กสศ.ปลื้มโครงการทุนพัฒนาอาชีพฯใช้ชุมชนเป็นฐาน ไปได้ดี!

กสศ.ปลื้มโครงการทุนพัฒนาอาชีพฯใช้ชุมชนเป็นฐาน ไปได้ดี!

เดินหน้าต่อ 130 โครงการ 52 จังหวัด กลุ่มเป้าหมายเกือบหมื่นคน

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า ประชากรวัยแรงงานมีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและต่ำกว่า โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบที่ทำงานลักษณะกึ่งฝีมือหรือไร้ฝีมือที่ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางรายได้ และขาดการคุ้มครองทางสังคม ในด้านความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ พบว่า กลุ่มนอกระบบมีรายได้ต่ำกว่าแรงงานในระบบ ในทุกภาคการผลิตมีรายได้เฉลี่ยเพียง 6,500 บาท หรือต่ำกว่าต่อเดือน รูปแบบการพัฒนาอาชีพยังมีจำกัด

อีกทั้งหลักสูตรอาชีพในปัจจุบันขาดความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน และตลาดแรงงาน และในยุคของเทคโนโลยีดิสรัปชั่นนี้ ประเทศไทยนอกจากจะมีกำลังแรงงานไร้ฝีมือ และฝีมือต่ำแล้ว ยังถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติอีกด้วย 

ด้วยเหตุนี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงดำเนินงาน “โครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส” หรือ ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ขึ้นในปี 2562 โดยมีเป้าหมายในการพัฒนากำลังแรงงานให้สามารถยกระดับฝีมือและทักษะ มีแผนประกอบอาชีพและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน 

ดร.สมคิด แก้วทิพย์ ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการในปี 2562 มีจำนวนโครงการที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือก 71 โครงการ เป็นกลุ่มประชากรวัยแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสไม่จำกัดอายุ โดยมีการศึกษาต่ำกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมีรายได้ต่ำกว่า 6,500 บาทต่อเดือน รวมถึงผู้ด้อยโอกาส ได้แก่ ผู้ที่ว่างงาน คนพิการ คนเร่ร่อน เยาวชนในสถานพินิจ ผู้ต้องโทษ รวมทั้งสิ้นประมาณ 6,000 คน 

สำหรับรูปแบบการทำงานของโครงการเน้น การทำงานที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน จากผลการดำเนินงานในปี 2562 ได้พัฒนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับหน่วยพัฒนาอาชีพและกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถ ศักยภาพที่มีทั้งในระดับตัวบุคคล ระดับกลุ่มอาชีพ และระดับชุมชน โดยเกิดการประกอบอาชีพในกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่สร้างทั้งรายได้หลักและรายได้เสริมในการหล่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว 

อย่างเช่นโครงการพัฒนาทักษะการทอผ้าจกเพื่อสร้างอาชีพสำหรับกลุ่มสตรีแม่บ้านที่มีพื้นฐานการทอผ้า ในอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่  2. โครงการพัฒนาอาชีพของกลุ่มสตรีปกาเกอะญอผู้ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่  และ3. โครงการพัฒนาทักษะด้านอาชีพการประกอบอาหารขนาดย่อมในกลุ่มพ่อแม่วัยรุ่น ของกลุ่มฅนวัยใส  เช่น  เปิดร้านไก่ปิ้ง ลูกชิ้นทอด ร้านกล้วยทอด ร้านน้ำปั่น ปั้นขลิป ร้านน้ำผึ้งมะนาวโซดา โดยมีรายได้เฉลี่ย 300 บาทต่อวัน จากการขายหน้าบ้าน ตลาดนัด และขายผ่านแอปลิเคชั่น 

 

ด้านน.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. กล่าวเสริมว่า เพื่อให้การสร้างโอกาสทางความเสมอภาคเกิดความต่อเนื่อง ปี 2563 กสศ. จึงได้ดำเนิน “โครงการพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน” หรือ ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2563 โดย มีหน่วยเสนอโครงการที่ผ่านการพิจารณา ทั้งสิ้น 130 โครงการ จาก 52 จังหวัด มีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 8,652 คน ประกอบด้วยแรงงานนอกระบบ คนพิการ และผู้ว่างงาน ฯลฯ