มทร.ธัญบุรี วิจัยพบความลับจากเส้นใยกล้วยแข็งแรงสุด ถักทอสุดยอด ยื่นอนุสิทธิบัตร

มทร.ธัญบุรี วิจัยพบความลับจากเส้นใยกล้วยแข็งแรงสุด ถักทอสุดยอด ยื่นอนุสิทธิบัตร กลุ่มเกษตรกรปลูกกล้วยได้ประโยชน์

นักวิจัยคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี วิจัยพบความลับจากเส้นใยกล้วย มีความแข็งแรงที่สุดในกลุ่มของเส้นใยธรรมชาติ เหมาะในการนำมาใช้เป็นเส้นใยสำหรับงานถักทอให้โดดเด่นและทันสมัย ยื่นอนุสิทธิบัตรสู่การพัฒนาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์งานถักทอ กลุ่มเกษตรผู้ปลูกกล้วยได้ประโยน์ รายได้มั่นคงเกินคาด

อาจารย์โสภิดา วิศาลศักดิ์กุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ - การพัฒนาผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เล่าถึงเหตุปัจจัยที่มาของการวิจัยแห่งการค้นพบว่า เห็นว่าประเทศไทยมีการเพาะปลูกกล้วยจำนวนมากและต้นกล้วยมักจะถูกตัดทิ้งหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่งผลให้เกิดขยะทางการเกษตร จึงมีแนวคิดนำกาบกล้วยมาผลิตเป็นเส้นใยกล้วย จากการวิจัยเบื้องต้นถือได้ว่าเส้นใยกล้วยเป็นเส้นใยที่มีความแข็งแรงที่สุดในกลุ่มของเส้นใยธรรมชาติ และมีความต้านทานต่อการสลายตัวด้วยน้ำเค็มและเส้นใยกล้วยมีความเงามันและมีสีค่อนข้างเหลือง มีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการนำมาใช้เป็นเส้นใยสำหรับงานถักทอ และเหมาะสำหรับการนำไปใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์งานฝีมือได้เป็นอย่างดี

เส้นใยจากกล้วยดังกล่าวพบว่า มีจุดเด่น คือ เป็นเส้นใยที่มีความแข็งแรง มันวาว เมื่อผลิตเป็นเส้นใยรูปแบบเส้นใยแบน สามารถนำไปทอเป็นเส้นผืนเสื่อ เพื่อนำไปใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์จากสื่อทอเส้นใยกล้วยในรูปแบบต่าง ๆ อาทิเช่น สมุดบันทึก กระเป๋า แจกันทรงสูง สำหรับเส้นใยกล้วยรูปแบบเส้นใยกลม เป็นเส้นใยที่ผ่านกระบวนการบิดเกลียวเชือกเพื่อนำไปใช้การถักขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิเช่น ตะกร้า กระเป๋า ดอกไม้ประดิษฐ์ ซึ่งความแตกต่างของรูปแบบเส้นใยเกิดจากกระบวนการผลิตเส้นใยที่แตกต่างกัน ทำให้ได้เส้นใยจากกล้วยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายยิ่งขึ้น

ต่อมาทางสำนักคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ให้งบฯสนับสนุนภายใต้โครงการ การพัฒนาระบบการจัดการเชิงพื้นที่ด้วยการใช้ : เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของเสียและสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ในเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์งานถักทอจากเส้นใยกล้วย และดำเนินยื่นอนุสิทธิบัตร ผลิตภัณฑ์งานถักทอจากเส้นใยกล้วย อันเป็นทางเลือกใหม่ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรผู้ปลูกกล้วย พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้โดดเด่น ทันสมัย เพื่อจะได้มีศักยภาพในการแข่งขันและสามารถส่งออกได้ โดยมีบริษัท วัน บานาน่า จำกัด จะเป็นหน่วยงานดำเนินการนำผลิตเส้นใยจากกล้วยเพื่อส่งออกให้กลุ่มวิสาหกิจไปออกแบบสร้างสรรค์และจัดจำหน่ายหรืออาจส่งกลับมายังบริษัท วัน บานาน่า จำกัด เพื่อเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์ออกจัดจำหน่ายต่อไปก็ได้

อนึ่งผลงาน “การพัฒนาเส้นใยจากกล้วยสำหรับผลิตภัณฑ์งานถักทอ” นี้เป็นอีกหนึ่งในสี่ผลงาน ประกอบด้วย “การพัฒนาเส้นใยกล้วยในงานแฟชั่นเครื่องแต่งการและเคหะสิ่งทอ (ผ้าใยกล้วยบัวหลวง)” โดย ผศ.ดร.สาคร  ชลสาคร คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ “การพัฒนาวัสดุผสมจากไผ่เหลือทิ้ง (Development of bamboo composites from bamboo waste)”  โดย ผศ.ดร.สรพงษ์ ภวสุปรีย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ “การพัฒนากระบวนการผลิตและยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยหน่อไม้ดอง” โดย ผศ.ดร.อารณี  โชติโก คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำผลงานวิจัยเข้าร่วมประกวด และจัดแสดงนิทรรศการในงาน จากหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศกว่า 150 หน่วยงาน

ทั้งนี้ มทร.ธัญบุรี ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “Platinum Award” พร้อมเงินรางวัล 120,000 บาท ที่นำไปจัดแสดง ในกลุ่มงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อน BCG Economy Model มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020)ที่จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ อีกด้วย

 

ชลธิชา ศรีอุบล กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี 0-2549-4994