิดเป็นผลกระทบใดๆ”

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า ส่วนโครงการทุนช่างเทคนิคและบัณฑิตนักปฏิบัติ (TTS) ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะดำเนินการต่อไปหรือไม่นั้น ได้หารือกับ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ในฐานะที่กำกับดูแล สอศ. มาเป็นระยะๆ โดยขณะนี้ได้มอบให้รวบรวมข้อมูลและรายละเอียดทั้งหมด เพื่อนำมาพิจารณาวางแผนขับเคลื่อนโครงการอย่างเป็นระบบต่อไป