ก.ท่องเที่ยวและกีฬาถก “ศธ.” วางนโยบายพัฒนาการเรียนพลศึกษา

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วยนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมประชุมผู้บริหารทั้ง 2 กระทรวง เพื่อหารือนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนการสอนพลศึกษาและการท่องเที่ยว เมื่อเร็วๆ นี้ โดย พล.ร.อ.ณรงค์กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ปรับปรุงหลักสูตรเพิ่มจำนวนชั่วโมงเรียนวิชาพลศึกษาอย่างน้อย 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์แล้ว โดยจะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2558 อย่างไรก็ตาม หลักสูตรดังกล่าวมีความอ่อนตัวมากขึ้น แต่ละโรงเรียนสามารถออกแบบการจัดการเรียนการสอนได้ตามความเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน ซึ่งจะไม่มีการกำหนดอย่างชัดเจนว่า ในแต่ละสัปดาห์จะต้องเรียนวิชาใดบ้าง และเรียนเป็นระยะเวลาเท่าใด ทำให้แต่ละโรงเรียนจะมีอิสระและสามารถปรับหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนได้ตามความเหมาะสมกับผู้เรียน และความพร้อมของโรงเรียน

ยกตัวอย่างเช่น หากโรงเรียนใดพบว่า นักเรียนส่วนใหญ่อ่อนวิชาภาษาไทย ก็สามารถที่จะเพิ่มเวลาเรียนวิชาภาษาไทยเป็น 3-4 ชั่วโมงได้เลย เช่นเดียวกันกับวิชาอื่นๆ ที่หากมีความเก่งแล้ว ก็สามารถลดเวลาเรียนวิชานั้นๆ เพื่อไปสอนเสริมวิชาที่ยังอ่อนอยู่ได้ แต่ในส่วนของวิชาพลศึกษาก็ได้ให้แนวทางว่า ควรจะต้องให้นักเรียนได้เรียนอย่างน้อยเป็นเวลา 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ในขณะที่นางกอบกาญจน์ ได้เสนอให้มีการฟื้นฟูกีฬามวยไทย กระบี่กระบองในโรงเรียน เพื่อให้เด็กที่สนใจได้มีโอกาสในการฝึกหัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬามวยไทยที่กำลังเป็นที่นิยมไปทั่วโลก และยังเป็นการช่วยรักษาศิลปวัฒนธรรมไทยด้วย ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ พล.ร.อ.ณรงค์ที่ต้องการส่งเสริมกีฬามวยไทยในโรงเรียน เพราะถือเป็นศิลปะที่สำคัญของไทย แต่จะต้องคำนึงถึงความพร้อมของแต่ละโรงเรียน ทั้งในเรื่องของครู อุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนถึงสื่อในการเรียนการสอนด้วย เชื่อว่าบางโรงเรียนที่มีครูที่สามารถสอนกระบี่กระบอง หรือมวยไทย ก็จะสามารถประยุกต์ผสมผสานความรู้เหล่านี้ร่วมกันได้ แต่บางโรงเรียนที่ไม่มีครูด้านนี้ ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาอาจจะต้องช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องของสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ความรู้แก่ครูที่จะนำไปใช้ในการสอนนักเรียนต่อไป

พล.ร.อ.ณรงค์ยังกล่าวด้วยว่า กระทรวงศึกษาฯมีนโยบายพัฒนาครูทุกกลุ่มสาระวิชาในห้องเรียนและในโรงเรียน เพื่อไม่ให้ครูทิ้งนักเรียนไปอบรมในโรงแรมเป็นเวลานานๆ ซึ่งการพัฒนาครูวิชาพลศึกษาก็เช่นกัน จะต้องจัดอบรมพัฒนาที่ห้องเรียนหรือในโรงเรียน จึงขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดส่งโค้ชเข้าไปอบรมในพื้นที่โรงเรียนต่างๆ อาจอบรมในลักษณะกลุ่มโรงเรียนที่มีบริเวณใกล้เคียงกัน 5-10 โรงเรียน ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีทำให้ครูได้อยู่ในโรงเรียน ไม่ทิ้งนักเรียนแล้ว จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าที่พัก ซึ่งทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเห็นด้วยที่จะปรับปรุงรูปแบบการพัฒนาครูพลศึกษาในลักษณะ On the Job Training ต่อไป

นอกจากนี้ เรื่องรูปแบบการประเมินผลนักเรียนที่มีความเป็นเลิศด้านนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เสนอให้ ศธ.ปรับรูปแบบการประเมินผลการเรียนวิชาพลศึกษาสำหรับนักเรียนเป็นกรณีพิเศษ เช่น นักเรียนที่มีความเป็นเลิศในกีฬาชนิดต่างๆ หรือนักกีฬาเยาวชนทีมชาติ แต่ติด E ในวิชาพลศึกษา เพราะไม่มีความถนัดในบางชนิดกีฬาที่โรงเรียนสอน รวมทั้งอาจไม่มีเวลามาเรียนวิชาพลศึกษาในโรงเรียน เพราะจำเป็นต้องฝึกซ้อมหรือเดินทางไปแข่งขัน จึงได้หารือถึงความเป็นไปได้ที่จะให้มีการประเมินผลการเรียนวิชาพลศึกษาจากความเป็นเลิศของตัวนักกีฬารายนั้นๆ แทน ตลอดจนขอให้มีการผ่อนผันเกี่ยวกับการเข้าทดสอบทางการศึกษาในระดับโรงเรียนและระดับชาติ ซึ่งทาง สพฐ.จะนำเรื่องนี้ไปสื่อสารให้โรงเรียนต่างๆ ได้เข้าใจในการประเมินผลดังกล่าวต่อไป แต่ในส่วนของการทดสอบทางการศึกษาในระดับโรงเรียนและระดับชาติ เช่น O-Net นั้น ก็มีช่องทางที่จะผ่อนผันให้นักเรียนกรณีเจ็บป่วย หรือกรณีอื่นๆ อยู่แล้ว