สอศ.จัดประชาพิจารณ์ปฏิรูปอาชีวศึกษาเสร็จแล้ว ลงลึกกำหนดค่าจ้างผู้สำเร็จอาชีวะ จัดตั้ง “กรอ.อศ.” ระดับจังหวัด-ภาค

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดประชุมประชาพิจารณ์การปฏิรูปการอาชีวศึกษา ในกลุ่มภาคกลาง ภาคตะวันออก และกรุงเทพมหานคร เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำกรอบแนวทางการปฏิรูปอาชีวศึกษา ที่โรงแรมทาวน์อินทาวน์ กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมี ดร.ชาญเวช บุญประเดิม รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เป็นประธาน

ดร.ชาญเวช กล่าวว่า สอศ.เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปอาชีวศึกษา ในกลุ่มภาคกลาง ภาคตะวันออก และกรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม 250 คน แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสภาอุตสาหกรรมจังหวัด สภาหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และสถานประกอบการ กลุ่มผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้บริหารสำนักงาน กศน.จังหวัด กลุ่มผู้บริหารสถานศึกษาและครู สังกัดอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชน และกลุ่มภาคประชาสังคม ชุมชน ท้องถิ่น ผู้ปกครอง และศิษย์เก่า โดยมีกรอบการหารือเกี่ยวกับการสร้างแรงจูงใจให้สถานประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมจัดการอาชีวศึกษา แนวทางการกำหนดความต้องการกำลังคนทั้งในระดับจังหวัด และระดับภาค เพื่อการวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคน การจัดระบบข้อมูลกำลังคนในระดับจังหวัด

การกำหนดค่าจ้างหรือค่าตอบแทนตามสมรรถนะของผู้สำเร็จอาชีวศึกษา ความร่วมมือในระดับจังหวัดและระดับภาคในการจัดอาชีวศึกษาทวิภาคี รวมทั้งสาขาเร่งด่วน การจัดตั้ง กรอ.อศ.ระดับจังหวัดและระดับภาค เพื่อเป็นกลไกเสริมสร้างและผลักดันความร่วมมือในพื้นที่ การเพิ่มผู้เรียนสายอาชีวศึกษา การแนะแนวการศึกษาเพื่ออาชีพและมีงานทำ การสนับสนุนการสร้างค่านิยมอาชีวศึกษา อาชีวะในโรงเรียนมัธยม อาชีวะตามอัธยาศัย การทำงานแบบเชื่อมโยงระหว่างสถานศึกษาในจังหวัด การรวมอาชีวะรัฐและอาชีวะเอกชนให้อยู่ภายใต้หน่วยงานเดียวกัน โครงสร้างหน่วยงาน และการทำงานร่วมกัน

การกระจายอำนาจไปสู่พื้นที่และจังหวัด ความพร้อมและความต้องการรับการกระจายอำนาจในการดำเนินการเรื่องต่างๆ ความต้องการให้อาชีวศึกษาสร้างอาชีพ พัฒนาท้องถิ่น และส่งเสริมความเข้มแข็งชุมชนและสังคม ความร่วมมือในการจัดอาชีวศึกษาในกลุ่มผู้สูงอายุ การระดมทรัพยากรเพื่อการผลิตและพัฒนากำลังคนในระดับภาคและจังหวัด เป็นต้น

รองเลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อว่า ที่มาของการปฏิรูปอาชีวศึกษาของประเทศไทยครั้งนี้ มาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 กำหนดให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทำหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่างๆ ซึ่งการศึกษาเป็นเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสนใจที่จะดำเนินการปฏิรูป เพื่อให้มีผลในการดำเนินการบริหารบ้านเมืองในอนาคตไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้น เพื่อที่จะดำเนินการให้สอดคล้องกัน สอศ.จึงมีการศึกษา วิเคราะห์ ระดมความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับอาชีวศึกษา ซึ่งได้รับข้อมูลที่หลากหลาย เพื่อนำเสนอร่างกรอบแนวทางปฏิรูปการอาชีวศึกษาเสนอต่อคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ให้พิจารณาและตรวจสอบ

จากนั้น สอศ.จะนำมาปรับแก้ไขแล้วนำเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป เพื่อให้เกิดการปฏิรูปอาชีวศึกษา สามารถผลิตและพัฒนากำลังคนได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ และการพัฒนาทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการครบทั้ง 4 ภูมิภาคแล้ว ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคกลาง ภาคตะวันออก และกรุงเทพฯ

จากการรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ ทุกฝ่ายต่างชี้ให้เห็นถึงปัญหาและเสนอแนะแนวทางการจัดอาชีวศึกษาในมิติต่างๆ อาทิ การพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน การจัดงบประมาณสนับสนุนการเรียนระบบทวิภาคีร่วมกับสถานประกอบการ การแก้ไขระเบียบกฎหมายให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริง การเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการ ชุมชน และสถานศึกษาระดับจังหวัด การพัฒนาคุณภาพการศึกษา การประชาสัมพันธ์สื่อสารระหว่างหน่วยงาน ซึ่งทางอาชีวศึกษาจะนำไปเป็นข้อมูลในการยกร่างกรอบแนวทางการปฏิรูปการอาชีวศึกษาต่อไปดร.ชาญเวช กล่าว