ม.ทักษิณ จับมือ 51 ร.ร. พัฒนาครูด้วยนวัตกรรมชั้นเรียน-วิธีการแบบเปิด

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ  วิทยาเขตสงขลา ร่วมกับ 51 โรงเรียน ในจังหวัดสงขลา พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการสนับสนุนการพัฒนาวิชาชีพครูด้วยนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) 

เพื่อพัฒนาสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูและสมรรรถนะการเรียนรู้ของนักเรียนในศตวรรษที่ 21 ให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมและชุมชนในพื้นที่ และตามปณิธานของมหาวิทยาลัยทักษิณ  "มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม"  

ทั้งนี้ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้จัดโครงการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กับโรงเรียนร่วมพัฒนา และการบรรยายพิเศษ ณ ห้องประชุมชั้น 1 อาคารศูนย์ปฏิบัติการวิชาชีพครู คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เมื่อเร็วๆ นี้

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วิชัย ชำนิ อธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ ประธานในพิธีได้กล่าวถึงการพัฒนาการศึกษาในบริบทของไทย การใช้แนวคิดต่างๆ ในการผลิตและพัฒนาครู ธรรมชาติการเรียนรู้ของนักเรียน และประสบการณ์ในการศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ในโครงการ APEC - TSUKUBA International Conference 2006 "Innovative Teaching Mathematics through Lesson Study" ในปี พ.ศ.2549 

ชั้นเรียนของประเทศญี่ปุ่น สะท้อนภาพการจัดการเรียนการสอนที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ ครูทำหน้าที่ในการสนับสนุนส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งการใช้แนวคิด “การศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach)” ที่ทางคณะศึกษาศาสตร์ได้ดำเนินการร่วมกับโรงเรียนต่างๆ ที่ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)  

จึงเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ ซึ่งมีตัวอย่าง “โครงการพัฒนาการคิดขั้นสูงทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ซึ่งดำเนินการโดยรองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่อย่างได้ผลที่เป็นรูปธรรม  

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เรวดี กระโหมวงศ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ เป็นผู้กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์และความสำคัญของการดำเนินโครงการที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคมและชุมชนในพื้นที่ในการยกระดับคุณภาพการศึกษา ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยทักษิณ  "มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม"  

สำหรับโรงเรียนที่ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) จำนวน 51 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนกลับเพชรศึกษา โรงเรียนคัมภีร์วิทยา โรงเรียนจงรักสัตย์ วิทยา โรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ โรงเรียนจิปิภพพิทยา โรงเรียนซอลีฮียะห์ โรงเรียนญัณญาร์วิทย์ โรงเรียนญันนะห์วิทยา โรงเรียนดารุลอูโลมนิบงบารู โรงเรียนทรัพย์ธานีวิทยา โรงเรียนทอฝันโรจนวิชญ์ โรงเรียนท่าใหญ่วิทยา โรงเรียนเทศบาลตำบลปริก โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ

โรงเรียนธรรมศาสน์วิทยา โรงเรียนนิด้าศึกษาศาสตร์ โรงเรียนบ้านกะรุบี โรงเรียนบ้านตือเบาะ โรงเรียนบ้านโตะบาลา โรงเรียนบ้านมือลอ (มะ อาแดอุทิศ) โรงเรียนเบตงจูเนียร์คอลีฟะห์ศึกษา โรงเรียนประทีปวิทยา โรงเรียนปัตตานีดารุสลาม โรงเรียนภักดีศึกษามูลนิธิ โรงเรียนมุคตารีวิทยา โรงเรียนมุสลิมสันติชน โรงเรียนยุวอิสลามวิทยามูลนิธิ โรงเรียนเร๊าะห์มานีย๊ะห์ โรงเรียนวรพัฒน์

 

โรงเรียนศรัทธาพิทยา โรงเรียนศรีทักษิณ โรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์ โรงเรียนศรีฟารีดาบารูวิทยา โรงเรียนศานติธรรม โรงเรียนศาสนูปถัมภ์ปากพะยูน มูลนิธิ โรงเรียนศิริพงศ์วิทยา โรงเรียนสวรรค์วิทยาคาร โรงเรียนสังคมอิสลามวิทยา โรงเรียนสามัคคีธรรมวิทยา โรงเรียนสามารถดีวิทยา โรงเรียนสุกัญศาสน์วิทยา โรงเรียนแสงศรัทธา โรงเรียนหวังดี

 

โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาคาร โรงเรียนอันซอเรียะห์อัดดีนียะห์ โรงเรียนอารยธรรมศาสน์ โรงเรียนอาลาวียะห์วิทยา โรงเรียนอิบนูอัฟฟานบูรณวิทย์ โรงเรียนอิสลามบาเจาะวิทยา โรงเรียนอิสลาฮุดดีนวิทยา และ โรงเรียนอุดมศาสน์วิทยา