“ซีมีโอ”เสนอ ศธ.ไทยจับมือสมาชิกอาเซียนร่วมกันพัฒนาครู-อาชีวะ

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วยนายวัชรินทร์ จำปี รองปลัด ศธ. ให้การต้อนรับ Dr. Gatot Hari Priowirjanto ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่และหารือความร่วมมือด้านการศึกษา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา โดย Dr. Gatot Hari Priowirjanto ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ กล่าวขอบคุณรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ไทยที่ให้การสนับสนุนในการจัดประชุมรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สภาซีเมค) ระหว่างวันที่ 6-9 พฤษภาคม 2558 นี้ ที่โรงแรม Royal Cliff Grand จังหวัดชลบุรี โดยเฉพาะการประชุมในระดับนโยบายในหัวข้อ “Digital Learning for Creating Future Global Citizens” ที่ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน ซึ่งประเทศไทยได้มีการดำเนินการเกี่ยวกับ Digital Learning มาอย่างเข้มข้นและมีความก้าวหน้า และเชื่อว่าประเทศสมาชิกซีมีโอในภูมิภาคอาเซียนจะสามารถเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกันในระหว่างการประชุมดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

Dr. Gatot Hari Priowirjanto ยังได้เสนอให้มีการสร้างเครือข่ายการพัฒนาครูในภูมิภาคอาเซียน เพราะครูเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการศึกษา การเชื่อมโยงครูของประเทศสมาชิกเข้าด้วยกันจะช่วยให้การพัฒนาครูประสบความสำเร็จมากขึ้น นอกจากนี้ควรดำเนินความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาระหว่างประเทศสมาชิกด้วย เพราะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีวิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษาจำนวนมาก จึงจะขอหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการสร้างเครือข่ายครูและการพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นของการอาชีวศึกษาในโอกาสต่อไป

ด้าน พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า การพัฒนาการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมขององค์การซีมีโอจะสำเร็จได้ด้วยการประสานความร่วมมือระหว่างสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ ศูนย์/เครือข่ายระดับภูมิภาคของซีมีโอ และภาคีเครือข่าย เนื่องจากศูนย์/เครือข่ายระดับภูมิภาคฯมีจำนวนถึง 21 แห่ง กระจายอยู่ในประเทศสมาชิกอาเซียน และในฐานะประธานสภาซีเมคคนใหม่ ตนก็จะให้ความร่วมมือกับการดำเนินงานกับสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ เพื่อให้การประสานงานเกี่ยวกับโครงการต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่น

“สำหรับข้อเสนอของผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอเกี่ยวกับการสร้างเครือข่ายพัฒนาครูในอาเซียน ผมเห็นด้วย โดยนอกจากการใช้วิธีการพัฒนาครูรูปแบบเดิมแล้วก็มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการพัฒนาครูที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และหากประเทศสมาชิกมีแนวทางในการพัฒนาครูที่ดำเนินการประสบความสำเร็จ ก็เห็นควรนำมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ระหว่างกัน เพื่อให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ได้รับทราบ และนำไปดัดแปลงใช้กับประเทศของตนได้อย่างเหมาะสม”

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า ในส่วนของความร่วมมือด้านอาชีวศึกษา เชื่อว่าปัจจุบันเรื่องที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือ เมื่อผู้เรียนจบการศึกษาแล้วจะต้องมีงานทำ การพัฒนาขีดความสามารถด้านการอาชีวศึกษาจึงมีความสำคัญเช่นกัน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการทำงานและพัฒนาประเทศต่อไป สมาชิกซีมีโอหลายประเทศที่มีการดำเนินงานด้านอาชีวศึกษาได้ดีและประสบความสำเร็จ ซึ่งแต่ละประเทศอาจมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน เช่น บางประเทศเชี่ยวชาญด้านยานยนต์ บางประเทศอาจเชี่ยวชาญด้านการเกษตร หรือการบริการ ดังนั้น แต่ละประเทศสามารถนำความรู้ ความเชี่ยวชาญมาแลกเปลี่ยนและให้ความรู้แก่ประเทศสมาชิกอื่นๆ เชื่อว่าด้วยขีดความสามารถของสำนักงานเลขาธิการซีมีโอจะสามารถประสานกับประเทศสมาชิกที่มีความสามารถและความรู้ในแต่ละสาขา ให้นำประสบการณ์ ความสำเร็จมาใช้เป็นข้อมูลและจัดกิจกรรมหรือโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังกล่าวแก่ประเทศสมาชิก อาจเป็นการแลกเปลี่ยนบุคลากร เช่น ครู นักเรียน นักศึกษาในช่วงเวลาที่เหมาะสม