ก.ค.ศ.สนองนโยบายยกกำลัง 2 ปรับหลักเกณฑ์ ขรก.ครูฯ 5 เรื่องสำคัญ

ผลประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 8/2563 เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 โดยมีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน 

ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ได้พิจารณาเรื่องเกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่สำคัญ ดังนี้

1.ก.ค.ศ.เห็นชอบกรอบการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง 

จากเดิม ก.ค.ศ.ได้กำหนดให้การพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เป็นการพัฒนาผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด

แต่หลังจากที่ได้ประกาศใช้หลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนานี้แล้วพบว่า วิธีการพัฒนาในรูปแบบเดิมเน้นการบรรยายมากกว่าการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง รวมถึงใช้ระยะเวลาการพัฒนาและงบประมาณค่อนข้างมาก ไม่ทันต่อความจำเป็นที่จะได้บุคลากรในตำแหน่งที่มีความสำคัญของหน่วยงานมาปฏิบัติงาน

ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในเรื่องของการศึกษายกกำลังสองสู่ความเป็นเลิศ และเป็นการพลิกโฉมการศึกษาไทย คณะกรรมการ ก.ค.ศ.จึงได้กำหนดกรอบแนวทางการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก ให้มีทักษะพื้นฐาน

ได้แก่ ทักษะภาษาไทย ทักษะภาษาอังกฤษ และทักษะดิจิทัล  และให้มีความพร้อมในทักษะที่จำเป็นและสมรรถนะที่เหมาะสมตามมาตรฐานตำแหน่งที่
ก.ค.ศ.กำหนด ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการพัฒนาก่อนการคัดเลือกแล้วจะเป็นผู้ที่สามารถปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งได้ทันที โดยกรอบการพัฒนาฯมีสาระสำคัญ ดังนี้

กระบวนการที่ 1 Self Development (การพัฒนาตนเอง) ให้มีการเรียนรู้ทักษะภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ดิจิทัล และทักษะที่จำเป็นตามมาตรฐานตำแหน่งและสมรรถนะสำหรับตำแหน่ง ผ่านศูนย์ HCEC/DEEP หรือช่องทางอื่นตามที่ ก.ค.ศ.กำหนด

ให้ส่วนราชการส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนาของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยจัดเตรียมงบประมาณ อุปกรณ์ เครื่องมือ สถานที่และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงาน และรับรองวุฒิบัตรหรือใบรายงานผลการประเมิน

กระบวนการที่ 2 Screening (การคัดกรอง) ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถนำวุฒิบัตรหรือใบรายงานผลการประเมินไปใช้เป็นคุณสมบัติสำหรับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งภายในระยะเวลาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด

กระบวนการที่ 3 Selection (การคัดเลือก) ให้ส่วนราชการ หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้งเป็นผู้ดำเนินการคัดเลือก เกณฑ์และวิธีการประเมินให้เป็นไปตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด ทั้งนี้ ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละส่วนราชการ ส่วนการกำหนดองค์ประกอบ ตัวชี้วัด ให้ส่วนราชการ หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง กำหนด

กระบวนการที่ 4 Probation (การประเมินสัมฤทธิผลฯ) ให้ผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งได้รับการ Coaching and Mentoring จากผู้ทรงคุณวุฒิหรือวิทยากรพี่เลี้ยงที่มีประสบการณ์ และการฝึกปฏิบัติงานหรือการลงพื้นที่จริงเพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ มีเจตคติที่ดี คุณธรรม จริยธรรมที่เหมาะสมกับตำแหน่ง และมีกรรมการประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด

2.คณะกรรมการ ก.ค.ศ.เห็นชอบหลักการของ (ร่าง) เกณฑ์อัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

เนื่องจากสภาพปัญหาที่พบในปัจจุบัน โรงเรียนขนาดเล็กมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้อัตรากำลังของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่เพียงพอต่อการจัดการเรียนรู้ รวมถึงเกณฑ์ฯอัตรากำลังเดิมได้ใช้จำนวนนักเรียนเป็นปัจจัยในการกำหนด ทำให้ไม่สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน

จึงจำเป็นต้องปรับปรุงเกณฑ์อัตรากำลังฯขึ้นใหม่ เพื่อให้โรงเรียนขนาดเล็กมีอัตรากำลังที่เหมาะสม สามารถจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงไปสู่การวางแผนผลิต สรรหา และพัฒนาครูในอนาคต รวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการลดภาระงานธุรการของครู ซึ่งจะทำให้ครูมีเวลาในการจัดการเรียนการสอนได้เต็มที่ และเกิดประสิทธิภาพในการบริหารงบประมาณ

ซึ่งเกณฑ์อัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสังกัด สพฐ.ใหม่นี้ มีกรอบแนวคิดตามนโยบายยกระดับคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก การบริหารอัตรากำลังที่คำนึงถึงมิติเชิงปริมาณและมิติเชิงคุณภาพ

