“สนช.-สปช.”เปิดวงเสวนาปฏิรูปศึกษา แนะตั้งศูนย์ฝึกอบรมครูทุกจังหวัด

เมื่อเร็วๆ นี้ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานเปิดการเสวนาเกี่ยวกับร่างข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่อง “การปฏิรูประบบหลักสูตรและการเรียนการสอน” จัดโดยคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับคณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมี พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ผู้บริหารจาก ศธ. และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการเสวนา

พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า การเสวนาครั้งนี้ตรงกับความต้องการของ ศธ.ในการรับทราบมุมมองและข้อคิดเห็นจากผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการปฏิรูประบบการศึกษาว่า ควรจะดำเนินการในลักษณะใด เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในระบบการจัดการศึกษา โดยเฉพาะตอบโจทย์เรื่องของการพัฒนากำลังคนให้มีทักษะและมีความพร้อมในการเข้าสู่การเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีความสามารถเพียงพอที่จะรองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีศักยภาพที่เพียงพอต่อการเข้าสู่สังคมโลกในศตวรรษที่ 21 และเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในช่วงปลายปี 2558 นี้ ตลอดจนมีความพร้อมที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย จึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่ สนช. สปช. หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงภาคเอกชน ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ

ทั้งนี้ ในวงเสวนาได้มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะมากมาย อาทิ การจัดตั้งสถาบันวิจัยหลักสูตรและการเรียนการสอน หรือศูนย์ฝึกอบรมครูประจำการประจำทุกจังหวัด ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ ศธ.และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ก่อนหน้านี้ ที่เห็นว่าเป็นหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาที่กระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตครูส่วนใหญ่ จะต้องช่วยเป็นพี่เลี้ยง ดูแล และให้ความรู้แก่ครูในช่วงเวลาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ในการจัดตั้งสถาบันวิจัยหลักสูตรและการเรียนการสอน หรือศูนย์ฝึกอบรมครูประจำการประจำทุกจังหวัดนั้น อาจต้องใช้งบประมาณและบุคลากรเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก ดังนั้น หากยังไม่สามารถดำเนินการได้ ศธ.ก็จะขอให้สถาบันอุดมศึกษาในภูมิภาคช่วยดูแลดำเนินการเรื่องดังกล่าวไปก่อน

เรื่องการปรับหลักสูตร ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว โดยได้มอบนโยบายให้โรงเรียนต่างๆ ว่า ไม่จำเป็นจะต้องยึดถือตามหลักสูตรอย่างเคร่งครัด อาจจะใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการเท่านั้น แต่จะต้องมีการกำหนดเป้าหมายหลักสูตร เช่น นักเรียนที่จบการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จะต้องอ่านออกเขียนได้ ดังนั้น แต่ละโรงเรียนจะต้องไปพิจารณาแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมเอง เช่น หากโรงเรียนมีนักเรียนที่เป็นเด็กชาติพันธุ์จำนวนมาก อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ก็อาจจะไปเพิ่มการเรียนเสริมในวิชาภาษาไทย ส่วนกลุ่มสาระอื่นที่เด็กมีความรู้อยู่แล้วก็ลดจำนวนชั่วโมงลง ต้องปรับให้เหมาะสม ไม่ต้องยึดติดหรือเคร่งครัดกับตัวชี้วัดหรือจำนวนชั่วโมงการสอนของแต่ละวิชา