ทั้งนี้ มิติเชิงปริมาณ ได้แก่ 1.โรงเรียนขนาดเล็กมีครูอย่างน้อย 4 คน (ครูประถมศึกษา ครูภาษาไทย ครูคณิตศาสตร์ และครูปฐมวัย หรือ ครูภาษาอังกฤษ) 2.ใช้ Work Load (ชม.สอน และ ชม.เรียน) เป็นปัจจัยการกำหนดอัตรากำลัง  3.มีอัตรากำลังบุคลากรสายสนับสนุนการศึกษาที่เหมาะสม และ 4.แผนพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพโรงเรียนขนาดเล็ก (ปี 2563-2565)

ส่วนมิติเชิงคุณภาพ ได้แก่ 1.ตอบโจทย์นโยบายการศึกษายกกำลังสอง 2.เด็กมีทักษะในการอ่าน เขียน (Literacy) และการคิดวิเคราะห์ (Numeracy) 3.ลดงานธุรการของครู/คืนครูสู่ห้องเรียน 4.เชื่อมโยงไปสู่การวางแผนผลิต สรรหา และพัฒนาครูในอนาคต และศูนย์ HECE 5.โรงเรียนขนาดเล็กมีประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนสูงขึ้น และ 6.ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

โดยที่ประชุมได้ให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ดำเนินการปรับรายละเอียดของ (ร่าง) เกณฑ์อัตรากำลังดังกล่าว ให้เกิดความครอบคลุมตามข้อเสนอแนะของที่ประชุมอีกครั้งหนึ่ง

3.คณะกรรมการ ก.ค.ศ.เห็นชอบ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ตำแหน่งประเภททั่วไป เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ

เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ขออนุมัติกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ตำแหน่งประเภททั่วไป เป็นตำแหน่งประเภทวิชาการ

เพื่อเป็นการส่งเสริมความก้าวหน้าให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ตำแหน่งประเภททั่วไป ที่ปฏิบัติงานมาเป็นเวลานาน แต่ขาดความก้าวหน้าในการรับราชการ

และเพื่อประโยชน์ของทางราชการที่จะได้บุคคลที่มีประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ เหมาะสมกับตำแหน่ง และตรงกับความต้องการของหน่วยงานการศึกษา หรือส่วนราชการมาปฏิบัติงาน

ซึ่งคณะกรรมการ ก.ค.ศ.เห็นว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมความก้าวหน้าให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค. (2) ตำแหน่งประเภททั่วไป และเพื่อประโยชน์ของทางราชการ

จึงเห็นชอบการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ตำแหน่งประเภททั่วไป เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ เพื่อใช้กับหน่วยงานการศึกษาและส่วนราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยสรุปสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ได้ ดังนี้

1.ให้ กศจ.หรือ อ.ก.ค.ศ.ที่ ก.ค.ศ.ตั้ง แล้วแต่กรณี เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือก 2.ผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกต้องเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ในหน่วยงานการศึกษาในสังกัดส่วนราชการนั้น

3.ผู้สมัครมีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกได้เพียงตำแหน่งเดียวและหน่วยงานการศึกษาเดียว 4.ให้ส่วนราชการ หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้งแล้วแต่กรณี ดำเนินการกำหนดวัน เวลา และสถานที่ในการคัดเลือก กำหนดสัดส่วนจำนวนตำแหน่งว่างเพื่อใช้ในการคัดเลือก 5.การคัดเลือก แบ่งออกเป็น 3 ภาค คือ ภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป ภาค ข ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง และภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง 

6.ผู้ผ่านการคัดเลือกต้องได้คะแนนในแต่ละภาคไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบ 7.ประกาศผลการคัดเลือกตามตำแหน่งว่างของแต่ละหน่วยงานการศึกษา หรือส่วนราชการ โดยเรียงตามประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกของแต่ละหน่วยงานการศึกษา หรือส่วนราชการ โดยเรียงลำดับจากผู้ได้คะแนนรวมทุกภาค จากมากไปหาน้อย

8.การบรรจุและแต่งตั้งผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งเรียกตามลำดับที่ให้ครบตามจำนวนตำแหน่งว่างที่ประกาศรับสมัคร โดยไม่มีการขึ้นบัญชี สำหรับการให้ได้รับเงินเดือนให้ได้รับเงินเดือนเท่าเดิม และ 9.กรณีไม่สามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ได้ ให้เสนอ ก.ค.ศ. พิจารณา

4.คณะกรรมการ ก.ค.ศ.อนุมัติให้แก้ไขหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2)  

เนื่องจาก สพฐ.ขอแก้ไขหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. (ว 27/2555)

ซึ่งเดิมกำหนดให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้ดำเนินการสอบ หรือรวมเขตพื้นที่การศึกษาในภูมิภาคเดียวกัน โดยระบุเขตพื้นที่การศึกษาแล้วมอบ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาใดเขตพื้นที่การศึกษาหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการสอบ ทั้ง 3 ภาค

ประกอบกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 16/2560 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2560 กำหนดให้ ก.ค.ศ.เป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และในกรณีที่ ก.ค.ศ.เห็นสมควรจะมอบหมายให้ กศจ., อ.ก.ค.ศ.ซึ่ง ก.ค.ศ.ตั้ง ส่วนราชการหรือหน่วยงานการศึกษาเป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขัน 

โดย สพฐ.ได้ให้ความเห็นว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาขอกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความเป็นเอกภาพ พร้อมทั้งเกิดประโยชน์สูงสุด จึงขอแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการฯดังกล่าว

โดยกำหนดให้ส่วนราชการต้นสังกัดเป็นผู้กำหนดวันเวลาการสอบแข่งขันเท่านั้น ส่วนการดำเนินการสอบแข่งขันมอบให้ กศจ.ดำเนินการ

คณะกรรมการ ก.ค.ศ.พิจารณาเห็นว่า เพื่อประโยชน์ของทางราชการ จึงอนุมัติให้แก้ไขหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข โดยในการนี้มอบให้ สพฐ.ซึ่งเป็นส่วนราชการต้นสังกัดเป็นผู้กำหนดนโยบายและดำเนินการสอบแข่งขัน รวมถึงการกำหนดวัน เวลาในการสอบแข่งขันและการเรียกผู้สอบแข่งขันได้มารายงานตัว 

ตลอดจนการดำเนินการจัดทำข้อสอบ ตรวจ ประมวลผลการสอบ กำหนดวิธีการสอบ การขึ้นบัญชี การยกเลิกบัญชี และการรับโอนผู้สอบแข่งขันได้เพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. (ว 27/2555)

5.คณะกรรมการ ก.ค.ศ.เห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการนำบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีหนึ่งไปขึ้นบัญชีเป็นผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีอื่น ตำแหน่งครูผู้ช่วย

ซึ่งเดิม ก.ค.ศ.ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย (ว 5/2561) โดยหลังจากการสอบคัดเลือกแล้ว หากต้องการนำบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีหนึ่งไปขึ้นบัญชีเป็นผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีอื่น ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการนำบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีหนึ่งไปขึ้นบัญชีเป็นผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีอื่น ตำแหน่งครูผู้ช่วย (ว 8/2561) 

และต่อมา ก.ค.ศ.ได้ยกเลิกหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย (ว 5/2561) และประกาศให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย (ว 14/2563) แทน จึงต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการนำบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีหนึ่งไปขึ้นบัญชีเป็นผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีอื่น ตำแหน่งครูผู้ช่วย ใหม่ เพื่อใช้แทนหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว 8/2561 เพื่อให้เกิดความชัดเจนและความคล่องตัวในการดำเนินการขอใช้บัญชี

ซึ่ง ก.ค.ศ.พิจารณาแล้วเห็นควรปรับปรุงเฉพาะประเด็นที่เป็นสาระสำคัญ โดยตัดข้อความในข้อ 2 วรรคสองของหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว 8/2561 ที่กำหนดว่า “ทั้งนี้ การบรรจุและแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้จากการขอใช้บัญชีให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่บัญชีเดิมจะครบอายุการขึ้นบัญชี” ออก แล้วปรับการเขียนข้อ 4.3 และ 4.5 ดังนี้

ข้อ 4.3 “เมื่อสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด หรือส่วนราชการ ได้รับรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้ที่จัดลำดับที่เอกสารหลักฐานการสมัครสอบแข่งขัน หนังสือสอบถามความสมัครใจ และที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้ของผู้สมัครใจ จากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด หรือส่วนราชการ ที่ส่งรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้แล้ว ให้รายงาน กศจ. หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง พิจารณาให้ความเห็นชอบและประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ โดยบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ที่ประกาศใหม่ ให้มีอายุการขึ้นบัญชีเท่ากับบัญชีเดิม...”

ข้อ 4.5 “ให้ใช้ประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ เป็นการเรียกตัวผู้สอบแข่งขันได้มารายงานตัวเพื่อบรรจุและแต่งตั้งตามลำดับที่ โดยต้องกำหนดให้ผู้สอบแข่งขันได้มารายงานตัวเพื่อบรรจุและแต่งตั้งไม่หลังวันที่บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ครบอายุการขึ้นบัญชี และให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของ กศจ. หรือ อ.ก.ค.ศ.ที่ ก.ค.ศ.ตั้ง ดำเนินการบรรจุและแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรฐานตำแหน่ง ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว…”

6.คณะกรรมการ ก.ค.ศ.อนุมัติแต่งตั้งอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใน อ.ก.ค.ศ.วิสามัญฯ ที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ รวม 21 ตำแหน่ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด ดังนี้

1.อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ใน อ.ก.ค.ศ.วิสามัญฯ แทนตำแหน่งที่ว่าง จำนวน 7 คณะ รวม 12 คน และ 2.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ส่วนราชการเสนอเป็นอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใน อ.ก.ค.ศ.วิสามัญฯ แทนตำแหน่งที่ว่าง จำนวน 9 คณะ รวม 11 คน

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)